233
การรับมือการต่อรองของลูก

การรับมือการต่อรองของลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : February 6, 2022

Q : ...“พ่อแม่จะรับมือกับการต่อรองของลูกอย่างไรดี ?”...

A : ...“เราสามารถรับมือกับการต่อรองของเด็ก ๆ ได้เป็นสองช่วง ได้แก่ ก่อนที่เด็ก ๆ จะทำการต่อรองกับหลังจากที่เด็ก ๆ ทำการต่อรอง”...

ช่วงแรก : “ก่อนที่เด็ก ๆ จะทำการต่อรอง” ให้เราใช้วิธี “ป้องกันก่อนเกิด”

 

❤︎ 1. เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังของสิ่งที่เด็กจำเป็นทำก่อนส่ิงที่เด็กอยากทำ โดยการจัดตางรางเวลาให้เหมาะสม ❤︎

 

ในกรณีนี้ เด็กควรจะทำการบ้าน-งานบ้านก่อนจะไปเล่น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ความสำคัญของสิ่งที่จำเป็นก่อนสิ่งที่ต้องการ ที่สำคัญเมื่อเด็กทำสิ่งที่จำเป็นเสร็จแล้ว เขาจะสามารถทำในสิ่งที่ต้องการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกขัดจากการต้องไปทำสิ่งใดต่อ ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ที่เขาไปหยุดเขาจากการทำสิ่งที่ชอบอยู่ ก็ไม่เกิดขึ้น

 

ถ้าหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คงคล้ายกับการที่ให้ลูกกินอาหารหลักก่อนของหวาน ถ้าเราเริ่มด้วยการให้เด็กกินของหวานก่อน เด็กอาจจะอิ่มเกินกว่าจะกินอาหารหลักได้ เช่นเดียวกัน

 

 

หากเด็ก ๆ ใช้เวลาไปกับการทำสิ่งที่ต้องการก่อนสิ่งที่จำเป็น เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาทำสิ่งที่จำเป็น เขาอาจจะหมดแรงและความสนใจไปเสียก่อน

❤︎ 2. กำหนดระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้ชัดเจน ❤︎

ก่อนที่เด็กจะไปเล่น เราควรกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่า เขาจะได้เล่นถึงเมื่อไหร่ ในเด็กที่โตพอจะรับรู้เรื่องเวลา ให้พูดคุยให้ชัดเจนว่า เขาต้องการเวลาจากเราเท่าไหร่ ถ้าหากเราไม่สามารถให้ตามที่เขาขอได้ ให้เจอกันตรงกลาง ที่สำคัญพ่อแม่จะเข้าไปเตือนเขาก่อนหมดเวลากี่นาที การกำหนดระยะเวลาจะช่วยให้เด็ก ๆ รับรู้ข้อตกลงในการเล่น และทำให้การต่อรองลดลง

 

 

เคล็ด(ไม่)ลับ กฎ 5 นาที

ให้การเตือนลูกก่อนหมดเวลา 5 นาที จะทำให้เด็ก ๆ มีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจก่อนยุติการเล่น ใช้นาฬิกาเป็นตัวช่วยเตือน แทนการพูด เช่น นาฬิกาทราย นาฬิการจับเวลา เป็นเครื่องช่วยเตือนเพราะ เด็ก ๆ บางคนอาจจะบอกว่า ...“แม่มั่วหรือเปล่า ยังไม่ทัน 10 นาทีเลย”... แต่ถ้ามีนาฬิกา พวกเขาจะมีแนวโน้มโต้แย้งน้อยลง

❤︎ 3. สร้างตารางเวลากิจวัตรประจำวัน และกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน ❤︎

ทำข้อตกลงกันให้ชัดเจนว่า ...“บ้านของเราจะกินข้าวเวลาไหน”... และ ...“สมาชิกแต่ละคนจะรับผิดชอบงานอะไรในบ้าน”...

 

ถ้าหากเป็นเด็กเล็ก เราอาจจะเริ่มต้นจากการมอบหมายหน้าที่ในการดูแลตัวเอง (Self-care) ได้แก่ อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว และเก็บของเล่น เมื่อเด็ก ๆ เริ่มดูแลตัวเองได้ดีแล้ว ค่อย ๆ มอบหมายหน้าที่ภายในบ้านให้เขาร่วมรับผิดชอบ เช่น ช่วยเก็บจานชามและเช็ดโต๊ะหลังกินข้าวเสร็จ ดูแลรดน้ำต้นไม้ ให้อาหารปลา เป็นต้น

 

