พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
เมื่อเล่นเสร็จกติกาที่ต้องทำทุกครั้ง คือ "เก็บของเล่นเข้าที่" หรือ "เก็บกวาดพื้นที่ให้เหมือนเดิม" สำหรับเด็ก ๆ การเล่นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา เพราะการเล่นทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะต่าง ๆ ขึ้นมากมาย แต่หลังเล่นเสร็จการรับผิดชอบต่อการเล่นด้วยการ "เก็บของ" และ "เก็บกวาด" ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน
1. เริ่มสอนเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่า “เล่นแล้วต้องตามด้วยการเก็บเสมอ” โดยในการสอนเริ่มเเรก ให้เราทำให้เขาดูว่า “เก็บ” คือ ทำแบบไหน ต่อมาให้เขาลองทำตาม ทำไม่ได้ให้จับมือพาทำ แล้วเวลาลูกเก็บให้พูดบอกลูกด้วยว่า “เก็บของ” เขาจะได้รู้ว่าที่ทำอยู่นี้ เรียกว่า “เก็บ” นั่นเอง
2. กำหนดเวลาเล่นให้ชัดเจน เผื่อเวลาเตรียมตัวเก็บของด้วยเสมอ เช่น 20 นาที 30 นาที 1 ชั่วโมง ก่อนเวลาหมด 10 นาทีเตือนลูกครั้งที่ 1 ว่า “อีก 10 นาทีหมดเวลานะคะ” ก่อนเวลาหมด 5 นาทีเตือนลูกครั้งที่ 2 ว่า “อีก 5 นาทีเตรียมเก็บนะคะ” ก่อนเวลาหมด 1 นาทีให้นับถอยหลังพร้อมชูนิ้วนับถอยหลังด้วย “ 10, 9, 8,...0 หมดเวลา มาเก็บของกัน”
เคล็ด(ไม่)ลับ : เมื่อเราเห็นสัญญาณว่าเด็กเริ่มเบื่อหรือหมดความสนใจกับของเล่นชิ้นนั้นแล้ว ให้พ่อแม่รีบบอกลูกว่า “มาเก็บของกัน แล้วไปทำอย่างอื่น” เพราะถ้าปล่อยให้เด็กเล่นจนหมดความสนใจ เขาจะไม่อยากทำอะไรกับของชิ้นนั้นแล้ว ดังนั้นหากเราหยุดการเล่นก่อนที่ลูกยังพอมีเเรงเก็บ เขาจะเก็บมันง่ายขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ฮึดฮัด ฟึดฟัด ทำยังไงดีนะ ? ถ้าลูกก้าวร้าว
3. หากไม่ยอมเก็บของ ให้เราพาเขาทำได้ แต่ไม่ใช่เก็บให้เขาหมดเลย จับมือลูกแล้วจับของใส่กล่องไปด้วยกัน ถ้าวิ่งหนี ก็พากลับมาเก็บด้วยกัน ก่อนจะไปทำอย่างอื่น ถ้าอาละวาด ต้านไม่ยอมให้เราจับมือทำ ก็พาไปสงบด้วยกันก่อนที่มุมสงบ นั่งข้าง ๆ รอ แล้วเมื่อสงบ ย้ำกับลูกว่า “ไปเก็บของกัน” แล้วพาไปเก็บของ เมื่อเด็กเก็บของลงไปชิ้นแรก ให้ชมทันที “เยี่ยมเลย" หรือ พูดว่า “ขอบคุณนะลูก”
4. การเก็บของเล่นเป็นหน้าที่ ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำหรือไม่ทำก็ได้ พยายามอย่าใช้คำว่า “มาช่วยพ่อ/แม่เก็บหน่อย” หรือ พูดบอกเป็นเชิงถาม “จะช่วยพ่อ/แม่เก็บไหม” เพราะ ถ้าหากเด็กเป็นคนนำของนั้นมาเล่น หรือ เล่นเองคนเดียว แล้วเราเป็นฝ่ายมาช่วยเขาเก็บ การถามหรือบอกว่า “มาช่วย” เราเก็บหน่อย จะทำให้เด็กเข้าใจว่า “การเก็บของ” เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ไม่ใช่หน้าที่ของเขา เขาจะช่วยหรือไม่ช่วยก็ได้ ดังนั้นดีที่สุด พูดสั้นกระชับว่า “มาเก็บของกัน”
พ่อแม่บางท่านบอกว่า “วันไหนลูกอารมณ์ดี เขาก็เก็บ วันไหนอารมณ์ไม่ดี เขาก็ทิ้งไว้อย่างนั้น” การเก็บของเล่นเป็นหน้าที่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำทุกครั้งหลังเล่นเสร็จ ไม่ใช่ตัวเลือกว่า “อยากทำหรือไม่ทำก็ได้” เพื่อฝึกฝนให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ในเมื่อลูกนำมาเล่นได้ ก็ต้องเก็บได้เช่นกัน ถ้าลูกเก็บไม่ไหว มาขอให้เราช่วย คุณพ่อคุณแม่พิจารณาตามความเหมาะสมได้ว่า “ของเล่นมันเยอะจริง ๆ จนเก็บไม่ไหว” หรือ “เขาแค่ไม่อยากเก็บคนเดียว”
❤︎ ในกรณีแรก เราเข้าไปช่วยได้ แต่หลังเสร็จ ให้สอนลูกว่า “ครั้งหน้า ถ้าหนูอยากเล่นอะไร ให้เล่นแล้วเก็บ จากนั้นค่อยไปหยิบชิ้นต่อไปมาเล่นนะ”
