660
ช้า ๆ ชัด ๆ กระบวนท่าฝึกหัดให้ 'ลูกพูดเก่ง'

ช้า ๆ ชัด ๆ กระบวนท่าฝึกหัดให้ 'ลูกพูดเก่ง'

โพสต์เมื่อวันที่ : October 13, 2023

 

พัฒนาการที่เด่นชัดของเด็กวัย 9 เดือนขึ้นไป คือ เริ่มชี้สิ่งของได้ (อาจใช้นิ้วชี้หรือยื่นไปทั้งมือ) พ่อแม่สามารถสอนลูกสื่อสาร ด้วยการตอบสนองเป็นคำศัพท์เมื่อลูกชี้

 

เช่น เมื่อลูกชี้หรือยื่นมือพร้อมเปล่งเสียง “อะ ๆ” ให้คุณแม่ตอบสนองลูก ด้วยการคาดเดาจากสถานการณ์ตรงหน้าว่าลูกกำลังพูดถึงอะไร และพูดคำศัพท์ที่มีความหมายแทนคำว่า “อะ ๆ” เช่น ลูกยื่นมือหรือชี้นิ้วไปที่ประตูและเปล่งเสียงอะ ๆ ให้คุณแม่พูดช้า ๆ ชัด ๆ ว่า “ประ-ตู” ด้วยน้ำเสียงสดใส และน่าสนใจนะคะ

 

ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ควรหมั่นชี้ชวนลูกดูสิ่งของรอบตัว โดยชี้นิ้วพร้อมพูดคำศัพท์นั้น ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่จะสอนคำว่า “นาฬิกา”ให้ลูก ก็ชี้นิ้วไปที่นาฬิกา (ชี้ใกล้ ๆ นะคะ ถ้าชี้ไกล ลูกอาจมองตามไม่เจอ) แล้วออกเสียงช้า ๆ ชัด ๆ ว่า “นา-ฬิ- กา” และให้ลูกตอบสนองกลับ

 

โดยเริ่มแรกให้ลูกรู้จักจังหวะของการสื่อสารสองทางก่อน คือ หลังจากเราชี้และพูดไปแล้ว ก็ถึงคราวลูกบ้าง เราจะจับมือลูก(หรือนิ้วชี้ลูก) ชี้ไปที่นาฬิกาอีกครั้ง พร้อมออกเสียงซ้ำว่า “นา-ฬิ- กา” ซึ่งหมายความว่า การพูดครั้งแรกของคุณแม่ คือ ชวนคุย ส่วนการพูดครั้งที่สองของคุณแม่ คือตอบกลับ(แต่แม่ช่วยพูดก่อน) โดยมีความเงียบคั่นกลางไม่กี่วินาที เราเรียกว่า “จังหวะของการสื่อสาร” (มีการโต้-ตอบ) ในอนาคตเราจะเว้นช่วงตอบกลับนานขึ้น และไม่พูดเพื่อให้ลูกออกเสียงแทนเรา

 

 

เทคนิคการจับมือลูกชี้ไปยังสิ่งของที่คุณแม่ต้องการสอน นอกจากลูกรู้จักการโต้ตอบแล้ว คุณแม่ยังแน่ใจได้ว่า ลูกรับรู้ในสิ่งที่เราพูด ซึ่งได้ประโยชน์มากกว่าพ่อแม่ชี้และพูดฝ่ายเดียว เพราะลูกอาจมองและฟัง หรือไม่มอง ไม่ฟังก็ได้

 

ส่วนของใช้หรือของเล่นที่เด็กจับทุก ๆ วัน เช่น ตุ๊กตา, ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง หรือขวดหัดดื่ม คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทคนิคนี้สอนลูกให้รู้จักคำศัพท์เหล่านี้ได้ด้วย ทำคล้าย ๆ กันค่ะ แต่ครั้งนี้เราสามารถหยิบขึ้นมาได้ ให้พ่อแม่หยิบของเล่นมาไว้ใกล้หน้า และพูดชื่อคำศัพท์นั้น

 

