เด็กควรเริ่มเรียน "ภาษาที่สอง" เมื่อไร ?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดหรือ Sweet spot ของการเรียนภาษาของเด็กคือช่วงไหนนะ
ต้องยอมรับตามตรงครับว่า.."ผมก็เคยเครียด เคยกังวลเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของน้องคูเปอร์อยู่เหมือนกัน"... ก็แหม..สื่อโซเชียลเดี๋ยวนี้ ทำให้เราได้รู้ได้เห็นเรื่องของครอบครัวอื่น ๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน การเลี้ยงลูก พัฒนาการของลูก
รวมไปถึงการพาลูกไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ของครอบครัวอื่น ซึ่งส่วนมากเกือบร้อยทั้งร้อย ก็มักจะหรูหราหมาเห่า ดูดีกว่าครอบครัวของเราเองไปซะหมด อย่างที่ฝรั่งเค้าว่าล่ะครับว่า..."สนามหญ้าบ้านคนอื่น เขียวกว่าสนามหญ้าบ้านของเราเสมอ"...
ตามธรรมชาติของคนที่ยังไม่ได้ปรับโหมดความคิด จูนทัศนคติ ให้จิตใจพอจะมีมั่นคง พร้อมกับการได้รู้ได้เห็นชีวิตของคนอื่นนั้น มักจะตามมาด้วยความรู้สึกอิจฉาเล็ก ๆ (อาจจะไม่เล็ก) แล้วหันมามองครอบครัวของเรา ลูกของเรา พร้อมกับมีคำถามเกิดขึ้นในใจ สุดท้ายก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการ “เปรียบเทียบ” ในที่สุด
ต้องไม่ลืมด้วยว่าโดยทั่วไปแล้วคนเราก็อยากจะแสดงออกให้คนอื่นเห็นแต่ในแง่มุมที่ดี ยิ่งมีสื่อโซเชียลที่เกิดขึ้นมาตอบสนองความต้องการด้านนี้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องสื่อสารแต่ด้านที่สวยงาม อวดลูกอวดสามีกันไปเป็นเรื่องธรรมดา งานนี้หากเราไปเห็นบ่อย ๆ มาก ๆ เข้า ก็ง่ายต่อการลืมตัว คิดว่าชีวิตคนอื่นช่างสวยงามเลิศเลอเสียเหลือเกิน แต่ทำไมชีวิตเรา ลูกเรา ครอบครัวของเรามันช่างติดดินเสียนี่กระไร
ซึ่งพอใจเราเป็นทุกข์ เพราะเกิดอาการ “อยาก” หรือ “คาดหวัง” อยากให้ลูกของเราทำนั่นได้ทำนี่เป็นบ้าง จึงเกิดเป็นความกดดันที่ตัวผมเอง และถ่ายทอดไปถึงลูกอย่างเลี่ยงไม่ได้ เวลาที่อยู่ด้วยกัน แทนที่จะเล่นสนุก ยิ้มแย้ม หัวเราะได้ทั้งวัน กลับต้องมาบังคับให้ลองนั่นลองนี่ เค้นให้เรียนในสิ่งที่ตัวลูกไม่ได้สนใจ ยังทำได้ไม่ดี ด้วยเหตุผลทางด้านพัฒนาการของร่างกายที่ยังไม่พร้อม สุดท้ายกลายเป็นหน้าบึ้งอารมณ์เสีย เครียดใส่กันทั้งพ่อทั้งลูก ความสุขที่ควรจะมีในการใช้เวลาอยู่กับลูกในทุก ๆ วันนั้น หายไปอย่างน่าเสียดาย
ช่วงนั้นเจ้าลูกชายผมนอนละเมอเป็นว่าเล่น ตื่นขึ้นมาร้องไห้โวยวายกลางดึกอยู่บ่อย ๆ และที่สำคัญ สิ่งที่พูดออกมาว่า “ป่ะป๊านู่น ป่ะป๊านี่” “อย่าทำแบบนั้นแบบนี้” แบบชัดเจน มันทำให้ผมเจ็บจี๊ด ๆ ในใจ อย่างไม่ต้องหาข้ออ้างหรือแก้ตัวใด ๆ แบบนี้ ไม่คิด ก็ต้องคิดล่ะครับว่า ขืนปล่อยไว้ไม่ปรับปรุงตัวเอง จะต้องกระทบต่อความสัมพันธ์พ่อลูกอย่างแน่นอน!
ครั้นแล้วก็ได้เวลาพลิกตำราปรับความสัมพันธ์กันอย่างเร่งด่วนสิครับ รออะไร! สุดท้ายได้ข้อสรุปง่าย ๆ คือ “เลิกเปรียบเทียบ” ส่วนการ “ตั้งความหวัง” นั้นทำได้ครับ แต่อย่าเพิ่ง “คาดหวัง” ถึงเวลาเรียน ก็เรียนได้ครับ แต่เน้นให้ลูกสนุกเข้าว่า เรื่องที่ว่า จบชั่วโมงแล้วจะได้วิชาการอะไร ช่างมันไว้ก่อน เพราะเมื่อลูกรู้สึกสนุก จะมีความสนใจและเกิดเรียนรู้เองแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องไปบังคับให้เปลืองแรง เด็กวัยนี้ ยังมีเวลาให้เรียนรู้อีกเยอะกว่าจะโต อย่าลืมว่า การปลูกฝังความรู้สึกชอบในการเรียนรู้สำคัญกว่ามาก
เชื่อหรือไม่ว่า...ปัจจุบันเจ้าลูกชายไม่นอนละเมอโวยวายบ่นน้อยใจพ่อแล้ว แถมความสัมพันธ์ระหว่างผมกับลูกชายดีขึ้นมาก เห็นได้ชัดจากการเริ่มที่จะติดผมมากกว่าคุณแม่แล้ว เริ่มเห็นความไว้ใจมากขึ้น เวลาหกล้มเจ็บตัว จากทุกครั้งที่ต้องวิ่งไปอ้อนแม่ให้แม่โอ๋ เดี๋ยวนี้วิ่งมากอดพ่อแทนละ แหม่...อยากจะร้องเพลง คุ้มจริง ๆ ยิ่งกว่าคุ้ม คุ้มทุกสิ่ง คุ้มที่ปรับปรุงตัว จริง ๆ ครับ สุดท้ายมีข้อคิดจากคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ควรจะท่องให้ขึ้นใจไว้เลยครับว่า “สำหรับเด็กปฐมวัย ความสุข สำคัญกว่าความรู้” ครับ อย่าไปซีเรียส !