651
"พ่อแม่ที่เพอร์เฟ็กต์" อาจทำร้ายลูกไม่รู้ตัว

"พ่อแม่ที่เพอร์เฟ็กต์" อาจทำร้ายลูกไม่รู้ตัว

โพสต์เมื่อวันที่ : July 18, 2023

 

เราทุกคนอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดภายใต้บริบทของบุคคล ครอบครัว และปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป โดยภายใต้บริบทของสังคมในปัจจุบันรวมถึงการมาถึงของสื่อสังคมออนไลน์ที่ทุกคนสามารถโพสต์สื่อสารถึงกันได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะ "การเลี้ยงลูก"

 

แน่นอนว่า...ในสื่อสังคมออนไลน์มักเต็มไปด้วยด้านที่ดีและเพอร์เฟคของการเลี้ยงลูกแสดงออกมาให้เห็นว่า ครอบครัวฉันดีเยี่ยม มีความสุข ลูกมีความสุข มีพัฒนาการที่ดี โรงเรียนที่ดี และอื่น ๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมายาแห่งมาตรฐานการเลี้ยงลูกที่ถูกตั้งไว้สูงมาก นั่นกลายเป็นแรงกดดันให้พ่อแม่หลายคนกลายเป็น “เพอร์เฟคชั่นนิสต์” หรือ “พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ” ไป และอาจส่งผลเสียต่อลูกโดยไม่รู้ตัว 

 

เมื่อคาดหวังไว้สูง เราจึงเลี้ยงลูกภายใต้ความกดดันว่า ลูกต้องสมบูรณ์แบบอย่างไม่รู้ตัว ในขณะเดียวกันก็ย้อนกลับมารู้สึกไม่ดีต่อตัวเองในฐานะพ่อแม่หากทำได้ไม่ถึงมาตรฐานสูงที่ตัวเองได้วางไว้

 

 

🎈 ทำไมการเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบจึงอาจส่งผลเสียต่อลูก ? 🎈

เพราะความสมบูรณ์แบบที่ลวงตาอาจทำให้พ่อแม่ทนไม่ได้เมื่อลูกทำในสิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่พ่อแม่ต้องการ เช่น กินไม่ได้เท่าที่คาดหวัง ขีดเขียนได้ไม่เท่าที่คาดหวัง ไม่เชื่อฟังคำของพ่อแม่ ทำคำแนนสอบไม่ได้เท่าที่คาดหวัง เล่นเปียโนไม่ได้ตามที่คาดหวัง เป็นต้น

 

สิ่งที่ตามมา คือการกดดันให้ลูกทำและเป็นไปตามที่พ่อแม่ต้องการ ตำหนิมากกว่าชื่นชม จับผิดมากกว่าจับถูก พูดกดดันมากกว่าพูดจากันดี ๆ จ้องจะเปรียบเทียบให้ดีเท่านั้นเท่านี้ เท่าลูกบ้านนั้นบ้านนี้มากกว่าจะชื่นชมและส่งเสริมลูกในแบบที่ตัวตนลูกเป็น และที่แย่ที่สุด คือกดดันให้ลูกทำตามความฝันความต้องการของพ่อแม่ ไม่เป็นตัวของตัวเอง และเริ่มตั้งมาตรฐานให้ลูกรู้สึกว่า ‘คุณค่าของตน’ ในสายตาของพ่อแม่ขึ้นอยู่กับ ‘ผลสำเร็จ’ เท่านั้น ความรักของพ่อแม่ที่ต้องแลกมาด้วยความสำเร็จ

 

บางครอบครัวก็เลือกที่จะทำแทนลูกไปหมดทุกอย่างเพื่อให้ได้ดั่งใจตัวของพ่อแม่เอง อันนี้อันตราย เพราะเด็กอาจจะหยุดลงมือทำ พ่อแม่ทำแทน แถมทำไปก็ไม่ได้ดั่งใจพ่อแม่ ทำไปก็ไม่ดีพอ ทำไปก็ถูกบ่นถูกดุก็ได้ 

