5066
รู้ได้ไง ? ว่าเราไม่ได้สปอยล์ลูก

รู้ได้ไง ? ว่าเราไม่ได้สปอยล์ลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : June 21, 2023

 

ไม่มีเด็กคนไหนน่ารักได้ตลอดเวลา มนุษย์ทุกคนย่อมมีวันที่ดีและวันที่ไม่ดีขึ้นกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อารมณ์ และสิ่งกระตุ้นจากภายนอกที่แตกต่างกันออกไปเข้ามากระทบจิตใจของลูกทำให้เกิด ‘อารมณ์’ ต่าง ๆ

 

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี โกรธ ไม่พอใจ เสียใจ และหงุดหงิด เป็นต้น เหล่านี้คือธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนพึงมี ซึ่งแต่ละคนนั้นเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ การแสดงออกได้แตกต่างกันขึ้นกับความสามารถของสมองส่วน ‘คิด’ ที่อยู่บริเวณสมองส่วนหน้าว่า "สามารถควบคุมสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณดิบ" ของมนุษย์ได้อย่างมีเหตุมีผลและมีประสิทธิภาพเพียงใด

 

..."ความสามารถเหล่านี้ถูกฝึกฝนได้ตั้งแต่เด็กเล็กและพัฒนาเต็มที่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น นี่คือหนึ่งในความสามารถของสมองที่เรียกว่า “Executive Function” หรือ EF นั่นเอง"...

 

 

Executive Function : EF

หากแรงกระตุ้นจากภายนอกทำให้เกิดการระเบิดของอารมณ์โดยไม่มีสมองส่วนหน้ามาเบรกสมองส่วนอารมณ์เลย ก็จะเกิด ‘ปัญหา’ ทางพฤติกรรมออกมาให้เราเห็นได้ตามวัยอย่าง “การร้องอาละวาด” หรือ Tempered Tantrums เป็นต้น แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า สมองของคนเราพัฒนาได้ผ่านประสบการณ์และการเลี้ยงดูที่ดีของครอบครัว พฤติกรรมปัญหาเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปในที่สุดในทุกวันที่ลูกเติบโต

 

แล้วหากพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูอย่างเหมาะสมให้ลูกฝึกรับมือกับสิ่งกระตุ้นภายนอกในทางลบที่เหมาะสมล่ะก็ ลูกของเราก็จะค่อย ๆ กลายเป็น เด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง เจ้าอารมณ์และพร้อมที่จะเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่เรามักเรียกด้วยคำทับศัพท์ว่า “เด็กสปอยล์” นั่นเอง แล้วลูกของเราเป็นเด็กสปอยล์หรือไม่ วันนี้ลองมาตรวจสอบกันดูครับ

 

 

สัญญาณที่ (อาจ) บ่งบอกว่าลูกถูกสปอยล์อยู่

สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดก็คือ 'การร้องอาละวาดหลังวัยเตาะแตะ' โดยเฉพาะเมื่อยังมีอาการร้องอาละวาดอยู่หลังอายุ 3-4 ปีในกรณีที่ไม่มีโรคทางกายร่วมด้วย มันจะต้องมีอะไรผิดปกติแล้วครับ เพราะหากเลี้ยงดูและสอนลูกได้เหมาะสม เด็กควรเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกด้านลบได้แล้ว โดยสถานการณ์ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวันที่อาจสงสัยว่าลูกอาจถูกสปอยล์นั่นก็คือ

 

  • ❐ 1. ลูกทนการปฏิเสธไม่ได้ เมื่อพูดคำว่า “ไม่” จะเกิดอาการไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนอาจร้องอาละวาดทันที

 

  • ❐ 2. ลูกอดทนรอคอยไม่ได้ ทุกอย่างที่อยากได้ต้องเดี๋ยวนี้ ตอนนี้ ต่อคิวไม่เป็น

 

  • ❐ 3. ลูกแพ้ไม่เป็น ไม่รู้แพ้รู้ชนะ ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่พอใจที่ตัวเองแพ้ โทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นเสมอเมื่อตนเองแพ้ และพยายามเอาตัวเองออกจากความเป็น ‘สาเหตุ’ ของการพ่ายแพ้ให้ได้

 

 

  • ❐ 4. ลูกไม่รู้จักพอ จะต้องมีการต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีขอบเขตของความพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีหรือได้รับ เช่น กำหนดให้เล่นเกมหรือดูหน้าจอได้ 30 นาที แต่พอถึงเวลาก็ต่อรองเพื่อให้ได้เล่นต่อมากขึ้นเรื่อย จาก 30 เป็น 45 เป็น 60 นาทีบางคนก็เกิน 1-2 ชั่วโมง เมื่อจะให้หยุดก็จะเกิดอาการไม่พอใจอย่างรุนแรงและพยายามต่อรองหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการให้ได้

 

  • ❐ 5. ลูกไม่เคยเชื่อฟัง ในที่นี้คือการปฏิบัติตามในเรื่องกิจวัตรพื้นฐานของตนเองอย่างการอาบน้ำ แปรงฟัน ทำการบ้าน หรืองานที่ได้รับมอบหลายพื้นฐานเช่น ล้างจาน กวาดบ้าน ในขอบเขตที่ควรรับผิดชอบได้ตามวัย โดยเด็กมักเลือกที่จะไม่ทำจนกว่าจะได้อามิตรสินจ้างหรือรางวัลมาเป็นสิ่งชักจูงให้ลูกทำ ทั้งที่งานเหล่านี้คือเรื่องพื้นฐานของตนเองที่ต้องดูแลและรับผิดชอบได้ด้วยตนเองแล้ว

 

  • ❐ 6. โลก (ต้อง) หมุนรอบตัวลูก เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เห็นอกเห็นใจคนอื่น สิ่งที่ตัวเองต้องการนำมาเป็นที่หนึ่งโดยไม่สนใจว่าคนรอบข้างนั้นจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

 

พฤติกรรมที่ชัดเจนมาก ๆ เมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ดั่งใจของเด็กที่ถูกสปอยล์ก็คือ ..."พวกเขาจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการอย่างไรก็ตาม"... ยกตัวอย่างเช่น การร้องอาละวาด ทำลายข้าวของ หูทวนลม ต่อรอง หรือแม้แต่เอาพฤติกรรมที่ไม่ดีมาเป็นตัวประกันอย่างการไม่ไปโรงเรียน การไม่ทำการบ้าน หรือยกเอาคำพูดที่ทำร้ายจิตใจพ่อแม่อย่าง “ไม่รักพ่อ/แม่แล้ว” หรือ “คำหยาบคาย” อะไรก็แล้วแต่เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

 

..."หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไว้นี้ สัญญาณอันตรายเริ่มดังแล้วครับ"...

 

พฤติกรรมทั้งหลายที่ลูกเรียนรู้ว่า “ทำได้” แล้วพ่อแม่ก็ยอมให้เขาทำได้เหล่านี้ เราก็สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าเขา “ทำไม่ได้” และพ่อแม่ก็ไม่ยอมให้เขาทำสิ่งเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะพฤติกรรมเป็นเรื่องของการเรียนรู้ และการเรียนรู้เปลี่ยนได้เสมอขึ้นอยู่กับว่าเราจะสอนให้เขารู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรอย่างเอาจริงเอาจังเมื่อไรเท่านั้นเอง

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง