432
เวลาคุณภาพ

เวลาคุณภาพ

โพสต์เมื่อวันที่ : March 15, 2021

ครอบครัว จะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อสมาชิกแต่ละคนได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกัน แบ่งทุกข์ แชร์สุข พูดคุย รับฟัง เสนอแนะ ให้ความคิดเห็น เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกันในวันที่ดี ไม่ทิ้งกันในวันที่ร้าย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในวันที่ไม่เป็นไปดังหวัง ผ่านเหตุการณ์และการเติบโตของสมาชิกในครอบครัว

 

แต่หลายครอบครัว แม้อาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้มี ‘เวลา’ ที่ดีที่ได้ใช้ร่วมกัน ไม่พูดคุย แชร์สุขแต่ไม่เคยแบ่งทุกข์ ให้แต่คำสั่งและคำตัดสินโดยไม่รับฟังไม่ทำความเข้าใจ อยู่ด้วยกันในวันที่ดี แต่ทอดทิ้งกันในวันที่ร้าย ทำร้ายกันทางร่างกายและจิตใจ เลี้ยงให้โตแค่ตัว ให้แค่ที่พักพิงให้นอนหลับโดยไร้ซึ่งปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้สร้างผลเสียและความเปราะบางให้กับความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงจิตใจและพัฒนาการตามวัยของเด็กอีกด้วย

เพราะเมื่อเด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้น เวลาเขามองย้อนกลับมาคิดถึงคำว่า ‘ครอบครัว’ เขาคงไม่ได้คิดถึงเปลือกนอกอย่างบ้านหลังโต บ้านหลังเล็ก โทรทัศน์จอใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ความร่ำรวยหรืออัตคัตขาดแคลน กระเป๋านักเรียนใบใหม่หรือปะชุนเป็นเรื่องหลัก หากแต่เป็น ‘ความรู้สึก’ ที่เขาได้รับจากบ้านหลังนี้ ครอบครัวนี้ในช่วงเวลาที่เขาเติบโต เขาอาจคิดถึงกลิ่นปาท่องโก๋กับกาแฟที่พ่อกินทุกเช้า คิดถึงสวนสาธารณะเล็ก ๆ ใกล้บ้านที่พ่อแม่พาเขาไปวิ่งเล่นด้วยกันทุกเย็น อาหารรสมือแม่ที่ไม่ได้อร่อยเท่าอาหารในภัตราคารหรู แต่ก็อร่อยที่สุดสำหรับเขา การได้เป็นผู้ช่วยที่ดีที่ช่วยแม่ขายของหลังกลับจากโรงเรียนและทุกสุดสัปดาห์ ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยที่อยู่ก็มีสุข ยามจากไปก็คิดถึงและอยากกลับมา ฯลฯ

 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเรียกว่า “เวลาคุณภาพ” (Quality Time) ที่อาจไม่ได้มีราคาค่างวดมากมาย แต่ประเมินค่าไม่ได้ในใจของลูก รวมถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่เราได้เคยผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้ายมาพร้อมกัน

 

เวลาคุณภาพ

เวลาที่ลูกได้ใช้ร่วมกับครอบครัว ซึ่งส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และจิตใจของลูก และยังส่งดีต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็กผ่านกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วในชีวิตประจำวันที่ควรทำให้สม่ำเสมอและคุ้นเคยเพื่อกระชับความสัมพันธ์และยึดเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ของครอบครัวที่ทำร่วมกัน เพราะหากไม่สม่ำเสมอ รู้ตัวอีกทีพอลูกเข้าวัยรุ่นที่มีโลกส่วนตัวสูงแล้ว การจะดึงเขากลับมาทำกิจกรรมร่วมกันก็จะยากขึ้นนั่นเอง ยกตัวอย่างเวลาคุณภาพที่ควรทำร่วมกัน ได้แก่

✚ เวลาครอบครัว ✚

ที่เปิดโอกาสให้คนในครอบครัวได้พูดคุยกันในเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว เรื่องราวส่วนตัวที่อยากแบ่งปันกันทั้งที่มีสาระและไม่มีสาระ โดยควรเปิดใจรับฟังและไม่ตัดสิน ต่อบทสนทนาได้ด้วยการสร้างคำถามปลายเปิดไม่ใช่กดดัน ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดมักเป็น “เวลารับประทานอาหาร” โดยเฉพาะมื้อเย็นที่พ่อแม่กลับมาจากทำงาน ลูกกลับจากโรงเรียนมานั่งกินข้าวร่วมกัน

 

✚ กิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ ✚

ดึงเราเข้าหาลูก ดึงลูกเข้าหาเรา สิ่งที่ง่ายที่สุดในวัยเด็กก็คือ การเล่นและการอ่านหนังสือนิทานร่วมกัน นอกจากนี้เช่น การรดน้ำต้นไม้ การทำกับข้าว งานบ้าน การเดินเล่นรอบบ้าน รวมถึงกีฬา โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำแล้วเพลิดเพลิน ยิ่งสนุก ยิ่งทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันได้มากขึ้น และยังเป็นโอกาสที่จะทำให้เราได้พูดคุยกันมากขึ้นด้วย

 

✚ การอุ้ม-กอด-บอกรัก ✚

เป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งเราและลูก เพราะความรู้สึกว่า “เรามีค่าควรรัก” เป็นเรื่องที่ดีต่อความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นในตนเองของลูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก อุ้มและกอดไปเถอะครับ เพราะอีกไม่นาน เราคงอุ้มลูกไม่ไหว และเขาคงไม่ค่อยยอมให้เรากอดแล้วเมื่อเขาเติบโตขึ้น

✚ การออกนอกบ้านไปเที่ยว ✚

แบบใกล้หรือไกลบ้านตามความเหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะได้ใช้เวลาร่วมกันทั้งวันทั้งคืน นอกจากนี้ยังช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะปรับตัวกับสถานการณ์และสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยได้อีกด้วย

 

ต้องยอมรับว่าชีวิตประจำวันของเรา ณ ตอนนี้ของพ่อแม่แต่ละคนมีเรื่องให้ทำมากมาย ทั้งงาน ทั้งการหาเงิน ทั้งการเดินทาง ทั้งปัญหาชีวิตที่แต่ละคนนั้นมีไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับ ‘เวลาคุณภาพ’ ระหว่างเราและลูกด้วยเสมอ จัดสรรเวลาให้ดี ปิดหน้าจอมือถือ แทปเล็ตและโซเชียลมีเดียเพื่อที่จะอยู่กับคนใกล้ตัวมากขึ้น เราจะพบว่าอิทธิพลของเวลาคุณภาพที่ดีระหว่างกันนั้นมีผลดีต่อลูกมากแค่ไหนในวันที่เขาเติบโตครับ