686
เมื่อลูกกลัว..ทำไม่ได้ แล้วเลิกทำ!

เมื่อลูกกลัว..ทำไม่ได้ แล้วเลิกทำ!

โพสต์เมื่อวันที่ : June 17, 2020

Dr.Carol Dweck เล่าให้ฟังว่า เด็กมีมุมมองต่องานที่ยาก 2 รูปแบบ

❤︎ กลุ่มแรก เด็กแสดงปฏิกิริยาเชิงบวก, รู้สึกท้าทาย และอยากลงมือทำด้วยเหตุผลว่า งานยากทำให้ตนพัฒนา

❤︎ กลุ่มสอง จะเป็นลักษณะตรงข้าม เด็กมีความรู้สึกเชิงลบ กลัวทำไม่ได้และไม่อยากทำ อารมณ์เหมือนจะเกิดหายนะเลยก็ว่าได้

 

 

เธอกล่าวว่า ..."แม้เด็กจะมีความฉลาดมากแค่ไหนก็ตาม แต่ความฉลาดก็ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กสู้ ชุดความคิดของเด็กต่างหากที่ทำให้เด็กสองกลุ่มมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน เด็กที่กังวลกับผลลัพธ์ ไม่ได้สนใจกระบวนการตอนทำงาน จะมีความคิดหลกเลี่ยงมากกว่าสู้ เมื่อพบงานยาก ชุดความคิดที่ยึดติดแต่ผลลัพธ์ที่ดี ทำให้เด็กด่วน 'ตัดสินตนเองไปแล้วว่าทำไม่ได้' "...

 

เธออธิบายว่า..."เด็กกลุ่มแรก มีชุดความคิดที่เติบโตหรือเรียกว่า Growth mindset ซึ่งความคิดนี้จะสนใจกระบวนการทำงานของตนเอง มากกว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น... เด็กจึงอยากลองทำสิ่งที่ยาก อยากค้นหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ สนุกกับการได้คิดได้ทำ และไม่ได้รู้สึกแย่กับความผิดพลาด แต่มองว่าเป็นเส้นทางการเรียนรู้จะได้ค้นหาวิธีการอื่น ๆ ต่อไป"...

...เด็กที่มี Growth mindset จะตั้งเป้าหมายในการทำงานว่า “ทำเพื่อพัฒนาตนเอง” ไม่ใช่ “ทำเพื่อความสำเร็จ” มุมมองนี้ทำให้เด็กไม่กลัวทำผิดแต่อย่างใด...

 

..."ส่วนเด็กกลุ่มที่ 2 มีชุดความคิดที่ยึดติดหรือเรียกว่า Fixed mindset ซึ่งการลงมือทำอะไรสักอย่างจะมี 'ความสำเร็จ' เป็นตัวตั้ง โดยคาดหวังจะได้ผลลัพธ์ที่ดีให้เกิดความภูมิใจ ไม่ได้ตระหนักถึงความภาคภูมิใจในกระบวนการพัฒนาตนเอง หากงานใดยาก ประเมินแล้วว่ามีโอกาสสำเร็จน้อย ก็จะหลีกเลี่ยงในการทำ เพราะหากล้มเหลว จะรับตัวเองไม่ได้ และถ้าบังเอิญว่าเกิดขึ้น ผลงานไม่ดีคะแนนออกมาน้อย เด็กจะพยายามมองหาเพื่อนที่คะแนนต่ำกว่าเพื่อลดความรู้สึกแย่นั้น ไม่ได้สบายใจเพราะคิดว่าได้เรียนรู้จากความล้มเหลวนี้ เหมือนเด็กที่มี Growth mindset"...

 

อ่านมาถึงตรงนี้ พวกเราคงไม่สงสัยเลย หากมีข้อสรุปที่ว่า เด็กที่มี Growth mindset สามารถเดินทางเข้าสู่ถนนแห่งความสำเร็จมากกว่า เด็กที่มี Fixed mindset (อ้างอิงตามงานวิจัยของ Dr.Carol Dweck)

 

 

ดังนั้น หากลูกเห็นการบ้านยาก ๆ หรืองานยาก ๆ แล้วไม่อยากทำ หรือมีการแข่งขันของโรงเรียน แล้วไม่อยากลงแข่ง พ่อแม่ต้องหันกลับมามองวิธีเลี้ยงลูกของตนเองแล้วว่า เราได้หล่อหลอมให้ลูกมี Fixed mindset หรือเปล่า ? เวลาที่ลูกทำอะไร เรามุ่งแต่เป้าหมายที่ถูกต้อง, ทำให้ดีจนลืมให้ความสำคัญกับกระบวนการของลูกมั้ย ?... เราเคยสนใจวิธีคิดของลูก, ความตั้งใจมุ่งมั่น, ความอดทน, ความก้าวหน้าทีละนิด ๆ ของลูกมากแค่ไหน ตรงนี้แหละ คือ กระบวนการทำงานที่เราต้องให้น้ำหนักกับลูก..ถ้าไม่เคยสนใจเลย ต้องเปลี่ยนมาโฟกัสในสิ่งที่ลูกได้พัฒนาในระหว่างที่ทำงานแล้วค่ะ

 

นอกจากนี้ ช่วงที่ลูกทำผิดหรือทำไม่ได้ เราใจเย็นพอที่จะชวนลูกคิดให้ออก และให้กำลังใจลูก หรือหงุดหงิด ตำหนิและบ่นซ้ำจนลูกกลัวทำผิดไปเลยหรือเปล่า.. ถ้าเป็นแบบนี้ คงถึงเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว

Growth mindset

เป็นสิ่งที่พ่อแม่สร้างให้ลูก ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ดังนั้น พ่อแม่ต้องโฟกัสกระบวนการทำงานของลูกให้มากกว่าผลลัพธ์ และมองความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ ไม่หงุดหงิดใส่ลูกนะคะ