ตารางเวลาและหน้าที่ที่ชัดเจน จะทำให้เด็ก ๆ รับรู้ถึงสิ่งที่เขาต้องดูแลและหน้าที่ที่ต้องทำก่อนไปทำสิ่งอื่นได้ง่ายขึ้น และการฝึกฝนตั้งแต่เล็ก ๆ จะทำให้เด็ก ๆ คุ้นเคยกับการรับผิดชอบต่อหน้าที่

 

❤︎ 4. ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนที่รักษาคำพูด “พูดคำไหนคำนั้น” ❤︎

เพราะถ้าหากเราผิดสัญญากับเด็กบ่อย ๆ เขาจะไม่เรียนรู้ว่า “คำพูดของเราเชื่อถือได้” และ “เรามักจะโอนอ่อนและยอมให้เขาเสมอในท้ายที่สุด” ดังนั้นถ้าเราอยากให้ลูกทำตามข้อตกลงที่ทำร่วมกัน และไม่ต่อรอง เราควรพูดคำไหนคำนั้น การกระทำของเราก็ต้องเป็นไปตามคำที่เราพูดด้วย เช่น ...“เราตกลงกันไว้ที่ 10 นาที ตอนนี้หมดเวลาแล้ว กลับบ้านกัน”... พูดจบก็ต้องพากลับบ้าน หรือ ...“ลูกขอแม่แค่ 100 บาท ขอราคาเกินงบที่เราตกลงกันไว้ ถ้าลูกอยากได้ เราไปเก็บเงินเพิ่ม แล้วค่อยมาซื้อด้วยกันใหม่นะ”... เป็นต้น

 

ถ้าหากผู้ใหญ่ไม่รักษาสัญญาหรือคำพูด เด็ก ๆ อาจจะกลัวว่า “ผู้ใหญ่อาจจะไม่ทำตามคำพูดในครั้งนี้เช่นกัน” เช่น ...“ครั้งหน้าค่อยมาเล่นด้วยกันใหม่”... เด็กอาจจะสงสัยในตัวผู้ใหญ่ว่า ...“ครั้งหน้าจะมีอยู่จริงหรือ ?”...

❤︎ 5. ยืดหยุ่น แต่ไม่หย่อนยาน ❤︎

  • ความยืดหยุ่น คือ การทำข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้น ไม่ใช่การต่อรองเมื่อหมดเวลา
  • ความยืดหยุ่น คือ การมีทางเลือกให้กับเด็ก ๆ ภายใต้กติกาที่ชัดเจน ไม่ใช่การทำตามใจ โดยไม่เคารพกติกา
  • ความยืดหยุ่น คือ การทำอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะปล่อยวาง

ช่วงหลัง : “หลังจากที่เด็ก ๆ ทำการต่อรอง” ให้เราใช้วิธี “ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน”

 

❤︎ 1. แสดงถึงความเข้าใจความรู้สึกของลูก แต่มั่นคงในกติกาหรือข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ❤︎

ในกรณีที่ลูกต่อรองขอเล่นต่อ ขออยู่ต่อ ขอทำบางสิ่งบางอย่างต่อ แม้จะหมดเวลาแล้ว ให้ผู้ใหญ่แสดงความเข้าใจ แต่มั่นคงไม่ใจอ่อน เช่น ...“แม่รู้ว่าลูกอยากเล่นต่อ แต่ตอนนี้หมดเวลาแล้วลูก พรุ่งนี้ค่อยมาเล่นใหม่”... หรือ ...“พ่อเข้าใจว่าลูกยังทำไม่เสร็จ แต่ตอนนี้เราต้องไปแล้ว เราเก็บไปทำต่อวันหลังนะลูก”... เป็นต้น

 

 

❤︎ 2. ถ้าหากเด็ก ๆ ไม่พอใจและเริ่มงอแง ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องโกรธเขาหรือพูดกับเขาด้วยอารมณ์ ❤︎

ให้เราใช้การกระทำที่ชัดเจนเพื่อบ่งบอกว่า “หมดเวลาแล้ว” หรือ “พอแล้ว” เช่น ...“เราไปกันเถอะ”... แล้วจูงมือเขาออกมา หรือ ...“มาช่วยกันเก็บของกัน”... แล้วพาเขาเก็บของ เป็นต้น

 

สุดท้ายหากเด็ก ๆ ร้องไห้โวยวาย (มักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก) ให้เราพาเขาออกมาจากตรงนั้น แล้วหามุมสงบนั่งลงกับเขา แล้วรอเขาพร้อมจะรับฟัง แล้วจึงย้ำเตือนกติกาหรือข้อตกลงที่เราทำร่วมกันก่อนมาเล่นหรือมาที่นี่ เช่น ...“วันนี้พ่อ/แม่ คุยกับลูกว่า เราจะมาเล่นกัน 1 ชั่วโมง ตอนนี้ครบเวลาแล้ว เราต้องกลับบ้านกัน ครั้งหน้าเราจะมาใหม่”... เป็นต้น

