2243
ทำไมเด็ก ๆ จึงชอบติดสติกเกอร์ ?

ทำไมเด็ก ๆ จึงชอบติดสติกเกอร์ ?

โพสต์เมื่อวันที่ : December 22, 2020

คุณแม่ท่านหนึ่งเข้ามาเล่าเรื่องของลูกชายวัย 3 ขวบของเธอให้เราฟังว่า ...“ตอนนี้ลูกชอบสติกเกอร์มากเลยค่ะ ไปงานหนังสือที่จัด ก็ขอซื้อแต่สมุดสติกเกอร์ พอกลับบ้านมา ลูกก็เอามานั่งติดในกระดาษอยู่ดี ๆ แม่ไปทำกับข้าวเดี๋ยวเดียว กลับมา โต๊ะไม้ที่บ้านก็มีสติกเกอร์รถหลากชนิดของเจ้าลูกชายเต็มไปหมดเลยค่ะ แต่เเม่ห้ามเขาไม่ทันจริง ๆ เลยสอนเขาว่า สติกเกอร์ติดในสมุดกับกระดาษนะครับ”...

 

ในทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่สติกเตอร์ได้ถูกคิดค้นขึ้นมา “สติกเกอร์” กับ “เด็กเล็ก” เป็นของคู่กัน และเด็ก ๆ มักจับคู่ "สติกเกอร์" ของตนกับ "กำแพง" "เฟอร์นิเจอร์" ที่บ้านอยู่ร่ำไป แม้พ่อแม่จะพยายามป้องกันแค่ไหนแล้วก็ตาม บ้านไหนโชคดี เด็ก ๆ อาจจะชอบติดตามร่างกายตัวเองเท่านั้น

 

ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แค่สติกเกอร์ที่เด็กวัยนี้จะชอบ "พลาสเตอร์ยาแปะแผล (Bandage)" เด็ก ๆ ก็ชอบเช่นกัน แผลจะนิดเดียว เขาก็อยากได้พลาสเตอร์มาแปะ ยิ่งลายการ์ตูน สีสะท้อนแสง ยิ่งน่าสนใจและดึงดูดเด็ก ๆ เป็นอย่างมาก (ของมันต้องมี)

 

 

คำถาม “ทำไมเด็ก ๆ จึงชอบสติกเกอร์ ?”

☺︎ เพราะมันดึงดูสายตา

สติกเกอร์ยิ่งหลากสี มีกากเพชร สะท้อนแสง มีตัวการ์ตูนหลายลาย เด็ก ๆ ยิ่งสนใจ

 

☺︎ เพราะธรรมชาติของเด็กชอบล้วง แคะ แกะ เกา แปะ

(นึกถึงเด็ก ๆ ล้วงแคะขี้มูก แล้วป้ายลงไปสักที่ใกล้ ๆ มือเขา) ซึ่งสติกเตอร์ตอบสนองเด็กได้ในจุดนี้ ทั้งแคะ ทั้งแกะ ทั้งแปะ เกือบครบเลย

 

☺︎ เพราะการแปะสติกเกอร์เป็นการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะสำหรับเด็ก

เขาสนุกกับลวดลายที่เกิดขึ้น สติกเกอร์ที่ลูกเราแปะลงไป อาจจะเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงในวัยเยาว์ของเขาเลยก็ว่าได้

 

☺︎ เพราะสติกเกอร์มีหลายรูปแบบ

เด็ก ๆ จึงอยากเก็บสะสม ตอนเด็ก ๆ ใครหลาย ๆ คงมีสติกเกอร์ที่ตนเองชอบมาก ๆ และสะสมเอาไว้ไม่ยอมนำมาใช้ จนกาวหมดอายุไป

 

☺︎ เพราะแปะตามร่างกายได้อย่างสบายใจ

 

☺︎ เพราะเขาได้แสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนั้น

ตัวตนของเขาได้รับการมองเห็น ณ พื้นที่ตรงนั้น

 