 

 

ย้อนกลับมาที่ ”พ่อแม่ที่แสนธรรมดา” คนหนึ่งก็ย่อมต้องการให้ลูกได้ดี

เราต่างก็มีความคาดหวังกับลูกอยู่ในใจอยู่แล้ว โดยวิธีการที่ดีต่อเราและลูกก็คือ การตั้งความหวังให้เหมาะสมและกระตุ้นให้ลูกดีขึ้น เก่งขึ้นในแบบของตัวของเขาเอง และช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยการให้โอกาส การศึกษา ความรัก เงินทอง (โดยเฉพาะเงินที่ใช้ในการศึกษาและทุนทรัพย์ในการทำกิจการงานใด ๆ เบื้องต้นในอนาคตที่สมเหตุสมผลและให้ได้) นั่นคือเรื่องที่ดี

 

แต่พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบมักกำหนดมาตรฐานที่พ่อแม่ 'ยอมรับได้' เอาไว้ โดยหากลูกทำไม่ได้อย่างที่พ่อแม่คาดหวังไว้ นั่นแปลว่า "ล้มเหลว" ผ่านการเลี้ยงดูด้วยความกดดัน การกระตุ้นให้ลูกทำได้ และชื่นชมที่ผลลัพธ์ที่เน้นการเอาชนะ ได้ที่หนึ่ง สมบูรณ์แบบจนมากเกินไปจนเริ่มเกิดปัญหากับใจลูกอย่างที่ลูกเองก็อาจไม่รู้ตัว

 

ซึ่งในชีวิตจริงนั้น คนเราทุกคนย่อมทำผิดพลาดล้มเหลวด้วยกันทั้งนั้นโดยที่ไม่ควรรู้สึกผิดในความล้มเหลวนั้นเพราะนั่นคือ "การเรียนรู้" ที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น ทำได้และทำได้ดี มิใช่ผิดพลาดแล้วเท่ากับล้มเหลว ทำให้เด็กที่เติบโตมาภายใต้สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบมักมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางอารมณ์จิตใจสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับการกิน 

 

 

ยิ่งอยากให้เพอร์เฟค มักยิ่งล้มเหลว และไม่พัฒนาต่อ เพราะกลัวล้มเหลว กลัวทำได้ไม่ดีที่สุด เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบจึงยอมจำนนต่อการใช้ชีวิต การเรียน หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากกว่าเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่แสนปกติธรรมดาที่เข้าใจตัวตนของลูก และยอมให้ลูกได้มีโอกาสที่จะล้มเหลวบ้าง ผิดพลาดบ้างโดยมีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ อย่างเข้าใจและโอบอุ้มเขาให้ลุกขึ้นมาแล้วลงมือทำต่อไป 

 

หากจะบอกว่าแล้วเราจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ตกหลุมพรางของการเป็นพ่อแม่ที่้ต้องการความสมบูรณ์แบบ คำตอบก็คือ "การเลี้ยงลูกเชิงบวก" ที่เข้าใจตัวตนของลูก รสนิยม สิ่งที่ลูกชอบ-ไม่ชอบ ข้อดี และข้อที่ควรปรับปรุง เริ่มต้นจากลูกเป็นสำคัญแล้วพัฒนาเขาให้เติบโตโดยที่ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร หรือมีมาตรฐานสูงเหมือนสิ่งที่เราหวังไว้ และเชื่อพลังแห่งการเลี้ยงดี จนวันหนึ่งคุณพ่อคุณแม่จะเริ่มตระหนักได้ว่า ลูกเก่งขึ้น ๆ ดีขึ้น ๆ จนบางทีเกินมาตรฐานที่เราเคยวางไว้เสียด้วยซ้ำ โดยที่เราไม่ต้องทำร้ายจิตใจลูกขนาดนั้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง