ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ลูกชาย อายุ 3 ขวบค่ะ เวลาลูกทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วผู้ใหญ่พูดสอนเค้าหรือตักเตือนเค้า ลูกจะพูดสิ่งที่ยิ่งทำให้ตัวเองดูผิดดูแย่ลงค่ะ
ยกตัวอย่างสถานการณ์นะคะ ลูกเล่นอยู่กับน้อง(ลูกพี่ลูกน้อง) น้องอายุ1ขวบ ลูกพยายามจะอุ้มน้องที่นั่งอยู่ให้ยืนขึ้น แต่ลูกอุ้มผิดวิธี ลูกใช้สองมือจับที่คอน้องแล้วดึงน้องให้ยืนขึ้น
แม่ : “ลูกจับตรงคอน้องไม่ได้นะครับ เดี๋ยวน้องหายใจไม่ออก ลูกต้องจับตรงรักแร้น้องแบบนี้ครับ”
ลูกชาย : “ไม่ครับ หนูอยากให้น้องหายใจไม่ออก” ลูกรีบตอบปฏิเสธทันที
แม่ : “ทำไมล่ะครับ” (อยากฟังความคิดลูกต่อ)
ลูกยืนโยกตัวไปมา ทำท่าคิดแล้วพูดต่อว่า
ลูกชาย : “หนูอยากให้น้องเจ็บ อยากให้น้องตาย”
แม่คิดในใจและเริ่มรู้สึกว่า ลูกพูดไปเรื่อยแล้ว เพราะที่แม่เห็นตั้งแต่แรก เจตนาลูกเพียงแค่จะอุ้มน้องให้ยืนขึ้นเท่านั้น
แม่ : “ทำไมล่ะครับ ไม่สงสารน้องหรอ”
ลูกชาย : “ไม่สงสาร”
แม่ : “ไม่ได้นะครับ ต่อไปถ้าจะอุ้มน้อง ต้องอุ้มที่รักแร้นะครับ”
หลังจากนั้น ลูกก็วิ่งไปบอกทุกคน(คุณพ่อ คุณตา คุณยาย) ในบ้านว่า ...“คุณยายครับ หนูทำน้องหายใจไม่ออกครับ”... (อารมณ์เหมือนสารภาพผิด) และลูกมักจะเป็นแบบนี้บ่อยครั้ง เมื่อลูกทำความผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ทำของเล่นหล่น(ไม่ได้ตั้งใจ) แล้วแม่พูดว่า ...“เล่นระวังนะครับ เดี๋ยวของเล่นจะพัง ต้องเล่นแบบนี้นะลูก”... ลูกจะตอบทันทีว่า ...“ไม่ หนูอยากทำให้ของเล่นพัง”... ทั้งที่แม่เห็นเหตุการณ์ตลอดว่า ลูกไม่ได้ตั้งใจทำหล่น เพียงแต่มันหลุดมือเอง
แม่เลยอยากปรึกษาคุณหมอว่า...
❤︎ การที่ลูกทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ/โดยไม่รู้ แต่เมื่อผู้ใหญ่ตักเตือนหรือสอน ทำไมลูกถึงพยาบามพูดให้ตัวเองดูแย่ลง หรือพูดสิ่งที่ตรงกันข้าม
❤︎ ลูกคิดอะไร หรือ รู้สึกอะไรอยู่ ถึงแสดงออกแบบนั้น
❤︎ แม่จะมีวิธีการพูด/สอนลูกยังไงให้ลูกพูดในสิ่งที่ลูกคิด/รู้สึก ตามความจริงค่ะ
❤︎ แม่กังวลว่า เมื่อลูกไปโรงเรียน ไปอยู่ในสังคม แล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เช่น อาจจะเล่นกับเพื่อนแล้วเพื่อนหกล้ม โดยที่ลูกไม่ได้ตั้งใจ แล้วเมื่อคุณครูถาม แม่กลัวว่าลูกจะตอบคุณครูว่า “หนูอยากให้เพื่อนเจ็บ” แม่กังวลว่า คนที่ไม่เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเหมือนแม่ จะเข้าใจตามที่ลูกพูดแบบนั้นจริง ๆ
พบบ่อยเลยค่ะ ในเด็กช่วงวัยอนุบาล เชื่อว่ามีหลายคนฟังคำตอบอยู่
1. การที่ลูกทำผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ/โดยไม่รู้ แต่เมื่อผู้ใหญ่ตักเตือนหรือสอน ทำไมลูกถึงพยายามพูดให้ตัวเองดูแย่ลง หรือพูดสิ่งที่ตรงกันข้าม
ตอบ จริง ๆ แล้ว จะบอกว่าลูกพูดตรงข้ามก็ไม่ใช่ซะทีเดียว ขอเรียกว่า ลูกพูดในสิ่งที่เราไม่อยากได้ยินมากกว่า เช่น เราบอกว่า ...“เดี๋ยวน้องจะหายใจไม่ออก”... ลูกตอบว่า ...“จะให้น้องหายใจไม่ออก”... คำตอบนี้เกิดจากความรู้สึกไม่พอใจที่โดนตักเตือนค่ะ
แม่บอกว่า ...“ไม่สงสารน้องเหรอ”... ลูกบอก ...“ไม่สงสาร”... ลูกพูดเพื่อให้แม่รู้สึกแย่ อารมณ์ประมาณว่า หนูรู้สึกแย่ แม่ก็ต้องรู้สึกแย่ หรือเวลาเตือนลูกตอนเล่น ...“เล่นระวังนะครับ เดี๋ยวของเล่นจะพัง ต้องเล่นแบบนี้นะลูก”... แล้วลูกตอบว่า ...“ไม่ หนูอยากทำให้ของเล่นพัง”... ลูกพูดเพราะรู้สึกแย่เวลาแม่เตือน ก็เลยพูดเพื่อให้แม่รู้สึกแย่ด้วย
แต่จริง ๆ แล้ว ลูกไม่เคยทำตามที่พูดเลยใช่มั้ยคะ แปลว่า คำพูดนี้มีเป้าหมายที่แม่ ไม่ได้ต้องการจะทำน้องเจ็บ, ไม่ได้ต้องการจะทำของเล่นพัง
เข้าใจลูกแล้วนะคะ หมอขอแนะนำว่า...
☺︎ ลดคำเตือน
หมอคิดว่าคุณแม่คงเตือนมาก, เตือนหลายเรื่อง มันมากเกินไปแล้วค่ะ มากจนลูกฟังแล้วอยากให้แม่รู้สึกแย่บ้าง คุณแม่ต้องลองเงียบ ๆ ดู แล้วจะรู้ว่า ลูกเราระวังตัวดีอยู่แล้ว (ตามอายุเด็ก) เก็บคำเตือนเอาไว้ใช้ยามจำเป็น เช่น การอุ้มน้อง เราควรสอนค่ะ แต่เล่นของเล่น ไม่ต้องไปเตือนเลยนะคะ อย่าคาดหวังเด็กมากไปค่ะ
☺︎ หากพบลูกพูดแบบนี้ อย่าไปถามต่อ
เพราะเด็กต้องการตอบเพื่อให้แม่รู้สึกแย่ เขาไม่คิดจะค้นหาคำตอบจริง ๆ ในใจค่ะ เช่น...
แม่ : “เดี๋ยวน้องจะหายใจไม่ออก”
ลูกชาย : “จะให้น้องหายใจไม่ออก”
แม่ : “ไม่สงสารน้องเหรอ”
ลูกชาย : “ไม่สงสาร” ไม่มีทางที่ลูกจะค่อย ๆ คิดแล้วตอบว่า ‘สงสาร’ ในอารมณ์นี้แน่นอน
ดังนั้น เจอลูกพูดครั้งแรกแล้ว หยุดถามต่อเลยนะคะ ย้ำ ! หยุดถามต่อ เพราะนอกจากไม่ช่วยลูกแล้ว ยังทำให้เด็กสับสนตัวเองและอาจติดนิสัยพูดแบบนี้ไปอีกพักใหญ่เลย
2. ลูกคิดอะไร หรือ รู้สึกอะไรอยู่ ถึงแสดงออกแบบนั้น
ตอบไปแล้วนะคะ ลูกรู้สึกแย่ค่ะ เพราะคุณแม่เตือนหลายเรื่องใน 1 วัน แปลว่า คุณแม่ควรเตือนลูกเฉพาะจำเป็น เรื่องที่ลูกไม่ตั้งใจ หรืออุบัติเหตุ ไม่ต้องเตือนค่ะ ส่วนใหญ่เด็กจะคิดเองและเรียนรู้จากความผิดพลาดได้
3. แม่จะมีวิธีการพูด/สอนลูกยังไงให้ลูกพูดในสิ่งที่ลูกคิด/รู้สึก ตามความจริงค่ะ
ตอบ พอคุณแม่หยุดถามลูกต่อ ลูกก็จะไม่พูดต่อ และหากอยากให้ลูกพูดความรู้สึกจริง ๆ หมอแนะนำให้คุณแม่เป็นกระจกสะท้อนให้ลูกค่ะ โดยพูดว่า ...“ลูกรู้สึกแย่ที่แม่เตือนบ่อย ๆ, เตือนหลาย ๆเรื่องใช่มั้ยครับ”... ดังนั้น รูปแบบการสนทนาจะเป็นแบบนี้ จากเดิมแม่บอกว่า...
แม่ : “เดี๋ยวน้องจะหายใจไม่ออก”
ลูกชาย : “จะให้น้องหายใจไม่ออก”
แม่ : “ไม่สงสารน้องเหรอ”
ลูกชาย : “ไม่สงสาร”
เป็นแบบใหม่ แม่บอกว่า...
แม่ : “เดี๋ยวน้องจะหายใจไม่ออก”
ลูกชาย : “จะให้น้องหายใจไม่ออก”
แม่ : “ลูกรู้สึกแย่ที่แม่เตือนบ่อย ๆ, เตือนหลาย ๆ เรื่อง ก็เลยพูดแบบนี้ใช่มั้ยครับ”
เมื่อคุณแม่สะท้อนความรู้สึกลูก จะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเอง, ไม่สับสน และยังรู้สึกดีที่มีแม่ที่เข้าใจเขา
4. แม่กังวลว่า เมื่อลูกไปโรงเรียน ไปอยู่ในสังคม แล้วเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เช่น อาจจะเล่นกับเพื่อนแล้วเพื่อนหกล้ม โดยที่ลูกไม่ได้ตั้งใจ แล้วเมื่อคุณครูถาม แม่กลัวว่าลูกจะตอบคุณครูว่า “หนูอยากให้เพื่อนเจ็บ” แม่กังวลว่า คนที่ไม่เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่แรกเหมือนแม่ จะเข้าใจตามที่ลูกพูดแบบนั้นจริง ๆ
ตอบ ถ้าคุณแม่ทำแบบที่หมอบอกทุกข้อ ตั้งแต่ “ลดเตือน” “ให้ลูกเรียนรู้เอง” และ ”สะท้อนความรู้สึก” ลูกจะไม่พูดแบบนั้นอีกเลย
สำหรับคุณแม่ หมอขอให้เลี้ยงลูกสบาย ๆ อย่ากังวลเยอะ อย่า Perfect เกินไปด้วยนะคะ