ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
มีอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากที่พี่คูเปอร์มีน้องสาว เจ้าลูกชายของผมก็ชักจะมีอาการตื่นขึ้นมากลางดึก มาขอให้หม่าม้ากอดหน่อย หรือแม้กระทั่งละเมอพูดออกมาว่า “มาสนใจเป้อร์บ้าง” ทำเอาทั้งผมกับแม่แคทรู้สึกทั้งตกใจทั้งงง ถอยกลับมาตั้งหลักกันแทบจะไม่ทัน
พอมีจังหวะที่พ่อเบียร์กับแม่เคทได้นั่งคุยกัน ก็มีคำถามขึ้นมาว่า พฤติกรรมหรือการกระทำของเรานั้นมีอะไรที่ยังไม่ดีพอหรือเปล่า ลูกชายถึงยังมีความรู้สึกขาดอยู่ หรือถ้าสิ่งที่พ่อแม่ทุ่มเททำไปทั้งหมด ยังไม่สามารถทำให้ลูกรู้สึกได้รับความรักเพียงพอแล้ว เราควรทำอย่างไร ?
พอได้เปิดตำราค้นคว้า ก็พบกับคำตอบที่น่าสนใจครับว่า การที่ลูกรู้สึกอย่างไร ...“มันเป็นจริงตามนั้นครับ”... แหม่ ช่างเป็นคำตอบที่ตึ่งโป๊ะ ! ขัดใจวัยรุ่นพ่อรุ่นแม่เสียเหลือเกิน ทำเอาพ่อแม่อย่างเราอยากจะเถียงคอเป็นเอ็นขึ้นมาทันทีใช่ไหมครับ
ผมเลยลองคิดลองมองย้อนกลับไปในสมัยที่เรายังเป็นวัยรุ่น ยังตามจีบสาวจีบหนุ่มกันอยู่ มันไม่สำคัญเลยว่าเราจะทุ่มเทความรัก ซื้อของให้ ตามรับส่งเช้าเย็น หรือให้ใจอีกฝ่ายไปมากเท่าไหร่ ตราบใดที่อีกฝ่ายยังคิดกับเราแค่เพื่อน หรือไม่ได้รู้สึกถึงความรักที่เรามีให้ เรื่องมันก็จบแค่นั้นไปต่อไม่ได้ จริงไหมครับ
“มนุษย์ลูก” ก็เหมือนกัน ความรู้สึกของลูกเป็นสิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญอย่างมาก การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ในช่วง 3-4 ปีแรกนี้ หากในสายตาของลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีตัวตน และตัวเขาเองมีคนที่รัก เป็นที่ต้องการของพ่อแม่แล้ว ลูกจะสามารถมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ยังรู้สึกขาดความรัก หรือสายสัมพันธ์ยังไม่แข็งแรง การมีตัวตนของพ่อแม่นี้ นอกจากจะส่งผลที่ดีกับต่อลูกแล้ว ยังทำให้คุณพ่อคุณแม่เบาแรงขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องคอยพูด หรือคอยจับตาดูพฤติกรรมอะไรมากมาย ลูกจะมีความรู้สึกรักตัวเอง คิดว่าตัวเองมีค่า สมควรที่จะมีอนาคตที่ดี ได้อยู่ในสังคมที่ดี พูดโดยรวมคือ “ความใฝ่ดี” นั่นเองครับ
ดังนั้น หากยังได้ยินคำพูดตัดพ้อหรือน้อยใจแล้วล่ะก็ ไม่ต้องคิดเถียง สงสัยหรือหาข้อเท็จจริงใด ๆ ให้เสียเวลาครับ หันกลับมาดูพฤติกรรมตัวเราเอง จัดการลงมือปรับความสัมพันธ์ เพิ่มความอบอุ่นในใจลูกทันทีจะดีกว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหน ลองพิจารณาพฤติกรรมเหล่านี้ดูก็ได้นะครับ
✚ บอกรักลูกเพียงพอไหม ✚
ข้อนี้หมายถึงทั้งการพูกบอกรักและการแสดงออกทางภาษากาย เช่น การสัมผัส การกอด หรือการหอมแก้มด้วยนะครับ แต่ก็เข้าใจนะว่าวัฒนธรรมของประเทศเราไม่ค่อยนิยมการแสดงออกทางร่างกายสักเท่าไหร่ แต่หากการแสดงออกนี้ส่งผลดีต่อจิตใจลูกแล้ว ก็ทำเถอะครับ คิดดูว่าลูกจะยอมให้เรากอดไปจนถึงอายุเท่าไหร่ ยิ่งตอนเล็ก ๆ นี่ต้องฉวยโอกาสไว้เลยครับ
✚ ออกปากชมเชยลูกกันบ้างหรือเปล่า ✚
คำชมสำคัญกว่าที่คิดนะครับ ชมแบบไม่ต้องบ่อยมากก็ได้เพราะอาจจะดูพร่ำเพรื่อเกินไป แต่ก็ต้องบอกว่า ชมมากดีกว่าชมน้อยเกินไปนะ คำชมส่งผลต่อความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองโดยตรง ยิ่งกับเด็ก ๆ ด้วยแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่เอ่ยปากชมล่ะก็ รับรองว่าดีใจหน้าบานแน่นอน เพราะคำชมทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเขาสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจในตัวเขาด้วย
ครอบครัวผมจะใช้วิธีนอนคุยกันก่อนนอน โดยจะสรุปว่าวันนี้มีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ลูกทำให้พ่อแม่ชอบใจและมีอะไรบ้างที่เราอยากให้ลูกแก้ไข ทำทุกวันได้ก็ดี แต่สองสามวันทีก็ไม่เป็นไรครับ
✚ มีโมเมนท์แห่งความทรงจำร่วมกันบ้างหรือไม่ ✚
การไปเที่ยว ปิคนิค หรือแค่คุยสนุก ๆ เคล้าเสียงหัวเราะอยู่ที่บ้าน ก็ถือว่าใช่ได้แล้ว แต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเสียส่วนใหญ่ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ ของแบบนี้เน้นคุณภาพไม่ได้เน้นปริมาณครับ วันละสองสามชั่วโมงที่ได้ยิ้มได้หัวเราะได้กอดกัน วิ่งไล่จับ เดินจูงมือในสวนสาธารณะ หรือจะแค่สัปดาห์ละหนึ่งวันที่ได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน แต่ถ้ามีโมเมนท์ได้พูดคุย สบตา จับมือกันแทนการจับมือถือ ก็มีคุณภาพเพียงพอแล้วครับ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นครับว่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่คิดว่าทำทุกอย่างแล้ว (หรือทำแล้วจริงๆ ไม่ใช่แค่คิด) แต่หากลูกยังรู้สึกไม่เต็ม ก็แปลว่า “ความรู้สึกของลูกถูกเสมอ” ลองปรับตารางเวลาชีวิต หรือเสริมเพิ่มเติมในบางข้อดูก็ได้ครับ เพราะเรื่องของใจลูก รอไม่ได้ และไม่ควรรอครับ