การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะร่างกายและสมองมีการเจริญเติบโตไปตามหลักชีววิทยาโดยเอื้อด้วยการดูแลของครอบครัวในแง่ของโภชนาการที่ดี การดูแลสุขภาพที่ดี และโอกาสให้เด็กพัฒนาในตามวัยของเขาอย่างเต็มศักยภาพ
ดังนั้นภายใต้กรอบกว้าง ๆ นี้ เด็กแต่ละคนจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เด็กบางคนเริ่มพูดคำแรกก่อนขวบ บางคนก็หลังขวบ เด็กบางคนคลานเก่ง บางคนไม่คลานแต่เกาะยืนเลย และอีกหลากหลายพัฒนาการที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน
เพราะความแตกต่างคือเรื่องปกติของชีวิต มิได้เป็นปัญหาแต่อย่างไร แต่ผู้ใหญ่อย่างเรานี่เองที่มักเอาเด็กแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วเพื่อค้นพบสัจธรรมที่ว่า "ชีวิตคนเราย่อมแตกต่างกัน" ก็คงไม่เป็นปัญหา
แต่บ่อยครั้งที่ยิ่งเปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนอื่นแล้วเครียด เปรียบเทียบแล้วกดดัน เริ่มทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่ดี เริ่มมีพลังลบเข้ามาครอบงำการเลี้ยงลูกของเรา แบบนี้คงต้องตั้งสติให้ดีนะครับ
"การเปรียบเทียบ" เหมือนเป็นการเลี้ยงลูกเชิงลบแบบหนึ่ง
อาจเพราะเราเห็นเด็กอายุไล่เลี่ยกับลูก ทำได้แล้ว โตมาหน่อยทำไมลูกข้างบ้านไม่ดื้อ ทำไมเด็กห้องเดียวกับลูกเรียนดีมาก ทำไมลูกเราถึงไม่เก่งเท่าลูกคนอื่นเขา
ทำไม ทำไม ทำไม ทำไม ? เพราะทุกวันมีแต่คำถามที่กวนใจเราตั้งแต่แรกเกิด เพราะทุกเรื่อง พ่อแม่สามารถเก็บเอามาคิดได้เสมอ ทั้งที่ความจริงก็คือ ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วเก่งกว่าคนอื่นจริง ๆ มีเพียงแต่ว่า "เด็กแต่ละคน พร้อมไม่ตรงกัน" และการเลี้ยงดูเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้เขา "พร้อม" ได้ง่ายขึ้น ก็เท่านั้น แต่เอาจริง ๆ เด็กหลายคนก็ไม่เกี่ยวเลย ขึ้นกับความอินดี้ส่วนตัวล้วน ๆ คือ จะไม่ทำให้ตรงตามที่หนังสือเขียนไว้ให้พ่อแม่กังวลเล่น แค่นั้นจริง ๆ
บางคน 4 เดือนไม่พลิกคว่ำ พลิกหงาย แต่มาคลานเลยตอน 6 เดือน ก็เจอบ่อย บางคน 6 เดือนไม่คลาน แต่เริ่มเกาะยืน เดินเลยตอน 9 เดือน พอครบขวบก็วิ่งไม่หยุดจับไม่ทัน เหมือนกินเครื่องดื่มชูกำลังตลอดเวลา บางคนอายุจะขวบครึ่งแล้วยังไม่พูด แต่ฉลาดรู้ทุกเรื่อง ทำตามสั่งได้ เพียงแค่ไม่พูดออกมาเท่านั้นเอง พอตอนใกล้สองขวบ พูดไม่หยุด จนบางทีพ่อแม่ต้องขอร้องให้หยุดพูดบ้าง ก็เจอบ่อย นั่นหมายความว่า เมื่อถึงวัยอันเหมาะสม และเด็กเริ่มมีความพร้อมเด็กจะไปได้เองครับ
▶︎ 1. เปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนา บางบ้าน เด็กพูดช้า อาจเกิดจากการ "รู้ใจมากเกินไป" ขยิบตาทีนมมาน้ำมา ร้อง 1 แอ๊ะก็อุ้มทันที เรียกว่าเลี้ยงดูประหนึ่งบินเฟิร์สต์คลาส “ไม่ต้องเอ่ยปากนะคะ เดี๋ยวจะเลี้ยงดูปูเสื่อเอง” รักคุณเท่าฟ้ามาก ๆ นั่นหมายว่า ลูกไม่ต้องดิ้นรนพูดหรือสื่อสาร คนเลี้ยงก็พร้อมจะเข้าใจ จบด้วยการพูดช้า ดังนั้นการเปิด ‘โอกาส’ ให้ลูกได้พัฒนาให้สมวัยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็
อยากให้พลิกคว่ำ อยากให้คลาน ก็ต้องฝึกให้นอนคว่ำเมื่อเด็กตื่นลืมตา ให้ฝึกชันคอ ชันอก และฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เปิดโอกาสให้เคลื่อนไหวร่างกาย เอาของเล่นหลอกล่อให้เคลื่อนไหว อยากให้เกาะยืนและก้าวเดิน ก็ควรต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้เกาะ ได้ไต่ ได้ก้าวเดิน อยากให้เด็กพูดได้และพูดเก่ง ก็ต้องมีคนพูดกับเขา ได้รู้จักศัพท์ใหม่ ๆ ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่กับหน้าจอที่ภาพและเสียงเปลี่ยนไปตลอดเวลาและเป็นการสื่อสารทางเดียว
▶︎ 2. เมื่อล่าช้าจริง ก็ต้องประเมินและรักษา หัวข้อนี้คือเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน เพราะนี่เป็นการคัดกรองความผิดปกติของเด็ก โดยทั่วไปในช่วง 2 ปีแรก เด็กจะต้องไปสถานพยาบาลอยู่แล้วอย่างน้อย 6-7 ครั้งเพื่อรับวัคซีนตามเกณฑ์อยู่แล้ว ซึ่งทุกครั้งเด็กควรได้รับการประเมินด้านพัฒนาการด้วยเสมอ หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยหรือปัญหาเรื่องสุขภาพของลูกก็สามารถซักถามได้อยู่แล้ว เบื้องต้นเราต้องสงสัยพัฒนาการล่าช้าเมื่อมองตามวัตถุแล้วตาแกว่ง ไม่จับจ้องวัตถุ ไม่สบตาโดยเฉพาะหลังอายุ 2-4 เดือน
นี่คือสัญญาณอันตรายแล้วว่าลูกของคุณอาจมีพัฒนาการล่าช้า ควรไปตรวจประเมิน ไม่ต้องรอ ที่สำคัญ วัยก่อนประถมเขาพบว่า การพูดได้เร็วกว่าคนอื่น การเขียนได้เร็วกว่าคนอื่น การอ่านได้เร็วกว่าคนอื่น ไม่ได้เป็นตัวกำหนดหรือประเมินว่าเด็กจะเรียนเก่งหรือประสบความสำเร็จในระยะยาวแต่อย่างไร เพราะพอถึงวัยที่ "พร้อม" เด็กจะก้าวกระโดดในทุกด้านครับ ยังคงยืนยันว่าวัยก่อนประถมควรเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างเต็มที่ การเรียนวิชาการท่องอ่านเขียนนั้นยังไม่จำเป็นครับ
..."ลูกเราปกติในแบบของเขา ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เราจะนอยด์น้อยลง สุขมากขึ้น"...