❤︎ ในกรณีที่สอง เราควรบอกลูกว่า “ลูกทำได้เองเลย อีกนิดเดียว"
บทความที่เกี่ยวข้อง : พ่อแม่ต้องรู้ สารอันตรายในของเล่นเด็ก
5. จัดพื้นที่เก็บของเล่นให้เป็นระเบียบ ชัดเจน และจัดเก็บได้ง่ายสำหรับเด็ก ที่ขาดไม่ได้ เด็กบางคนอยากเก็บของเล่น และอยากช่วยทำความสะอาด แต่บางครั้งพื้นที่เก็บของ หรือการเข้าถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดไม่เอื้อให้กับเขา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจัดพื้นที่ให้เด็กเก็บของได้ง่าย แบ่งชัดเจนว่า “อะไรเก็บตรงไหน”
แนะนำให้เด็กเล็ก ๆ เก็บของเล่นใส่กล่องหรือตระกร้าไปก่อน ยังไม่ต้องให้เขาไปจัดเก็บบนชั้นสูง ๆ เด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เราสามารถสอนเขาว่า ของเล่นประเภทนี้เก็บชั้น / กล่องไหน นอกจากนี้ควรมีอุปกรณ์ทำความสะอาดของเด็กให้เขาชุดหนึ่ง ได้แก่ ผ้า ไม้กวาดเล็ก ๆ ถังขยะ ให้ เด็ก ๆ ได้หยิบใช้เมื่อต้องทำความสะอาดเวลาเล่นเสร็จ
6. การสอนลูกเก็บของเล่นเบา ๆ หรือ ดี ๆ ต้องผ่านการทำให้ดูและพาทำ ไม่ใช่การพูดสอนอย่างเดียว เพราะเด็กจะไม่เข้าใจ ในกรณีที่เด็กโยนของเวลาเก็บของเล่นเข้ากล่อง หรือ เก็บของเล่นเสียงดัง คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกด้วยการทำให้เขาดูว่า “วางเบา ๆ" หรือ “เก็บดี ๆ” เป็นอย่างไร จากนั้นให้ลูกลองทำตาม ถ้าเด็กเล็ก ๆ เราจับมือเขาทำ สอนเขาวางเบา ๆ หากเด็กกลับไปโยนอีก เราเพียงแค่นำของชิ้นนั้นออกมา แล้วให้เขาลองเก็บใหม่อีกครั้งหนึ่ง
7. เมื่อลูกเก็บของเล่นหรือทำความสะอาด อย่าคาดหวังผลลัพธ์ที่เนี๊ยบเป๊ะ หากเด็ก ๆ พยายามเก็บกวาดแล้ว แต่ผลที่ออกมาไม่ได้เนี๊ยบเป๊ะดังหวัง ให้คุณพ่อคุณแม่ข่มใจไว้ แล้วพูดชื่นชมเด็ก ๆ ก่อนว่า “ลูกพยายามเก็บได้ดีมากเลย ขอบคุณนะลูก” แล้วถ้าอยากสอนเขาให้เก็บให้ดีขึ้น ก็สามารถพูดกับลูกว่า “ตรงนี้แม่ขอช่วยเก็บอีกนิดนะ ลูกมาดูแม่ทำนะ คราวหน้าจะได้ลองทำแบบแม่ดู” หรือ “ถ้าตรงนี้ทำแบบนี้อีกนิด จะเยี่ยมมาก ๆ เลย” แต่ถ้าเรามองว่า "มันแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกอาจจะจัดเก็บของเล่นผิดตำเเหน่ง เราควรปล่อยวางลงบ้าง"
การฝึกฝนผ่านการลงมือทำ จะทำให้เด็ก ๆ พัฒนาและเรียนรู้การทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่พ่อแม่ต้องให้โอกาส และอดทนรอคอย ไม่เร่งรัดให้ได้ดังใจเราหวังเดี๋ยวนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง : พี่น้องแย่งของเล่นกัน
8. แทรกทักษะการเก็บของเล่น ในการเล่นของเด็ก ๆ เช่น แข่งกันเก็บของเล่นทั่วห้องลงกล่อง, แข่งกันโยนผ้าลงตระกร้า, จับมือห้ามปล่อยพร้อมเก็บของเล่นทั่วห้อง ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม, แข่งกันเก็บของเล่นให้เบาที่สุดกับคุณพ่อ ใครมีเสียงจะโดน คุณแม่จั๊กจี้พุง เป็นต้น
9. เด็กจะเป็นและทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นและทำ อยากให้ลูกเก็บของเล่นให้เป็นระเบียบ พ่อแม่ควรเก็บของ ๆ ตนเองให้เป็นระเบียบเช่นกัน
สุดท้าย “การเก็บของเล่น” เป็นมากกว่า “ขั้นตอนการทำความสะอาด” เพราะ “การเก็บของเล่น” คือ “หน้าที่แรกที่เด็กได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำ (เล่นของเล่น) ของตนเองเมื่อสิ้นสุดลง" มาช่วยกันสร้างเด็ก ๆ ที่ดูแลตนเองและพื้นที่ของเขาได้ เพื่อวันหนึ่งข้างหน้า เขาจะสามารถเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้