❤︎ 3. ในกรณีเด็กโต ถ้าหากเขายังไม่สามารถทำตามข้อตกลงได้ ❤︎

เราควรให้เขาได้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น เช่น เมื่อเด็กยังต่อรองเวลา และไม่ทำตามข้อตกลง ผลลัพธ์ที่เด็ก ๆ อาจจะต้องรับผิดชอบ คือ การถูกงดกิจกรรมที่เขาจะอยากทำ เพื่อมารับผิดชอบงานหรือหน้าที่ของเขาให้เสร็จก่อน

เป็นต้น

 

นอกจากนี้ การที่เด็กโตไม่สามารถรับผิดชอบงานหน้าที่หรือทำงานให้ทันเวลาได้ แปลว่า เขาอาจจะกำลังเผชิญปัญหาบางอย่างที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เช่น ปัญหาสมาธิที่ไม่สามารถจดจ่อได้ต่อเนื่อง (สมาธิสั้น) หรือ มีเรื่องบางอย่างกำลังมากวนใจเขา หรือปัญหาเรื่องทักษะ งานวิชานั้นยากเกินไป หรือ เขาไม่สามารถทำได้ตามวัยของเขา เป็นต้น

 

ณ จุดนี้ พ่อแม่และผู้ใหญ่ต้องลงมาช่วยเหลือ หรือพาเด็กไปพบผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาได้ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ

 

...“อย่ามองเห็นเพียงการต่อรองเวลา แต่ให้มองลึกไปว่า เพราะอะไรเด็ก ๆ จึงไม่สามารถทำงานได้ภายใต้เงื่อนไจปกตินี้"...

 

 

❤︎ 4. เมื่อเด็ก ๆ เรียนรู้ว่า “การต่อรองไม่ได้ผล” ❤︎

พวกเขาจะไม่พยายามต่อรองในครั้งต่อ ๆ ไป แต่เขาจะเรียนรู้ก็ต่อเมื่อ ผู้ใหญ่คนนั้นมั่นคง และทำเช่นนั้นสม่ำเสมอ หากมีผู้ใหญ่คนอื่นที่ยอมรับข้อต่อรองของเขา เด็กจะมีแนวโน้มใช้การต่อรองต่อไป ดังนั้นผู้ใหญ่ควรรับมือเด็ก ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน “ตกลงและตั้งกติกาให้ชัดเจน” “อะไรได้ อะไรไม่ได้”

การต่อรองอาจจะนำไปสู่…

 

❤︎ 1. การเลี่ยงงานหรือประวิงเวลา

เด็ก ๆ อาจจะใช้การต่อรอง เพื่อที่จะเลี่ยงงาน ประวิงเวลา หรือ ลดปริมาณงานลง ซึ่งอาจจะทำให้เด็กคนนั้นขาดโอกาสในการฝึกฝน และเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง

 

❤︎ 2. การไม่สามารถยับยั้งชั่งใจหรืออดทนรอคอยได้

เมื่อการต่อรองทำให้เด็ก ๆ ได้ในสิ่งที่เขาต้องการทันที พวกเขาอาจจะไม่ได้ฝึกฝนการรอคอย ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถการเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลังได้

 

❤︎ 3. การไม่เคารพกติกา

เมื่อการต่อรองได้ผล เด็ก ๆ อาจจะเรียนรู้ว่า “กติกาหย่อนยาน” “ผู้ใหญ่คนนี้ใจอ่อน" พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำตามกติกาหรือทำตามที่ผู้ใหญ่คนนี้บอกก็ได้ ถ้าพวกเขาไม่อยากทำ โดยใช้การต่อรอง

 

❤︎ 4. การไม่ตรงต่อเวลา

เมื่อเด็ก ๆ เคยชินกับการต่อรองเวลา และการชะลอเวลาไปเรื่อย ๆ พวกเขาอาจจะขาดโอกาสในการเรียนรู้ “การบริหารจัดการเวลาที่มีอยู่ให้เหมาะสม” ซึ่งนำไปสู่ “การไม่ตรงต่อเวลา” และ “การผลัดผ่อนเวลา” ไปเรื่อย ๆ

 

"การต่อรอง” ในวัยเด็ก อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่วินัยที่ก่อร่างสร้างขึ้น ก็เริ่มต้นจากรากฐานของเรื่องเล็ก ๆ เหล่านี้เช่นกัน

 

สุดท้าย "สายสัมพันธ์ที่ดี ความมั่นคงในคำพูดและการกระทำ" จะนำไปสู่ความเชื่อใจที่เด็ก ๆ จะมีให้กับคำพูดของเรา