464
ตอนที่ 1 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

ตอนที่ 1 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

โพสต์เมื่อวันที่ : August 16, 2020

สัมพันธภาพที่แน่นเหนียวเริ่มต้นมาตั้งแต่ลูกแบเบาะ พ่อแม่โอบกอดและถนุถนอมลูกอย่างใส่ใจ ลูกรู้สึกเป็นที่รัก แต่เมื่อลูกเติบโตขึ้น พ่อแม่ต้องมีระยะห่าง เพื่อให้ลูกพัฒนาเป็นตัวของตัวเอง

 

ดังนั้น สัมพันธภาพที่ดีและแน่นเหนียวจะออกมาในรูปแบบของการสื่อสาร การใช้เวลาร่วมกัน การชื่นชม การแสดงความรัก ความเข้าใจ และให้กำลังใจ

 

 

ส่วนการกอดและบอกรักก็ยังมีคุณค่าอยู่ เพียงแต่ไม่พอเมื่อลูกเป็นวัยรุ่น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อใดที่สั่งสอนลูก ต้องไม่ใช้อารมณ์เด็ดขาด พ่อแม่ต้องไม่ตำหนิไปที่ตัวตนของลูก ไม่ด่าลูกให้รู้สึกเจ็บปวด เพราะลูกจะสูญเสียความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองและโกรธเกลียดพ่อแม่ได้ สัมพันธภาพที่อุตส่าห์ดีมาตลอดวัยเด็กก็จะเสียหายลง

 

บ่อยครั้งที่หมอพบว่าผู้ปกครองสอนลูกให้เป็นเด็กเชื่อฟังได้ต่อหน้า แต่ลับหลังลูกแอบทำ กว่าพ่อแม่จะรู้เรื่องก็แก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจความสัมพันธ์ระหว่างกัน การสั่งสอนจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ สอนไปด่าไป ตีไป เพราะหวังเพียงให้ลูกได้ดี อันที่จริงแล้ว พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องแลกเลย เราสามารถสั่งสอนให้ลูกเป็นคนดี และไม่เสียสัมพันธภาพระหว่างกันด้วย ขอเพียงให้ฝึกทักษะการสื่อสาร

 

หากเราสื่อสารกับลูกเป็น รู้จักฟัง รู้จักตั้งคำถาม รู้จักชม ลูกจะรับฟังคำสั่งสอน รู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ ที่สำคัญสัมพันธภาพระหว่างกันก็จะดี พ่อแม่ไม่ต้องห่วงว่าต่อหน้าและลับหลังลูกจะมีนิสัยแตกต่างกัน และความสัมพันธ์ที่ดีตรงนี้ จะทำให้ลูกคิดถึงคำสอนของพ่อแม่ ไม่ถูกชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ก็ตาม

 

ทักษะการสื่อสาร

❤︎ 1. ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนมีสติ คิดให้รอบคอบก่อนพูด ❤︎

เพราะลูกต้องการทั้งคำสั่งสอนและตัวอย่างของคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ หากพ่อแม่สั่งสอนลูกอย่างมีเหตุผล ลูกก็จะเปิดใจรับฟัง พ่อแม่ควรระลึกไว้ว่า ภาษากายนั้นสำคัญมากกว่าภาษาพูด ถ้าพ่อแม่ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ภาษากายจะแสดงออกมาให้ลูกเห็น ลูกอาจต่อต้านไม่รับฟังคำสั่งสอน แม้ว่าคำสอนนั้นจะดีเลิศแค่ไหนก็ตาม

 

ดังนั้นคำสั่งสอนที่ดีมีเหตุผลควรมาพร้อมอารมณ์ที่สงบนิ่งของพ่อแม่ และเมื่อพ่อแม่ควบคุมตนเองได้ดี ลูกก็จะรู้ว่า คำพูดเหล่านั้นผ่านการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนมาแล้ว ยิ่งพ่อแม่พูดคุยกับลูก ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจที่มีต่อพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สายสัมพันธ์ที่มีต่อกันนั้นแน่นเหนียวมากขึ้นไปอีก

 

...“คำสั่งสอนที่มาพร้อมสติ ทำให้ลูกเคารพในตัวพ่อแม่”...

 

 

อ่านต่อตอนที่ 2 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ (ทักษะการสื่อสาร)