การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สมาธิสั้น จดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน ๆ ไม่ได้ ใจร้อน ก้าวร้าว ขี้โมโห ขี้หงุดหงิด ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร มีภาวะเป็นโรคเครียด ซึมเศร้าแทรกซ้อน เห็นแก่ตัว ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน
เช็คลิสต์ดูสิว่าลูกเข้าข่ายอาการบ้างหรือไม่ ?
ใช่ครับ ! ทั้งหมดคืออาการข้างต้นของ ‘โรคขาดธรรมชาติ’ หรือ NDD (Nature Deficit Disorder) คำจำกัดความจากผู้เขียนหนังสือ Last Child in the Woods ที่อธิบายอาการของเด็ก ๆ ที่เติบโตมาโดยขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากความรักและความห่วงใยของพ่อ ๆ แม่ ๆ ที่เลี้ยงดูลูกแบบปกป้องมากเกินไป ไม่มีโอกาสสัมผัสโลกภายนอก ไม่เคยได้เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ ได้แต่นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้าน และถ้าพ่อแม่บ้านไหนขี้รำคาญหน่อย พอลูกชวนเล่นนั่นเล่นนี่บ่อยเข้า ก็เลือกเอาวิธีมักง่าย โยนโทรศัพท์มือถือให้เขาไป จะได้ไม่มากวน
จริงครับ ! โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้เด็ก ๆ นั่งนิ่งได้ ไม่ซน ไม่กวนใจเราได้นาน ๆ ผมไม่เถียงสักคำ แต่คุณรู้ไหมว่า ผลร้ายตามมาหลังจากนั้นคืออะไร คำตอบก็คือ ลิสต์อาการข้างต้นนั่นล่ะครับ
เด็ก ๆ ยังชั่งตวงวัดความพอดิบพอดีไม่เป็น อะไรที่มากไป-น้อยไป เราในฐานะผู้ใหญ่ต้องช่วยรักษาสมดุลให้พวกเขาครับ ยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ นับเป็นขนมหวานในโลกแห่งการเรียนรู้ ใช้เป็นก็เห็นประโยชน์ แต่ถ้ามากเกินไป แน่นอนว่าย่อมเกิดโทษเป็นธรรมดา
ฉะนั้นหากรักและห่วงใยลูกจริง ๆ อย่าปล่อยให้อะไรมาสำคัญกว่าการดูแลพวกเขานะครับ ลดเวลางานเพิ่มเวลาลูก ดึงพวกเขาออกจากหน้าจอ เพิ่มโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัวดีกว่าครับ สำคัญกว่านั้นคือ ระวัง ! ความรักและความห่วงใยที่มากเกินไป จะทำให้ลูกตกอยู่ในภาวะของ ‘โรคขาดธรรมชาติ’ โดยไม่รู้ตัว
..."รักษาสมดุลลูกแล้ว อย่าลืมรักษาสมดุลตัวเราด้วยนะครับ"...