สะท้อนความรู้สึกลูก ต้องมีชื่อ “ความรู้สึก”
เมื่อเด็ก ๆ แสดงความรู้สึก พ่อแม่ควรฝึกพูดสะท้อนความรู้สึกลูก
เด็กน้อยคนหนึ่งเวลาเธอวาดรูปเธอมักถามใคร ๆ ว่า ...“ภาพของหนูสวยไหม ?”... วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เธอหันกลับมาถามครูของเธอ
เด็กน้อย : "วันนี้หนูระบายต้นไม้เป็นสีสายรุ้งเลย ดูสิคะ"
คุณครู : "หนูใช้สีหลายสีเลย"
เด็กน้อย : "หนูทำสวยไหมคะ ?"
คุณครู : "หนูคิดว่า ภาพของหนูสวยไหม ?
เด็กน้อย : "หนูไม่แน่ใจ"
คุณครู : "ถ้าอย่างนั้น หนูตั้งใจทำสุดความสามารถยังคะ ?"
เด็กน้อย : "หนูตั้งใจทำมาก ๆ เลย"
คุณครู : "สำหรับครูไม่ว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง ถ้าหนูตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ก็เพียงพอแล้ว"
เด็กน้อย : "แล้วครูว่าภาพหนูสวยไหม หนูตั้งใจแล้ว" (ยังไม่ลดละความพยายาม)
คุณครู : “สำหรับครู ครูชอบที่หนูใช้สีหลาย ๆ สี ลงไปในต้นไม้ต้นเดียว หนูลงสีได้ละเอียดมาก ๆ เลย" (ครูชมอย่างเป็นรูปธรรม เด็กสามารถนำไปพัฒนาต่อได้)
เด็กน้อย : “หนูว่า หนูก็ชอบตรงสีที่หนูระบายเหมือนกันค่ะ"
เมื่อเด็กน้อยเจอคุณแม่ คุณแม่ก็ชมภาพของเธอว่า ..."ภาพสวยจัง"... เธอรีบพูดเลยว่า ..."แม่คะ ภาพหนูสวย เพราะหนูตั้งใจค่ะ”... แม้ว่าเด็กหญิงคนนี้ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับความตั้งใจและความพยายามมากว่าผลลัพธ์ที่ได้มา แต่อย่างน้อยวันนี้เธอได้เรียนรู้ว่า ทุกความพยายามและความตั้งใจนั้นมีคุณค่าเสมอ
เด็กจะมีความพยายามในการพัฒนาตนเองผ่านการทำงานอย่างตั้งใจต่อไป เพราะแค่เพียงเขาตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ แม้ผลจะออกมาไม่ได้ดังหวัง ไม่สวยงามอย่างใคร เขาก็ยังภูมิใจในความตั้งใจของตนที่มีให้กับผลงาน
ในทางกลับกันเด็กที่ได้รับคำชื่นชมเมื่อผลลัพธ์ออกมาดี เช่น ภาพสวยงาม คะแนนสูง เกรดดี ได้เหรียญทอง ฯลฯ ถ้าวันหนึ่งเขาไม่สามารถทำผลลัพธ์ออกมาได้ดี เขาอาจจะผิดหวังอย่างหนัก และอาจจะไม่อยากทำสิ่งนั้นอีกเพราะเขารู้สึกว่า แม้เขาทำมันอย่างตั้งใจแล้วแต่ผลลัพธ์ดันออกมาไม่ได้ดังที่หวังหรือสำเร็จเหมือนที่ผ่านมา
การที่เด็กให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าสิ่งอื่นใด เขาจะมองว่า 'ถ้าผลลัพธ์ไม่ดี ทุกอย่างก็ไม่มีความหมาย' และความตั้งใจหรือการเรียนรู้ระหว่างทางก่อนที่ได้เป็นผลลัพธ์นั้นก็ไม่มีคุณค่าอันใด ที่ร้ายไปกว่านั้น บางคนพัฒนาไปสู่ 'ทำอย่างไรก็ได้ ขอแค่ผลลัพธ์ออกมาดี' แม้ว่าระหว่างทางเขาจะต้องทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็ตาม หรือที่ร้ายแรงที่สุด เด็กบางคนอาจจะยอมแพ้ไม่ทำสิ่งนั้นอีกเลยก็เป็นได้
..."ดังนั้นเราควรหันมาชื่นชมเด็ก ๆ ที่ความพยายาม แม้ในวันใดที่ผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวัง เขาจะตระหนักได้ถึงคุณค่าจากระหว่างทางที่เขาได้เพียรพยายามและเรียนรู้ไปกับมัน"...
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าลูกวาดภาพได้สวย (หรือไม่สวยในความคิดของเรา) ลองชมเขาว่า ...“ลูกตั้งใจวาดได้ดีมากเลย แม่ชอบที่ลูกวาด (ตรงไหนของภาพ ของสังเกตและชมเป็นรูปธรรม)”... ♥︎
หรือถ้าลูกสอบได้ที่ 1 (หรือได้ที่โหล่ แต่เขาได้ตั้งใจสุดความสามารถของเขาแล้ว) ลองชมเขาว่า ...“ลูกพยายามได้ดีมากเลย ขอบคุณที่พยายามตั้งใจเรียน และอ่านหนังสือมาตลอดนะ”... เช่นเดียวกับการชมในสถานการณ์อื่น ๆ พ่อแม่ และผู้ใหญ่ควรชื่นชมเด็กที่ความพยายามและความตั้งใจของเขามากกว่าการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์
แม้ว่าลูกจะทำไม่สำเร็จ เมื่อเขาพยายามสุดความสามารถแล้ว เราก็ยังชื่นชมเขาได้ เพราะเราให้ความสำคัญกับความพยายามมากว่าผลลัพธ์ โดยเราอาจจะชมเขาว่า “ลูกพยายามดีแล้ว ครั้งนี้เราอาจจะยังไม่พร้อม เรามาดูกันว่าเราพลาดอะไร อะไรทำไม่ได้เรามาช่วยกันฝึก แล้วคราวหน้าเราลองพยายามด้วยกันใหม่นะ” ลูกจะให้ความสำคัญกับกระบวนการและความตั้งใจของเขามากกว่าผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้มา