1280
ตอนที่ 3  สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

ตอนที่ 3 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ

โพสต์เมื่อวันที่ : September 20, 2020

พูดสะท้อนความรู้สึก แสดงออกว่าพ่อแม่เข้าใจ

 

พ่อแม่ควรรู้ว่าการโต้เถียงนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้สายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นบางลงเรื่อย ๆ ในทางตรงกันข้าม ควรคิดว่า นี่คือสถานการณ์ที่ดีที่สุดในการเชื่อมโยงกับลูกต่างหาก เพราะลูกกำลังโกรธ น้อยใจ เสียใจ ต้องการใครสักคนเข้าใจ และคน ๆ นั้นควรเป็นพ่อแม่ !

 

พ่อแม่จะอยู่ตรงนี้ (be here for you) เพื่อช่วยเหลือ แม้ว่าเรากำลังมีปัญหากันอยู่ก็ตาม เราต้องรู้ว่า การเข้าใจลูกไม่ใช่การตามใจ พ่อแม่อย่าเชื่อผิด ๆ ว่า หากใจเย็นและเข้าใจลูก จะทำให้ลูกได้ใจ ความจริงแล้ว ความเข้าใจจะนำไปสู่การเปิดใจต่างหาก เป็นเสมือนกุญแจไขประตู ช่วยให้ลูกไม่ต้านทานในสิ่งที่พ่อแม่พูด และการเปิดใจคุยกันอย่างไม่มีอารมณ์โกรธ จะนำไปสู่ข้อตกลงร่วมง่ายขึ้น  

 

ดังนั้น ฝึกเปิดใจลูกด้วยการฟังนะคะ ฟังเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ลูกคิดและรู้สึก และพูดออกมาว่าเราเข้าใจอย่างไร (ไม่ใช่ฟังเพื่อโต้กลับหรือตามใจ) จนกว่าลูกจะเปิดใจ ไม่ต่อต้าน เราถึงจะอธิบายและสั่งสอนได้

การพูดสะท้อนความรู้สึก

การพูดสะท้อนความรู้สึก คือ ประโยคหรือคำพูดที่พ่อแม่พูดออกมาเพื่อให้ลูกรับรู้ว่า เราอ่านความรู้สึกนึกคิดของลูกในระหว่างที่กำลังถกเถียงกันได้ พ่อแม่พยายามเข้าใจ ทำให้ลูกไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ช่วยบรรเทาความอึดอัดของเขา และยังบ่งชี้ว่าความรู้สึกของลูกนั้นสำคัญ

 

การพูดสะท้อนความรู้สึกไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของลูก หรือต้องการให้ลูกรับฟังพ่อแม่ทันที (แต่จะเกิดขึ้นในภายหลัง) ดังนั้น พ่อแม่จะต้องวางความคิดตนเองลงก่อน (อ่านตอนที่2 สลับเป็นผู้ฟัง หลังจากพูดเสร็จ) เปิดใจตัวเอง รับฟังลูกอย่างจริงใจ จนสามารถเชื่อมโยงกับโลกภายในใจของลูกได้จริง ๆ

เทคนิคการพูดสะท้อนความรู้สึก

❤︎ 1. วางความรู้สึกของตนเองไว้ ❤︎

และเข้าไปนั่งอยู่ในความรู้สึกของลูก

 

❤︎ 2. รับรู้อารมณ์ลูก ❤︎

และพยายามทำความเข้าใจด้วยการหาเหตุผลของความรู้สึกนั้น

❤︎ 3. พูดออกมาให้ชัดเจน ❤︎

ลูกกำลังรู้สึกอะไร เพราะเหตุผลอะไร ในประโยคนี้ จะมี “คำศัพท์ความรู้สึก” และ “เหตุผลของความรู้สึก” ประกอบอยู่ เช่น ...“ลูกรู้สึกท้อใจ เพราะฝึกซ้อมมามาก แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างที่คิดใช่มั้ยคะ ?”... ภาษากายของพ่อแม่ก็ต้องสื่อให้ตรงกับคำพูดด้วย เพราะลูกอ่านจากสีหน้าและท่าทางพ่อแม่ได้

 

❤︎ 4. สงบนิ่งเพื่อเปิดโอกาส ❤︎

ให้ลูกได้สำรวจความรู้สึกของตนเอง

 

❤︎ 5. ในขณะที่ลูกกำลังสำรวจความรู้สึกตนเอง พ่อแม่ควรอ่านสีหน้าและท่าทางลูกตลอดเวลา ❤︎

เพราะบ่อยครั้งที่ลูกจะมีความรู้สึกอื่น ๆ ผลุดขึ้นมาด้วย เช่น นอกจากท้อใจแล้วลูกก็อาจรู้สึกผิดที่ไม่ทำตามพ่อแม่เตือน

❤︎ 6. พ่อแม่จับความรู้สึกที่เกิดขึ้นใหม่ของลูก และพูดสะท้อนออกมาอีก ❤︎

เช่น ...“แม่เห็นลูกมีน้ำตา...แม่เข้าใจว่าลูกคงรู้สึกสับสน ลูกรู้สึกผิดด้วยใช่มั้ย?”... การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน และให้เวลาลูกอยู่กับโลกภายในของตนเอง จะช่วยให้ลูกเรียบเรียงเรื่องราวในสมองได้ดี หากว่า บางครั้ง พ่อแม่อ่านความรู้สึกของลูกผิด..ก็ไม่เป็นไร ลูกจะบอกเราเองว่า ไม่ใช่.. ความปรารถนาที่จะเข้าใจลูก จะไม่ทำให้ลูกหงุดหงิดหรือโกรธพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจเขา

 

หากพ่อแม่อ่านความรู้สึกลูกไม่เก่ง ให้ตั้งคำถามแทน เช่น แม่เห็นลูกมีน้ำตา แม่อยากรู้ว่าลูกกำลังรู้สึกอะไร ? ไม่ว่าจะพยายามอ่านเองหรือตั้งคำถาม ขอให้ภาษากายของพ่อแม่ตรงกับความอยากเข้าใจลูกจริง ๆ ลูกจะเปิดใจให้ อย่ากังวลว่าจะพูดผิด

 

อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนเบื่อหน่ายกับการตอบตลอดเวลา หากพ่อแม่ไม่เคยอ่านลูกเลย เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ ถึงได้เอาแต่ถาม หากเข้าใจจริงก็น่าจะรู้เองบ้างว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร ดังนั้น อย่าเอาแต่ถามนะคะ พ่อแม่ต้องฝึกฝนตนเองให้รู้จักมองมุมลูก และรู้สึกจากมุมของเขาด้วย

❤︎ 7. พ่อแม่รับฟังและสะท้อนความรู้สึกลูกไปเรื่อย ๆ ❤︎

จนความรู้สึกที่อัดกันอยู่ภายใน ถูกระบายออกมาหมด ลูกถึงพร้อมรับฟังสิ่งที่พ่อแม่พูดค่ะ

 

การพูดสะท้อนความรู้สึกของพ่อแม่ ทำให้ลูกรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและมั่นคงในจิตใจ ความผูกพันทางอารมณ์จะแน่นแฟ้นขึ้น สายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นนี้ จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจทางจิตใจของลูก ไม่ว่าลูกอยู่ที่ไหน และไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ลูกจะรับรู้ว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลา

 

 

อ่านต่อตอนที่ 4 สั่งสอนลูกโดยไม่เสียสัมพันธภาพ (พ่อแม่ต้องฝึกเปิดใจให้กว้าง)