1370
เพราะเด็กเกิดมาแตกต่างกัน ตอนที่ 1 พัฒนาการตามวัย

เพราะเด็กเกิดมาแตกต่างกัน ตอนที่ 1 พัฒนาการตามวัย

โพสต์เมื่อวันที่ : August 31, 2020

 

'ความแตกต่าง' เรื่องที่ธรรมชาติได้จัดสรรไว้เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพที่สมดุล

 

สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเติบโตและอยู่ร่วมกันได้ภายใต้สิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับมนุษย์ ทุกคนเกิดมาพร้อมลักษณะจำเพาะของแต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งกายภาพและชีวิภาพ รวมถึงลักษณะนิสัย อารมณ์ด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องมีเข้าใจถึง ‘ความแตกต่าง’ และ ‘ลักษณะเฉพาะตัว’ ของลูก เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับลูกตามวัยของเขานั่นเอง

 

 

  • เด็กบางคนเกิดมาเป็นเด็กร้องไห้ง่าย หงุดหงิดง่าย นอนยาก กินยาก
  • เด็กบางคนก็ช่างง่ายแสนง่าย กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา ร้องไห้แต่พองาม บางคนช่างพูด ช่างเจรจา เริ่มอ้อแอ้เร็ว พูดคำแรกเร็ว
  • เด็กบางคนปากหนักหน่อย ชอบมอง ชอบสังเกตมากกว่าการเอ่ยปากพูด บางคนคลานเร็ว เกาะยืนเร็ว วิ่งเร็ว ไม่อยู่สุข
  • เด็กบางคนดูเรียบร้อย คลานสั้น ๆ เกาะยืนแป๊บเดียวก็นั่ง ชอบนั่งเล่นหรือดูนิทานนิ่ง ๆ มากกว่าการเคลื่อนไหว
  • แม้กระทั่งฝาแฝด หรือพี่น้องที่มีคุณพ่อคุณแม่เดียวกันยังมีความแตกต่างกันเลยครับ นับประสาอะไรกับลูกบ้านเรากับบ้านคนอื่น

 

 

..."ความแตกต่างเหล่านี้ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลได้เช่นกัน"...

 

 

ทำไมลูกคนอื่นเริ่มเดินได้แล้ว ลูกเรายังไม่เกาะยืนเลย ทำไมลูกคนอื่นพูดเป็นประโยคสั้น ๆ แล้ว ลูกเรายังพูดได้แค่คำโดด ๆ เอง และอีกหลายหลายคำถามที่เกิดจากความกังวลใจว่าลูกจะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าคนอื่น วันนี้เรามาองทำความเข้าใจกับพัฒนาการเด็กกันครับ

 

 

พัฒนาการตามวัยของเด็ก 4 ด้าน

 

▶︎ 1. กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor)

เด็กแรกเกิดยังขยับไม่ได้มาก คออ่อน จนกระทั่งต่อมา คอเริ่มแข็งขึ้น กล้ามเนื้อหลังเริ่มแข็งแรงขึ้น ตอนอายุ 4-5 เดือน เด็กจะเริ่มพลิกคว่ำ เริ่มใช้มือดันชันอกชันตัว เริ่มคืบ จากคืบเป็นคลาน เริ่มนั่งได้มั่นคงตอนอายุสัก 7-8 เดือน จากนั่งจากคลานเป็นเกาะยืน ตั้งไข่ ก้าวเดิน และจากนั้นก็วิ่ง เริ่มปีน เริ่มขึ้น-ลงบันไดได้ เริ่มปั่นจักรยานเป็น ฯลฯ

 

 

▶︎ 2. กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor)

เด็กแรกเกิดยังมีรีเฟล็กซ์ในการกำมือ (Grasping Reflex) เป็นเรื่องปกติ ต่อมาเริ่มใช้ตามองเห็นร่วมกับกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น เด็กจะเริ่มเอื้อมคว้าตอนอายุ 2-3 เดือน ช่วงแรกใช้สองมือพร้อมกันช่วงหลังเริ่มใช้มือข้างเดียวในการเอื้อมคว้า การคว้าจะเริ่มแม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเอาของเข้าปากตอนอายุ 4-6 เดือน

 

จากนั้นวิธีการหยิบจับจะเริ่มใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้หยิบ (Pinching) มากขึ้นแทนการกำทั้งฝ่ามือ (Palmar Grasp) เริ่มเปลี่ยนมือถือสิ่งของได้ เริ่มขว้างของ เริ่มต่อบล็อกไม้ได้ เริ่มหยิบดินสอขีดเขียนเส้นยุ่ง ๆ ได้ และต่อจากนี้การควบคุมนิ้มมือของลูกก็จะเริ่มเก่งขึ้นแม่นยำขึ้นนั่นเอง

 

 

▶︎ 3. ภาษา (Language)

