การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลูก : ...“หนูขอดูการ์ตูนได้ไหมคะ”...
แม่ : ...“ไม่ได้จ้ะ ลูกวันนี้ลูกดูเยอะแล้ว”...
ลูก : ...“ทำไม ไม่ได้อะ”...
แม่ : ...“ดูเยอะ ๆ สายตาจะไม่ดีนะลูก”...
ลูก : ...“ดูไม่เยอะหรอก หนูดูนิดเดียวเอง”...
แม่ : ...“ไม่ได้ ๆ“...
ลูก : ...“น้า.. ขอหน่อยนะ ขอดูอีกนิดเดียว แล้วไม่เอาแล้ว”...
แม่ : ...“ไม่ได้”...
ลูก : ...“นะแม่นะ แม่ขา ขอหน่อยน้าาา”... ลูกอ้อนสุด ๆ
แม่ : ...“ไม่ได้ก็ไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่องหรือไง”... (แม่เริ่มโกรธ)
ลูก : ...“ขอนิดเดียวเองอะ”... เสียงอ่อยลง แต่ไม่ลดละ
แม่ : ...“ไม่ได้ !“... (ด้วยเสียงตะคอกรุนแรง)
ไม่มีคุณแม่ท่านไหนอยากโมโหลูก หลายเรื่องเลยที่เราเริ่มต้นด้วยการพูดดี ๆ ไม่ใช้อารมณ์ แต่สุดท้ายก็ลงเอยแบบเดิม ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ?
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า บทสนทนาที่ยืดเยื้อดึงดูดพลังบวกของเราออกไป พ่อแม่มากมายไม่กล้าตัดบท เพราะหวังลึก ๆ ว่าการคุยนาน ๆ จะทำให้ลูกยอมเชื่อฟัง แต่รู้มั้ย ลูกของเรา ก็หวังแบบเดียวกัน เขาก็หวังให้พ่อแม่ยอมเช่นกัน !
ในเมื่อลูกมีเป้าหมายไม่ต่างจากเรา ยิ่งคุยนานแค่ไหน ลูกก็ต้องหาวิธีทำให้พ่อแม่เปลี่ยนใจ บทสนทนาที่ทั้งสองฝ่าย ต่างต้องการให้อีกฝ่ายยอม ก็มักนำไปสู่การใช้อารมณ์ ซึ่งทำให้ปัญหานั้นจบลงเร็ว ! รู้แบบนี้แล้ว หมอขอแนะนำให้ผู้ปกครองถนอมพลังบวกเอาไว้ ด้วยการตัดบทตั้งแต่ตอนที่ยังควบคุมอารมณ์ได้ อย่าปล่อยให้ลูกเซ้าซี้ จนนำไปสู่การระเบิดของอารมณ์
สูตร “ถาม-ตอบ-จบ”
เมื่อลูกเริ่มถามซ้ำ ๆในสิ่งที่เราปฏิเสธ อย่าตอบคำถามแบบเดิม ๆ อีก ให้เราคุยกับลูกดังนี้
แม่ : ...“ลูกรู้จักถาม-ตอบ-จบไหม”...
ลูก : (ลูกอาจงง และตอบว่า) ...“ไม่รู้จัก”...
เราก็อธิบายด้วยการตั้งคำถามก่อน
แม่ : ...“เมื่อกี้ลูกถามแม่ไปหรือยังว่า ดูการ์ตูนได้ไหม”...
ลูก : ...“ถามแล้ว”...
แม่ : ...“แล้วแม่ตอบไปหรือยังว่าดูได้ไหม”...
ลูก : ...(พยักหน้า)...
แม่ : ...“แม่ตอบไปแล้ว แม่ก็จะไม่เปลี่ยนใจ”... เสียงหนักแน่น
คราวนี้ต่อด้วย คำถามท้าทายให้ลูกคิด
แม่ : ...“แม่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนใจ ยอมให้ลูก...แบบคุณพ่อเหรอ”... (คำถามนี้มีเป้าหมายให้ลูกเห็นชัดเจนว่าเราหนักแน่น และแน่นอนว่าเมื่อคุณพ่อโดนอ้างถึง ก็อาจจะไม่ดี คุณแม่จึงควรแนะนำสูตรนี้ให้คุณพ่อใช้ร่วมด้วย)
ลูก : ...(ลูกอาจนิ่ง ๆ ไม่ตอบอะไร)...