ข้อดีของสติกเกอร์ที่ผู้ใหญ่อาจจะคาดไม่ถึง

คือ สติกเกอร์ทำให้เด็กเล็กได้ใช้นิ้วเล็กๆ แกะ หยิบ แปะ ยิ่งสติกเตอร์ขนาดเล็ก เด็กต้องใช้นิ้วน้อยลงและออกแรงมากขึ้น กล้ามเนื้อมัดเล็กยิ่งพัฒนาและสายตาต้องทำงานประสานกัน (Eyes-Hands coordination) ว่าจะแปะตรงไหนดี

 

ตอนแรก ๆ แปะลงไป สติกเกอร์อาจจะกลับหัวกลับหาง แต่เมื่อเด็กพัฒนาการหมุนภาพ (Picture Rotation) เขาจะแปะได้ตรงมากขึ้น ที่สำคัญได้พัฒนาสมาธิของเขาอีกด้วย เวลาเด็ก ๆ ง่วนอยู่กับสติกเกอร์ เขาอยู่ได้นานมาก ๆ เลย

 

 

วันนี้มีโอกาสกลับมาดูที่บ้านของตัวเอง ประตู กระจก และตู้บางตู้ ยังมีสติกเกอร์สมัยเด็กติดตรึงอยู่กระจายเป็นอยู่เป็นหย่อม ๆ บางหย่อมเหมือนพ่อแม่จะพยายามทำความสะอาดแล้ว แต่ก็คงยอมแพ้กับคราบกาวก็เลยทิ้งไว้เช่นนั้น คราบจึงปรากฏอยู่จนวันนี้

 

พ่อมักบอกเสมอว่า ...“ตอนมีลูก เหมือนต้องเปลี่ยนรสนิยมการแต่งตัว และมุมมองในการแต่งบ้าน แต่ก่อนแต่งตัวเน้นดูดี อยู่กับลูก เอาที่ทะมัดทะแมงเลอะได้สบายใจ ส่วนข้าวของเครื่องใช้ที่บ้าน ก็เปลี่ยนเป็นเน้นใช้งาน ทนไม้ทนมือ สีเข้ม เลอะได้ จากที่ชอบสีขาวสว่างตา ก็ลืม ๆ ไปได้เลย”...

วิธีการรับมือเด็ก ๆ กับสติกเกอร์คู่ใจ

♡ พ่อแม่เตรียมพื้นที่ให้เขาเล่น

เลือกห้องที่เลอะแล้วพ่อแม่ทำใจได้ หรือ ถ้ารู้ว่าลูกเอาไปติดกำแพงแน่ ๆ ก็เตรียมพื้นที่บนกำแพงที่เหมาะสมให้กับเขา อาจจะนำกระดาษแผ่นใหญ่มาติดรอบผนัง หรือ ที่ง่ายที่สุด ชวนกันไปปูเสื่อนั่งติดในสวนเสียเลย

 

♡ ทำข้อตกลงหรือตั้งกติกาให้ชัดเจน

ติดในสมุด หรือ ติดได้ที่ไหนได้ บอกเขาไปเลย กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน

 

♡ ถ้าลูกติดนอกพื้นที่ที่ตกลง เตือนเขาก่อน

บอกชัดเจน ...“เราติดสติกเกอร์ในสมุดครับ/ค่ะ”... แต่ถ้ามีการเตือนถึงครั้งที่ 3 อาจจะต้องบอกเขาว่า ...“ลูกไม่พร้อมทำตามกติกา วันนี้เราจะไม่เล่นสติกเกอร์กันต่อนะ”... แล้วเก็บ เปลี่ยนกิจกรรมที่เขาสามารถทำตามกติกาได้

 

สุดท้ายเด็กเขาต้องการพื้นที่ที่เขาเล่นได้อย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่ควรเตรียมใจ เมื่อซื้อของให้เขาเล่น เราควรมีพื้นที่ปลอดภัยทางกายใจให้เขาเล่นด้วย พ่อแม่อย่างเราต้องทำใจเมื่อลูกได้สร้างสรรค์ร่องรอยอารยธรรมที่จะอยู่คู่บ้านเรายันเขาโต ซึ่งเมื่อโตแล้วกลับมาดูร่องรอยที่ตัวเองจำไม่ได้ว่าทำไว้ ก็จะเกิดความสงสัยว่า "ตอนนั้นเราทำไปทำไม ?" ^^