เช่น หยิบตุ๊กตามาไว้ใกล้ปากเรา และพูดว่า “ตุ๊ก-กะ-ตา” ช้า ๆ ชัด ๆ โดยใช้น้ำเสียงสดใส ต่อด้วยการส่งตุ๊กตาให้ลูกจับพร้อมพูดซ้ำอีกครั้ง “ตุ๊ก-กะ-ตา” โดยมีความเงียบคั่นการโต้-ตอบไม่กี่วินาที เมื่อพ่อแม่มีเสียงที่ร่าเริงพร้อมรอยยิ้ม ก็จะทำให้การเรียนรู้คำศัพท์เป็นเรื่องน่าสนใจ เด็กจะชื่นชอบและจดจำคำนั้น ๆ ได้ง่ายกว่าการบังคับให้พูดตาม

 

 

...“การนำสิ่งของมาไว้ใกล้ปาก ช่วยให้เด็กหันมามองหน้าในขณะที่คุณแม่พูด ทำให้เห็นการขยับของรูปปากในการเปล่งเสียง ช่วยให้ลูกพูดชัดได้”...

 

 

เมื่อลูกพบลักษณะการสื่อสารแบบนี้บ่อย ๆ ลูกจะจำจังหวะได้ว่ามีการโต้-ตอบ คือ แม่เริ่มพูดก่อน มีความเงียบครู่นึง และแม่พูดอีกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีนี้ไปสักพัก แล้วค่อย ๆ เปิดโอกาสให้ลูกตอบกลับแทน โดยลดการพูดครั้งที่สองลง ทิ้งเวลาเงียบที่คั่นกลางนั้นยาวออกไป เมื่อลูกรู้สึกว่าจังหวะนี้ต้องมีการตอบสนอง ลูกจะเปล่งเสียงตอบกลับเองโดยอัตโนมัติ เป็นอันสำเร็จ ! อย่าเพิ่งกังวลความชัดของภาษา เด็กหัดออกเสียงในช่วงแรก ๆ มักเปล่งเสียงไม่ชัด และมักเป็นคำท้ายของศัพท์นั้น เช่น “กา”

 

 

พ่อแม่หมั่นสื่อสารสองทางในลักษณะนี้กับเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ตอนเล่านิทาน ตอนเล่นของเล่นด้วยกัน ตอนชวนกันทำกิจวัตรประจำวันฯ ลูกจะเรียนรู้ภาษาพูดและการสื่อสารโต้-ตอบได้ดีเลย

 

หมอพบบ่อยเลยที่เด็กวัยขวบกว่า ๆ พูดภาษาอังกฤษได้เพราะจำมาจากการ์ตูน หรือร้องเพลง แต่กลับตอบคำถาม(ตามวัย)ที่ผู้ใหญ่ถามมาไม่ได้ เป็นเพราะไม่มีการสื่อสารสองทาง แบบนี้เรียกว่า “พูดได้แต่สื่อสารบกพร่อง” ซึ่งถือว่าไม่ปกติตามวัย จะต้องระวังโรคในกลุ่มออทิสติก อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่สงสัยควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยจะดีที่สุด

 

ดังนั้นเวลาที่อยู่กับลูก พ่อแม่ไม่ควรพูดน้อยเกินไป และไม่ควรพูดมาก ๆ เพียงอย่างเดียว เราต้องสื่อสารสองทาง เว้นจังหวะให้ลูกตอบสนองกลับด้วย ทำบ่อย ๆ ให้เป็นธรรมาติ หลังจากนั้นลูกจะตอบสนองกลับมาเป็นคำพูดเอง เมื่อไรก็เมื่อนั้น เมื่อเด็กทำได้ครั้งหนึ่งแล้ว เขาจะขยันพูดโต้-ตอบกับพ่อแม่บ่อยขึ้น ๆ และปริมาณคำศัพท์จะเพิ่มขึ้นมากมายในสมองด้วยค่ะ  

 

 

...“อยากให้ลูกพูดเก่ง พ่อแม่ต้องพูดกับลูกและให้ลูกตอบสนองกลับ”...

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง