การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเลี้ยงเด็กสักคนหนึ่งให้ได้ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก หากเพียงแต่เราเข้าใจเรื่องสุขภาพและพัฒนาการตามวัยของลูก
หลายครอบครัวที่เพิ่งมีเจ้าตัวเล็กเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่คงเข้าใจภาวะ “พ่อแม่ลูกอ่อนนอนน้อย” กันดี แต่ถึงกระนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน หลายครอบครัวก็วนลูปการเป็นพ่อแม่ลูกอ่อนนอนน้อยอีกครั้งด้วยการมีลูกคนที่ 2 คนที่ 3 กันตามลำดับ ...แต่เวลาไม่คอยท่า ความชราไม่คอยใคร
..."คุณหมอคะ หนูอยากมีลูกอีกคน ควรเว้นจากคนแรกเท่าไรดี"...
นี่เป็นอีกคำถามยอดฮิต เพราะบางบ้านก็อยากเร่งมีบุตร หัวปีท้ายปีไปเลยจะดีไหม หากอ้างอิงตามข้อมูลที่มีการศึกษาจะพบว่าเราควรหลีกเลี่ยงการมีลูกแบบหัวปีท้ายปีอย่างที่ในอดีตเขาทำกัน เพราะเพิ่มความเสี่ยงหลายอย่างระหว่างการตั้งครรภ์และระหว่างการคลอด รวมถึงความเสี่ยงต่อเด็กในครรภ์ด้วยเช่นกัน
ความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ชิดกันเกินไปน้อยกว่า 1 ปี ได้แก่
❤︎ การคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
❤︎ ความผิดปกติของรก
❤︎ โรคจิตเภท
❤︎ ความผิดปกติปริกำเนิด รวมถึงการเสียชีวิตปริกำเนิด (ตั้งแต่ในครรภ์และระหว่างการคลอด)
❤︎ การเจ็บป่วยของมารดา รวมถึงอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
"1 ปี" เป็นตัวเลขที่มีการศึกษาชัดเจนว่าเราควรเว้นการตั้งท้องอย่างน้อย 1 ปีจากท้องก่อน
WHO (องค์การอนามัยโลก) บอกไว้ที่ตัวเลข 24 เดือน (2 ปี) ราชวิทยาลัยสูติ-นรีเวชฯ สหรัฐอเมริกา ให้เลขไว้ที่ 18 เดือน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหากเว้นช่วงการตั้งครรภ์ที่มากเกินไปก็เสี่ยงเช่นกัน โดยพบว่าหากตั้งครรภ์ห่างกันเกิน 5 ปี คุณแม่เองจะเพิ่มโอกาสการเกิดความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษได้ แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปชัดเจนในกรณีตั้งครรภ์ห่างเกินไปครับ พื้นฐานน่าจะเกิดจากอายุของคุณแม่ที่มากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นการวางแผนครอบครัวจึงยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพของแม่และลูก เพื่อให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัยนั่นเอง วางแผนให้ดีว่าจะมีลูกอีกคนกันตอนไหนครับ หรือไม่เอาแล้ว เข็ดแล้วก็ว่ากันไป
โดยขอสรุปข้อดีและข้อเสียของการมีลูกติดกันและห่างกันไว้ในแง่ของการเลี้ยงดูเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการวางแผนครอบครัวดังนี้ครับ
✚ การมีลูกที่อายุไล่เลี่ยกัน ✚
ข้อดี :: ประหยัด เพราะสามารถใช้เสื้อผ้าของใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ ง่าย เพราะของเล่น หนังสือนิทานสามารถใช้ร่วมกันได้ รวมถึงวิธีการเล่นกับลูกก็ยังมีความคล้ายคลึงกัน และพอคนเล็กโตขึ้นมาหน่อย ลูกทั้งสองคนก็สามารถเล่นด้วยกันได้ ส่งไปเรียนหรือเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนร่วมกันได้ง่ายกว่าอีกด้วย และสุดท้ายคือ เหนื่อยรวดเดียว เพราะช่วงที่เหนื่อยกายของพ่อแม่มากที่สุดก็คือช่วง 3 ปีแรก โดยเฉพาะ 1 ปีแรกของชีวิต ถ้ามีลูกอายุไล่เลี่ยกันเราจะเหนื่อยทีเดียวและพอรู้ตัวอีกทีลูกก็โตไปพร้อม ๆ กัน จากเหนื่อยกายจะเปลี่ยนไปเหนื่อยใจแทนตอนเข้าวัยรุ่นพร้อมกันสองคนอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง รวดเดียว จบ
ข้อเสีย :: ชีวิตที่วุ่นวายคูณสอง ทั้งการหลับ-ตื่น-ขับถ่าย โดยเฉพาะเรื่องของการขับถ่ายที่เราจะต้องเผชิญกับอุจจาระปริมาณมากพร้อม ๆ กันกับการทดสอบความทนทานของร่างกายมนุษย์ของพ่อแม่ที่มีช่วงเวลาให้พักผ่อนลดลง โดยเฉพาะของคุณแม่ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ต้องมาตั้งครรภ์อีกครั้งพร้อมกับการเลี้ยงเด็กทารกอีกคน พอลูกคนที่สองเกิด ความบันเทิงจึงบังเกิดอีกครั้ง เรียกว่า ยาว ๆ ไปเลยครับอย่างน้อย 3-5 ปีที่เราต้องเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกอ่อนพร้อม ๆ กัน
✚ การมีลูกที่อายุห่างกันมาก ✚
ข้อดี :: เมื่อลูกเติบโตด้วยวัยที่ห่างกันจะลดโอกาสที่มองลูกเชิงเปรียบเทียบกันได้มากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน โดยในช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่จะสามารถทุ่มเทเวลาให้กับลูกคนเล็กได้เต็มที่ เพราะการดูแลลูกคนโตเริ่มง่ายขึ้นเนื่องจากพูดคุยรู้เรื่องแล้ว เข้าสู่วัยเรียนแล้ว มีกิจวัตรที่คาดเดาได้ สม่ำเสมอโดยเฉพาะการกินและการนอน โดยเราสามารถสร้างคนโตให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนเล็กได้ไม่ยาก นอกจากนั้นการมีลูกอายุห่างกันทำให้เราลืมความเหน็ดเหนื่อยของการเลี้ยงลูกเล็ก มีเวลาพักและเตรียมร่างกายในการกลับมาเลี้ยงลูกเล็กอีกครั้งหนึ่ง
ข้อเสีย :: การมีลูกอายุห่างกันสำหรับหลายครอบครัวอาจหมายถึงการนับหนึ่งใหม่ในทุกเรื่อง เพราะ ‘ลืม’ วิธีการเลี้ยงเด็กอ่อนไปหมดแล้ว กลับมาเหนื่อยอีกครั้งในวันที่วัยของพ่อแม่เริ่มมากขึ้น เสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ที่คนโตเคยใช้ส่วนหนึ่งไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันกิจวัตรการตื่น-นอน-ร้องไห้ของเด็กเล็กอาจทำให้กิจวัตรของเด็กโตปั่นป่วนได้ และหากอายุของลูกห่างกันมาก ๆ เด็กมักเล่นด้วยกันไม่ค่อยสนุก สนใจกันคนละเรื่อง ยากสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงในระดับหนึ่ง
แล้วคุณพ่อคุณแม่วางแผนว่าจะมีลูกกี่คน และห่างกันเท่าไร ข้อมูลเหล่านี้คงช่วยให้เห็นภาพได้ไม่มากก็น้อยครับ