
ข่าวประชาสัมพันธ์ : เปิดลงทะเบียนกิจกรรม "คิดประดิษฐ์ Kids Maker"
ปลุกความคิดสร้างสรรค์ในตัวเด็ก เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการประดิษฐ์ของเล่นสนุก ๆ
ความรู้ที่ควรมีเมื่อถึงวัยที่ลูกต้องไปโรงเรียน
อายุน้อยสุดที่ลูกจะปรับตัวโดยไม่ทรมานใจมาก คือ 3 ปีขึ้นไป เพราะเด็กสามารถ “เก็บความคิดถึงแม่เพื่อรอพบเจอกัน” ตอนที่แม่มารับได้ (เรื่องนี้เกี่ยวกับความสามารถของสมอง) ถ้าอายุน้อยกว่านี้ เด็กจะเข้าใจ “การเก็บและรอให้เจอ” ได้ยากกว่า เพราะเกี่ยวเนื่องกับ “กาลเวลา” ที่เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจ
แต่ถามว่าถ้าจะให้ไปจริง ๆ ล่ะ ทำได้มั๊ย คำตอบก็คือ ..."ทำได้ค่ะ"... เพราะประเด็นอยู่ที่ความไม่เข้าใจกาลเวลา ไม่ใช่ประเด็นเด็กกลัวอะไรที่โรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กจะปรับตัวโดยทรมานใจมากกว่าเด็กที่อายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป
ที่บอกว่าทรมานใจนั้น หมายถึงทั้งพ่อแม่และเด็กค่ะ พ่อแม่หลายคนรู้สึกแย่เหมือนกันเมื่อเห็นลูกร้องไห้นาน ๆ แต่หลายบ้านก็เลือกไม่ได้จริง ๆ อันนี้หมอเข้าใจนะคะ เพราะแต่ละบ้านมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป งั้นลองอ่านต่อนะคะว่า 'ลูกทรมานใจ' เป็นอย่างไร ?
สิ่งที่เราจะเห็นในตัวลูก ก็คือ พฤติกรรมที่แสดงออกตอนแยกจาก เด็กจะร้องไห้มาก ร้องไห้นาน และจะร้องติดกันหลาย ๆ สัปดาห์จนถึงเป็นเดือน
ส่วนพฤติกรรมที่บ้าน ก็คือ งอแงมากขึ้น หงุดหงิดมากขึ้น ติดแม่มาก กลัวแม่หาย ไม่ให้แม่ไปไหนได้เลย ทั้งนี้เพราะเด็กไม่เข้าใจการแยกจากและการคืนกลับที่อยู่ภายใต้กาลเวลา จึงกลัวว่าจะโดนอีกเหมือนตอนไปโรงเรียน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะทรมานแบบนี้ไปตลอด เมื่อไปโรงเรียนได้หลาย ๆ สัปดาห์ เด็กจะเริ่มปรับตัวได้ค่ะ นั่นก็เพราะเด็กเข้าใจแล้วว่า 'การแยกจากและคืนกลับกินเวลาประมาณนี้' โดยเด็กเรียนรู้จากตารางกิจกรรมของโรงเรียน เช่น พอตื่นมา ฟังนิทานเสร็จแล้ว แม่ก็มารับ
เมื่อลูก “คาดคะเน” เหตุการณ์ได้ และแม่ก็มาจริง ๆ ใจลูกจะสงบลง การปรับตัวก็เลยเกิดขึ้น ดังนั้นพ่อแม่ต้องมารับตรงตามเวลาที่บอกเด็กไว้ เพราะจะช่วยให้เด็กมั่นใจการคาดคะเนของตนเอง
เราจะเห็นว่า เด็กปรับตัวตามประสบการณ์ที่เผชิญเองในหลาย ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเด็กอายุมากกว่า 3 ปีก็เรียนรู้ตรงนี้เหมือนกัน เพียงแต่เข้าใจเร็วกว่าก็เลยทำให้เราเห็นเขาร้องไห้สั้นกว่าเด็กเล็ก ๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ก็ไม่ร้องไห้แล้ว เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ก็พบว่า ไม่ว่าเด็กอายุเท่าไร สุดท้ายก็เข้าใจค่ะ
ได้ข้อสรุปว่า ยิ่งอายุน้อยลงเท่าไร เด็กก็ยิ่งไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งทรมานใจ ก็จะยิ่งปรับตัวนานค่ะ หมอมักแนะนำพ่อแม่แบบนี้ ถ้าเลือกได้ ขอให้รอลูกอายุ 3 ปีขึ้นไป แต่ถ้าเลือกไม่ได้ก็ขอให้อายุน้อยสุด ไม่น้อยกว่า 2 ปี เพราะถ้าเล็กกว่านี้ เด็กยังไม่ 2 ขวบจะเข้าใจเรื่องกาลเวลา การแยกจากและคืนกลับยากมาก ๆ เลยค่ะ
☺︎ เด็กที่มีทักษะสมองส่วน EF ดี พ่อแม่เลี้ยงด้วยวินัยเชิงบวก มักปรับตัวเร็วกว่าค่ะ
☺︎ เด็กที่เอาแต่ใจ ช่วยเหลือตนเองไม่เป็น พี่เลี้ยงทำให้ พ่อแม่ตามใจ ไม่ได้ฝึกวินัยเพราะคิดว่าเล็กอยู่ พอไปโรงเรียนจะมีปัญหาการปรับตัวมาก เพราะไม่มีใครตามใจและทุกอย่างต้องช่วยตนเองสุด ๆ
☺︎ เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย หรือไม่มีคนสนใจ อาจปรับตัวได้ดี เพราะอยู่โรงเรียนมีครูสนใจ (ถ้าครูสนใจนะคะ)
☺︎ เด็ก slow to warm up หรือเด็กกลุ่มปรับตัวช้า อาจใช้เวลานานกว่า แต่หมอพบว่าถ้า EF ดีก็ไม่ค่อยเห็นปัญหาเท่าไรค่ะ
โดยสรุป เลี้ยงลูกเชิงบวก สร้างสมอง EF เป็นต้นทุนเอาไว้ดีที่สุด (ช่วยเหลือตนเอง ช่วยงานบ้าน พ่อแม่ไม่ตามใจ) เพราะไม่ว่าลูกจะไปโรงเรียนหรือเผชิญปัญหาเรื่องเพื่อน หรืออื่น ๆ เขาจะปรับตัวได้เร็ว
โรงเรียนที่เด็กจะปรับตัวง่าย คือ มีนโยบายให้เด็กเรียนรู้และเล่นอิสระ มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กสำรวจ ไม่ใช่โรงเรียนเชิงวิชาการ
คุณครูที่มีจิตวิทยาในการช่วยเด็กสงบ เข้าใจเด็กจะทำให้เด็กปรับตัวเร็วขึ้น
ในทางตรงกันข้าม คุณครูที่ขู่เด็ก เช่น ...“ถ้าหนูไม่เงียบ แม่จะไม่มารับนะ”... จะยิ่งทำให้เด็กไม่อยากมาโรงเรียน เพราะเด็กกลัวตัวเองเงียบไม่ได้แล้วแม่ไม่มารับ หรือเด็กหลายคนปรับตัวได้แล้ว อยู่ ๆ เริ่มไม่อยากไปโรงเรียนก็มีค่ะ คุยไปมาพบว่า มีครูมาช่วยสอนบางคาบ ครูคนนี้ขู่เด็กว่า ...“จะไม่ให้กลับบ้าน ถ้ากินข้าวไม่หมด”... เด็กก็เลยกลัวการมาโรงเรียน เพราะถ้ากินข้าวไม่หมด จะอดกลับบ้าน ดังนั้นถ้าจู่ ๆ เด็กไม่อยากไปโรงเรียนทั้ง ๆ ที่ไม่ร้องไห้แล้ว ต้องมองหาสาเหตุที่โรงเรียน ทั้งครูและเพื่อนด้วยค่ะ หรือครูที่ดุ ตะคอก ตีเด็ก เสียงดังกับเด็ก ๆ ในห้องตลอดเวลา เด็กก็ไม่อยากมาโรงเรียนเหมือนกัน
ที่หมอบอกว่า โรงเรียนควรมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กวิ่งเล่น อิสระ เกี่ยวเนื่องมาข้อนี้ด้วย หากเด็กอยู่แต่ในห้อง ไม่มีพื้นที่ให้วิ่งเล่นตามพัฒนาการ เด็กก็ต้องซนในห้องแทน ทำให้ครูต้องดุ ตะคอก หรือตี เด็กก็ย่อมไม่อยากมาโรงเรียน
อันที่จริง ขอแค่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเองเท่านั้น ครูก็ไม่ต้องดุเด็กกับเรื่องแบบนี้ เก็บพลังงานของครูไปใช้กับเรื่องอื่นดีกว่า อีกประเด็นก็คือเรื่องเพื่อน กรณีเด็กมีปัญหากับเพื่อน ถ้าคุณครูสามารถสอดส่องและช่วยเหลือเด็กให้แก้ปัญหากันได้ ก็จะช่วยได้มากเลย
โดยสรุป 'เด็กร้องไห้ไม่ไปโรงเรียน' ต้องหาสาเหตุทุกข้อตามที่เขียนไว้ค่ะ เราไม่สามารถมองแค่มุมเดียวแล้วแก้ปัญหาได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กอายุมากกว่า 3 ปี เข้าโรงเรียนที่ครูมีจิตวิทยาดี เป็นโรงเรียนไม่เน้นวิชาการด้วย แต่เด็กก็ยังร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนนานหลายเดือน แบบนี้ต้องกลับมาดูที่บ้าน พบว่าเมื่ออยู่บ้าน เด็กเป็นศูนย์กลางของทุกคนเลย เด็กเอาแต่ใจ ไม่ชอบช่วยตนเอง ชอบสั่งพ่อแม่และพี่เลี้ยง ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหา ก็ต้องกลับมาแก้ที่บ้าน ไม่ใช่ที่โรงเรียน
ขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่ รับมือเด็ก ๆ ที่ร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน ด้วยการแยกจากในช่วงเช้าให้สั้นที่สุด อย่าลังเล ให้กอดหอมกันให้เสร็จตั้งแต่ในรถ บอกลูกว่า มารับหลังจากตื่นนอนบ่าย พอส่งให้ครูแล้วก็หันกลับเลย ถ้าพ่อแม่ไม่หวั่นไหว ลูกจะมั่นใจ
ส่วนช่วงเย็น ลูกอาจงอแงมากขึ้น ติดแม่มากขึ้น ก็ต้องมีเวลากับลูกมากขึ้นค่ะ อย่าเผลอตามใจลูกมากเกินไป ให้ใช้เวลาเล่นกับเขามากขึ้นดีกว่า และเพิ่มการฝึกลูกช่วยเหลือตัวเองอย่างใจเย็น ๆ ค่อย ๆ สอนและชื่นชมลูกมาก ๆ ลูกถึงจะปรับตัวที่โรงเรียนได้ดีค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