เป็นพัฒนาการที่ไปควบคู่กับพัฒนาการด้านจิตสังคมผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เด็กแรกเกิดส่งเสียงร้องไห้เป็นหลักเมื่อเขารู้สึกหิว-อิ่ม-ง่วง-อึ-ฉี่หรือไม่สบายตัว โดยเขาจะตอบสนอกับเสียงรอบข้างโดยเฉพาะเสียงของแม่ เริ่มจ้อง-สนใจเมื่อแม่พูดและเล่นกับเขา จากนั้นเด็กจะเริ่มส่งเสียงอืออาในคอ เริ่มร้องไห้ได้หลายโทนเสียง ส่งเสียง “คู” “อา” หรือเริ่มกรี๊ดกร๊าด เริ่มหัวเราะเสียงเล็กเสียงน้อย เริ่มเล่นน้ำลาย เป่า ทำปากเป็นรูปร่างต่าง ๆ เริ่มส่งเสียงไปเรื่อยเพื่อทดสอบเสียงที่เขาสามารถทำได้

 

จากนั้นเมื่อเขาได้ยินและเห็นคนพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ เริ่มเข้าใจภาษาว่า “คำนี้” แม่ต้องการให้ทำอะไร “ธุจ้า” “บ๊ายบาย” จากนั้นเด็กจะเริ่มพูดเสียงที่สื่อความหมายให้พ่อแม่เข้าใจได้ (Relevant Jargons) เด็กจะเริ่มเลียนเสียง โดยเฉพาะเลียนเสียงท้ายประโยค เริ่มพูดตาม และคำแรกจะเริ่มมาในช่วงอายุประมาณ 12 เดือน จากนั้นก็เริ่มพูดไม่หยุดแล้วล่ะครับ

 

 

▶︎ 4. จิตสังคม (Psycho-Social)

เด็กแรกเกิดจะเริ่มสบตาได้สั้น ๆ เริ่มเรียนรู้กลิ่น-เสียง-ไออุ่น และเต้านมของแม่ เรียนรู้แม่ เรียนรู้ว่า “แม่มีอยู่จริง” ผ่านผู้เลี้ยงหลักที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเขา จากนั้นความสัมพันธ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็กจะเริ่มดำเนินต่อ

 

เด็กเริ่มเรียนรู้และเลียนแบบสีหน้า เรียนรู้อารมณ์ เริ่มเล่นกับพ่อแม่ เริ่มสร้างความผูกพัน จำหน้าพ่อแม่และคนในครอบครัวได้ เริ่มกลัวคนแปลกหน้า (Stranger Anxiety) ตอนอายุราว 6 เดือน เริ่มร้องไห้กังวลกลัวการพลัดพราก (Separation Anxiety) มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหลังอายุ 9 เดือนเป็นต้นไป

 

ในขณะเดียวกันเด็กก็จะเริ่มช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกิน การถอดเสื้อกางเกง การบอกอึ บอกฉี่ ฯลฯ เริ่มเล่นตามวัยจากเล่นคนเดียว เป็นเล่นใกล้เด็กคนอื่น เป็นการเล่นด้วยกันแบบไม่มีกติกาและมีกติกาในที่สุด และสุดท้ายเด็กก็จะเริ่มเข้าสังคม มีกลุ่มเพื่อนเมื่อเขาต้องเริ่มไปโรงเรียนนั่นเอง

 

 

นี่คือ พัฒนาการตามวัยแบบคร่าวที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ และพัฒนาการตามวัยเหล่านี้โดยเฉพาะเรื่องของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้น บางคนไม่พลิกคว่ำ-หงายแต่คลานเลย บางคนไม่คลานแต่เกาะยืนเลยก็มี ในขณะเดียวกันพัฒนาการแต่ละด้านก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันก็ได้ บางคนพัฒนาการของภาษาไปไวมากกว่าเกณฑ์ แต่กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นไปตามเกณฑ์ก็ได้ บางคนเดิน-วิ่งคล่อง รู้เรื่อง-ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ แต่ยังไม่พูดก็มี

 

 

..."ดังนั้นให้เอาตัวของลูกเป็นเกณฑ์ และยึด “พัฒนาการตามวัยในภาพรวม” ของลูกเป็นหลัก หาก “สมวัย” ไม่ล่าช้า ก็คือ “ปกติ” หากไม่แน่ใจให้สอบถามหมอหรือพยาบาลที่ดูแลตอนไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ได้เลยครับ"...

 

 

หากพัฒนาการด้านใดดูจะเริ่มล่าช้าไปบ้างก็ต้องย้อนกลับมาที่การเลี้ยงดูว่า เราได้เปิดโอกาสให้ลูกพัฒนาในด้านนั้น ๆ มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่พูดช้าแต่รู้เรื่องดี ทำตามคำสั่งได้ อาจเกิดจากไม่มีโอกาสที่จะสื่อสารผ่านคำพูดออกมา เพราะคนในครอบครัวรู้ใจมาก ไม่ต้องพูดก็บอกได้ว่าลูกหรือหลานต้องการอะไร หรือถูกปล่อยให้ดูหน้าจอนานเกินไปตั้งแต่เล็ก เป็นต้น