สรุปสูตรให้ลูกฟัง
แม่ : ...“ลูกถามมาแล้ว แม่ก็ตอบไปแล้ว มันก็คือจบแล้ว”…ให้เวลาลูกคิดและต่อด้วย
แม่ : ...“แม่จะไม่ตอบคำถามนี้อีกนะ นี่แหละ ถาม-ตอบ-จบ”...
เมื่อเวลาผ่านไป ลูกอ้อนด้วยการเซ้าซี้อีก ...“แม่ขา หนูขอดูการ์ตูนนิดเดียว ได้มั้ย”... ให้คุณแม่เริ่มใช้สูตร... หันมามองหน้าลูกและพูดช้า ๆ ว่า ...“ลูกถามแล้ว แม่ตอบแล้ว จบค่ะ ! แม่จะไม่พูดกับลูกเรื่องนี้นะ”... แล้วก็หันไปทำงานของเราต่อ
การหันศีรษะไปตอบลูกอย่างจริงจัง พร้อมทั้งหันกลับเมื่อพูดจบ เป็นท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่พูดอีก ให้ทำซ้ำทุกครั้งที่ลูกเข้ามาเซ้าซี้ จะเห็นว่าประโยคที่เราตอบลูกนั้นสั้น กระชับ ได้ใจความ ชัดเจนว่าไม่มีหวังแล้ว
พ่อแม่อย่าหวั่นไหว หากลูกจะโวยวาย เสียใจเมื่อเราตัดบท นี่คืออารมณ์ปกติของเด็กที่ผิดหวังค่ะ ให้เวลาลูกจัดการอารมณ์ตนเองจนสงบนะคะ อย่าไปดุให้เงียบ อย่าไปคาดหวังว่าลูกจะยอมรับแบบไม่โวยวาย
เอาละ... สูตรนี้จะได้ผลจริงก็เมื่อเราพูดคำว่า “จบ” และหมายถึงอย่างนั้นจริง ๆ ไม่อธิบายต่อ ไม่พูดอะไรอีก วางเฉยกับการเซ้าซี้นั้น (ขอให้คิดว่า ยิ่งพูดเยอะ ลูกจะมีความหวังว่าจะเปลี่ยนใจแม่ได้ และเราจะถูกดูดพลังบวกไปจนตบะแตกนะคะ)
***ขอให้ทุกคนในบ้านใช้สูตรนี้เหมือนกัน ใช้ตอนลูกเซ้าซี้, ต่อรอง เพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรมเซ้าซี้เร็วขึ้น ถ้าบางคนทำ บางคนไม่ทำ เด็กจะสับสนและเลือกปฏิบัตินะคะ***
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะใช้สูตรนี้ ขอให้ผู้ปกครองแน่ใจว่าเราได้ช่วยลูกเข้าใจกติกาในบ้านแล้ว เช่น ลูกรู้ว่าดูจอได้ 1 ชั่วโมงต่อวัน และลูกใช้หมดโควต้าแล้ว และให้โอกาสลูกต่อรอง จนได้ข้อสรุปร่วมแล้วเท่านั้น (บางวันก็ยืดหยุ่น ตามเหตุผลที่เหมาะสมได้) สูตร“ถาม-ตอบ-จบ” มีไว้ใช้ตัดบทในสิ่งที่เราและลูกได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว เพื่อให้ลูกรู้จักตัดใจจริง ๆ ไม่ใช่ให้นำไปใช้เลี้ยงลูกแบบเผด็จการนะคะ
..."เด็กควรมีทักษะการต่อรองและควรรู้จักจุดสิ้นสุดด้วย... ตัดบทลูกแบบไม่ต้องโมโห ด้วยสูตร“ถาม-ตอบ-จบ”นะคะ"...