เด็กควรเริ่มเรียน "ภาษาที่สอง" เมื่อไร ?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือ Sweet spot ของการเรียนภาษาของเด็กคือช่วงไหนนะ
ยุคนี้สมัยนี้อะไร ๆ ก็จะต้องรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการทำงานหรือด้านขีวิตส่วนตัว เหมือนกับว่าทุกคนมี Code คำสั่งฝังอยู่ในหัวว่า ...“ใครเร็วกว่าคนนั้นชนะ”...
ในขณะเดียวกัน ศักยภาพในการพัฒนาของมนุษย์แต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน บางคนเร็วบางคนช้า หลายๆ คนเลยหันมาใช้วิธีเริ่มต้นให้เร็วขึ้น ฝึกให้มากขึ้นแทน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้ก่อนนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าโรงเรียน การกวดวิชา การสอบเทียบเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จบออกมาจะได้เริ่มทำงาน ตั้งตัวให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย
..."หากเปรียบเทียบเส้นทางของชีวิตคนเป็นเหมือนขั้นบันได ที่ทุกคนกำลังไต่ขึ้นไปให้ถึงชั้นที่สูงที่สุด โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นั้น บางคนซอยเท้าถี่ๆ เหยียบบันไดแต่ละขั้นยังไม่ค่อยจะเต็มเท้า บางคนกระโดดข้ามไปถึงสองสามขั้นในก้าวเดียว"...
'เร็ว' แต่อาจจะลืมมองไปว่า ได้ก้าวข้ามหรือพลาดที่จะได้ลิ้มรสชาติ หรือเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตตามช่วงวัยอะไรไปบ้าง ซึ่งช่วงเวลาที่น่าเสียดายเหล่านั้น ผ่านแล้วผ่านเลย แต่ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างคนให้เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์
แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ จากการที่ได้มีโอกาสเลี้ยงลูกเอง ยิ่งได้ศึกษาจากแหล่งความรู้หลาย ๆ แห่ง กลับทำให้ยิ่งเชื่อมั่นในวิถีทางการยึดลูกเป็นศูนย์กลาง “เริ่ม” เมื่อลูกมี “ความพร้อม” ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากประสบการณ์ของตัวเอง คือเรื่องการเลิกผ้าอ้อมของลูกชายคนโต ที่มาเลิกเอาตอน 4 ขวบ ซึ่งถือว่า “ช้า” ถ้าเทียบกับครอบครัวส่วนใหญ่ ก่อนหน้านี้ทั้งตัวผมเองกับแม่เคทให้ลูกเลิกผ้าอ้อมในช่วงกลางวันมาได้พักใหญ่แล้ว เหลือเพียงแค่ช่วงกลางคืน ซึ่งเมื่อลูก “พร้อม” ก็เป็นฝ่ายพูดขอเลิกผ้าอ้อมในตอนกลางคืนเอง และสามารถทำได้โดยที่ไม่มีการปัสสาวะรดที่นอนเลยแม้แต่ครั้งเดียว
หรือแม้แต่เรื่องการให้ลูกเข้าโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันลูกชายผมอายุได้ 4 ขวบกว่า ๆ แต่ก็ยังไม่เข้าโรงเรียนเป็นกิจลักษณะ จนมีผู้ใหญ่หลาย ๆ คนถามว่าทำไมยังไม่ให้เข้าโรงเรียนเสียที ลูกหลานคนอื่นอ่านออกเขียนได้กันหมดแล้ว...ซึ่งเรื่องนี้ นอกจากเป็นความเชื่อส่วนตัวที่ว่า สักวันลูกก็จะต้องอ่านออกเขียนได้อยู่แล้ว ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นของการเร่งเรียนเขียนอ่าน อัดความรู้ด้านวิชาการ ไปมากกว่าการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ของร่างกายที่ใช้วิธีเรียนรู้ผ่านการเล่น
บวกกับมีเหตุผลด้าน “ความพร้อม” ของครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือลูกสาวคนเล็กเพิ่งจะอายุ 8 เดือน การที่พี่ชายไปโรงเรียน นอกจากจะทำให้ตัวพี่ชายเองมีความเสี่ยงต่อการป่วยบ่อย ๆ แล้ว ยังอาจจะทำให้น้องที่ยังเล็กมากป่วยตามไปด้วย ซึ่งสำหรับเด็กเล็กแล้ว การป่วยไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างแน่นอน
แต่ก็ใช่ว่า ทุกเรื่องจะรอให้ลูกเป็นคนแสดงออกให้เห็นถึงความพร้อมเองจึงจะเริ่มลงมือปฏิบัตินะครับ พ่อแม่อย่างเราสามารถวางแผนและเตรียมการให้ลูกมีความพร้อมได้เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาอันสมควร อย่างตอนนี้ผมพาลูกชายไปเข้ากลุ่ม Play Group อยู่สัปดาห์ละ 2 วันเป็นอย่างน้อย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเข้าโรงเรียนตอนอายุ 5 ขวบ ซึ่งลูกชายก็แสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ แต่อย่างใด
ผมเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีจังหวะการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน บางคนเร็วกว่า บางคนช้ากว่า แต่หากยึดเอาตัวลูกเป็นศูนย์กลางแล้ว เราก็น่าที่จะดูตรง “ความพร้อม” ของลูกมากกว่า ที่สำคัญ หากมั่นใจที่จะเดินตามวิถีนี้ เราเองคงต้องหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับครอบครัวอื่น รวมถึงมีความแข็งแรงในการสวนกระแส ทั้งความคิดเห็นและความนิยมของคนส่วนใหญ่ในแบบที่ใคร ๆ เค้าก็ทำกันด้วย
..."เพราะผมเชื่อว่า 'ความเร็ว' หรือ 'ความช้า' ไม่สำคัญเท่ากับ 'ความพร้อม'"...