713
พ่อแม่วัยทองสื่อสารเรื่อง “รัก”กับลูกวัยรุ่น

พ่อแม่วัยทองสื่อสารเรื่อง “รัก”กับลูกวัยรุ่น

โพสต์เมื่อวันที่ : August 14, 2020

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น แน่นอนว่าต้องเริ่มเข้าสู่วัยสนใจเพศตรงข้าม มีเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิต และคนเป็นพ่อแม่ก็มักจะใจตุ้ม ๆ ต้อม ๆ กังวลใจไปหมด

 

เพราะยังไม่อยากให้ลูกรีบมีแฟน แต่ลูกก็อยู่ในวัยรัก ฉะนั้นโอกาสจะเชื่อฟังพ่อแม่ว่ายังไม่ควรมีแฟนคงยาก และถ้าพ่อแม่ห้ามเรื่องมีแฟน ก็อาจกลายเป็นฉนวนในการทะเลาะเบาแว้งกันอีกต่างหาก แล้วจะทำอย่างไรดี ?

 

 

พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น อย่างไรเขาก็ต้องมีโลกส่วนตัว เขาอยากพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน อยากมีแฟน หรือมีสังคมของตัวเอง พ่อแม่ก็ต้องทำความเข้าใจ เพราะพ่อแม่ก็ล้วนเคยผ่านช่วงเวลาวัยรุ่นมาก่อนด้วย

 

ประเด็นสำคัญอย่ามองว่าเรื่อง “รัก ๆ” ของลูกเป็นเรื่องไร้สาระ หรือมองว่าลูกของเรายังอ่อนต่อโลก หรือ ฯลฯ อย่าห้ามปราม อย่าใช้ท่าทีสั่งสอนแบบคุณพ่อรู้ดี คุณแม่รู้ดี แต่ถือโอกาสให้ลูกของเราได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้เรื่องความรักในแบบของเขา ในแบบยุคสมัยของเขา โดยมีเราอยู่ร่วมสมัยกับเขาด้วย

การให้ลูกได้เรียนรู้ชีวิตด้วยตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ

อย่าพยายามส่งมอบประสบการณ์วัยรุ่นในแบบของเราให้กับลูก เพราะยุคสมัยแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน วิธีคิดของพ่อแม่ในวันนั้นย่อมไม่เหมือนกับลูกในวันนี้ แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก็คือ การทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่อง “รัก” อย่างมีคุณค่าและเหมาะสมกับวัย

 

❤︎ 1. รักตัวเองให้เป็น ❤︎

พ่อแม่ควรสื่อสารให้ลูกรู้จัก “รัก” ตัวเองให้เป็น คำว่า 'รักตัวเอง' ไม่ได้หมายความว่านึกถึงแต่เรื่องของตัวเองเท่านั้น แต่คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี รักดี ใฝ่ดี มีความตั้งใจในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่น และเมื่อเรารักตัวเองเป็น ก็จะทำให้เรารักผู้อื่นเป็น ทำให้มองเรื่องความรักในทางสร้างสรรค์

 

❤︎ 2. ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน ❤︎

ควรจะมีการกำหนดกฎกติกาภายในบ้านให้มีช่วงเวลาคุณภาพร่วมกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพที่ดี ทำให้ลูกรู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา หรือถ้าลูกต้องการปรึกษาหารือเรื่องอะไรก็ตาม แม้แต่เรื่องความรัก พ่อแม่พร้อมที่จะมีเวลาให้ลูกเสมอ และความแตกต่างระหว่างวัยก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เวลาคุณภาพร่วมกันได้

 

❤︎ 3. เข้าใจเรื่องรักของวัยรุ่น ❤︎

ความรักของหนุ่มสาวมีทั้งสมหวังและผิดหวัง ให้ทำความเข้าใจว่าเขาต้องเจอะเจอแน่ มันเป็นเรื่องธรรมดา และถ้าประสบแล้วก็ต้องหาทางรับมือกับทั้งความสมหวังและผิดหวังให้ได้ ถ้าผิดหวังก็อย่าเสียใจจนเกินเหตุ ซึ่งข้อนี้ถ้าผ่านด่านการรักตัวเองให้เป็น ก็จะสามารถรับมือได้ดี

 

❤︎ 4. รับฟังด้วยหัวใจ ❤︎

การเปิดใจรับฟังลูกในทุกเรื่องราวอย่างตั้งใจจะทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น และมันจะนำไปสู่ความเข้าใจในตัวลูก การสื่อสารไม่ใช่แค่การพูดให้ลูกฟัง แต่เป็นการ “ฟัง” ในสิ่งที่ลูกพูด ฟังที่ความรู้สึกนึกคิดจากสิ่งที่ลูกพูด ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้และเคารพการตัดสินใจของลูก 

 

❤︎ 5. ปล่อยให้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ❤︎

การให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นเรื่องจำเป็น แต่พ่อแม่ก็อาจจะเพิ่มเติมประสบการณ์ให้ลูกด้วยการเล่าเรื่องราวชีวิตรักของคุณในช่วงวัยรุ่นให้ลูกฟังก็ได้ หรือจากข่าวคราวในชีวิตประจำวันที่มีทั้งด้านลบและด้านดีให้ลูกได้สัมผัสทั้งสองด้าน โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้ประคอง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่มีคุณภาพ รวมถึงการพูดคุยให้ลูกได้เห็นว่าการกระทำของเราในวันนี้ส่งผลถึงอนาคตของเขาทั้งชีวิตได้เช่นกัน

❤︎ 6. ให้โอกาสรู้เท่าทันความรัก ❤︎

ความรักเป็นสิ่งสวยงาม ทุกคนล้วนแล้วอยากมีความรักที่สมหวัง อยากมีคนที่เรารักและรักเรา แต่ก็ควรให้ลูกได้เห็นด้านลบของความรักด้วยว่าถ้ารักไม่เป็น มันจะทำร้ายทำลายล้างคนเราได้ขนาดไหน ยกตัวอย่าง รักที่ต้องการครอบครอง และเมื่อมีเหตุที่ต้องแยกจากกันก็ถึงขั้นทำร้ายคนที่เรารัก หรือทำร้ายตัวเอง

 

ที่สำคัญ เวลาพ่อแม่พูดถึงเรื่องความรักกับลูกอย่ามองว่าเป็น 'เรื่องไร้สาระ'1 หรืออย่าเอาแต่ห้ามปรามดุด่า แต่ควรจะถือโอกาสในการพูดคุยทัศนคติเรื่องความรักไปเลย และอย่าพูดถึงความรักในมิติเดียวหรือเฉพาะเรื่องหนุ่มสาวเท่านั้น แต่ควรให้ลูกได้เรียนรู้และคำนึงถึงความรักในมิติอื่น ๆ ด้วย

 

เช่น รักครอบครัว รักญาติพี่น้อง รักผู้อื่น ฯลฯ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และอย่าทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของพ่อแม่และลูกเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร แต่ควรแปรเปลี่ยนให้ลูกรับรู้และเข้าใจว่าช่องว่างระหว่างวัยไม่เป็นอุปสรรคของความรักความเข้าใจที่พ่อแม่มีต่อลูก เช่นนี้แล้ว ก็จะเป็นการแปร “รัก” ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ให้ลูกก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

 

 



คอลัมน์ Teen Around the Mom