951
ได้ดีวันนี้เพราะไม้เรียว จริงหรือ ?!

ได้ดีวันนี้เพราะไม้เรียว จริงหรือ ?!

โพสต์เมื่อวันที่ : August 5, 2020

...“ได้ดีวันนี้ เพราะไม้เรียว”...“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”... หรืออีกหลาย ๆ คำพูดในแนวเดียวกัน ที่พิมพ์มาในคอมเมนท์ของบทความเรื่อง “ตีลูก” ได้ไหม ?

 

ในครั้งที่แล้ว เป็นที่น่าแปลกใจว่า หลาย ๆ คอมเมนท์อยากจะยกเครดิตความดีความชอบของการไม่แตกแถวหลงผิดในช่วงวัยเด็ก รวมถึงการที่สามารถเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ถึงทุกวันนี้ได้ให้กับ “ไม้เรียว” คำถามคือ แล้วไม่ลองคิดดูหรือว่า ถ้าผ่านการเลี้ยงดูมาในรูปแบบที่ไม่ได้มีไม้เรียวมาขู่ หรือไม่ได้ถูกสั่งสอนมาด้วยการตี คุณอาจจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ก็เป็นได้หรือเปล่า ?

 

 

เพราะหากมองการเติบโตอย่างสมบูรณ์เพียงทางร่างกาย ก็อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ผิดนัก แต่อย่าลืมว่า การใช้ความรุนแรงย่อมส่งผลต่อจิตใจภายในเสมอ ดังนั้นจะด่วนสรุปว่า “การตี” ยังเป็นวิธีการควบคุมให้เด็กเดินอยู่ในร่องในรอย หรือเป็นวิธีที่ดีในการแสดงความรักต่อลูกตามคำโบราณที่ได้กล่าวไว้ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก

 

แน่นอนครับว่าทุกคนไม่อยากเจ็บตัว และการที่เด็กหลาย ๆ คนไม่ออกนอกลู่นอกทางก็เพราะกลัวเจ็บ แต่ถ้าลองได้หันซ้ายหันขวา ดูครอบครัวอื่น ๆ รวมถึงสถานศึกษาหลาย ๆ แห่ง ก็จะเห็นในมุมที่กว้างขึ้นว่า ยังมีอีกหลายเคสที่ “ไม่นิยมการตี” และเด็กก็ยังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตที่ดีอยู่อีกมากมาย ตรงนี้ต่างหากหรือเปล่าที่น่าจะนำมาสู่บทสรุปว่า “การตี” ไม่ใช่วิธีที่จำเป็นและถูกต้องอีกต่อไป

แล้วทำไมยังมีคนที่อยากจะรักษาวิธีสั่งสอนแบบนี้ไว้อีกเล่า หรือวิธีเหล่านี้จะเป็นเพียง “ทางลัด” ที่ผู้ใหญ่นำมาใช้ เพื่อให้เด็กอยู่ในโอวาท เพียงเพราะเห็นว่า ง่ายกว่า ประหยัดเวลากว่าการใช้พลังสมองคิดหากุศโลบายมาชักจูงให้เด็กคิดได้เอง หรือเชื่อฟังได้เป็นไหน ๆ โดยมองข้ามผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดไปเสียอย่างนั้น

 

หากมองให้ลึกลงไปอีกขั้นการใช้ความรุนแรงคือการใช้ “ความกลัว” มาเป็นเครื่องมือในการควบคุม ซึ่งอาจส่งผลดีที่ฉาบฉวย สวยเพียงแค่เปลือกเพราะเห็นว่าเด็กมีระเบียบวินัย แต่ในทางตรงข้าม นอกจากเป็นการสร้างแผลผูกปมในใจเด็กแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังการแก้ปัญหาด้วยกำลังไปโดยปริยาย ที่สำคัญ “ความกลัว” คืออุปสรรคที่ขัดขวางพัฒนาการ การเรียนรู้ของเด็ก เพราะการตั้งคำถาม การคิดเขิงสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ รวมถึงพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ภายใต้ความรู้สึกไม่มั่นคงที่มีความกลัวอยู่ในจิตใจ

 

ดังที่ได้กล่าวในบทความที่แล้วว่า “การตี” เป็นเหมือนการก่อ “สงคราม” เล็ก ๆ ที่เด็กนั้นอยู่ในฝ่ายที่เสียเปรียบ โดยธรรมชาติตามสัญชาตญาณแล้ว สิ่งแรกที่สมองมองหาภายใต้ภาวะอันตราย คือทางเอาตัวรอด การจะคาดหวังหาผลงานเชิงสร้างสรรค์ หรือมองหาความงดงามท่ามกลางสงครามนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ

 

ผมจึงอยากจะฝากไว้ให้คุณพ่อคุณแม่รวมไปถึงบุคลากรที่มีหน้าที่ปั้นและสร้างอนาคตของชาติ สวมหัวใจที่มีความรัก เมตตา และหวังดีกับเด็กอย่างแท้จริง แน่นอนครับว่า งานและความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ย่อมเหนื่อยยากกว่างานทั่ว ๆ ไป จึงขออย่าเห็นแก่ความง่าย เลือกใช้วิธีลัดที่การศึกษาวิจัยก็บ่งชี้ออกมาแล้วว่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีกันเลย งานสร้างบ้านสร้างตึก ถ้าผิดแบบผิดแผน ยังทุบทิ้งสร้างใหม่ได้

 

..."แต่งานสร้างคน...พลาดแล้วคือพลาดเลย แถมยังอาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันไปอีกนานเลยนะครับ"...