“เทคนิคเพิกเฉย” ทำอย่างไรลูกไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง
สร้างพื้นที่ให้ลูกที่ร้องไห้โวยวายได้มีโอกาสสงบลงด้วยตนเอง
บางทีพ่อแม่ก็งานยุ่ง จนไม่มีเวลาคุยกับลูก เวลามีปัญหาก็ต้องคิดคนเดียว แก้ไขคนเดียวทั้งปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน ความเครียด ความทุกข์ หรือความเศร้าที่มีไม่ถูกเล่าให้พ่อแม่ฟัง "พ่อแม่ก็ไม่รู้"
การคิดเองคนเดียวสร้างความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และเบื่อได้ แต่พฤติกรรมภายนอกอาจไม่แสดงออกชัดเจน บางคนอาจเห็นเพียงแค่ร่าเริงลดลง ซึม ๆ หรือเด็กบางคนเครียดมากก็หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ตัวเด็กก็อาจไม่รู้ว่าที่หงุดหงิดง่ายกับเรื่องเล็กน้อยนั้นมาจากความเครียดสะสมที่ไม่ได้ระบาย เด็กในยุคที่พ่อแม่ทำงานยุ่ง โดยเฉพาะเด็กโตที่เป็นวัยรุ่น จึงมักมีปัญหาทางด้านจิตใจกันเยอะ
แต่บางครอบครัว พ่อแม่พอมีเวลา แต่อาจเข้าใจผิดคิดว่าหากลูกมีปัญหาจะเข้ามาปรึกษาเอง ซึ่งเป็นจริงสำหรับเด็กบางคน แต่ไม่จริงสำหรับเด็กทุกคน เด็กมากมายไม่สามารถเดินเข้าไปเล่าปัญหาของตนเองให้พ่อแม่ฟังได้ การรอลูกเข้าหา โดยพ่อแม่ไม่สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงเอง อาจไม่ใช่วิธีการที่ดีในการช่วยเหลือลูก
เด็กที่ไม่เล่าเรื่องให้พ่อแม่ฟัง
นอกจากไม่เดินเข้าไปหาพ่อแม่เองแล้ว บางคนพอพ่อแม่ถามว่า "มีปัญหาอะไรให้ช่วยมั้ย ?" ก็จะเงียบหรือบอกว่า "ไม่มี" ความเงียบกับคำว่าไม่มีของลูก พ่อแม่ไม่ควรตีความว่า ไม่มีปัญหา เพราะลูกอาจมีปัญหาแต่ไม่สามารถเล่าออกมาก็ได้ และการที่เด็กไม่เล่าเรื่องให้พ่อแม่ฟัง ก็ไม่ได้แปลว่า "ลูกปกปิดข้อมูล" เพราะกลัวโดนพ่อแม่ดุซ้ำเสมอไป
เด็กหลายคนที่ไม่เล่า ก็มาจากความไม่เข้าใจตนเองเลยไม่รู้ว่าจะเล่ายังไง หรือบางคนหมอก็พบบ่อยที่ไม่เล่าเรื่องเครียดให้พ่อแม่ฟัง ทั้ง ๆ ที่เล่าเป็นแต่ไม่อยากเล่า เพราะกังวลว่าจะเอาความทุกข์ไปเพิ่มให้พ่อแม่ เป็นห่วงพ่อแม่ โดยลืมไปว่าตนเองก็ยังเป็นเด็ก ที่ไม่สามารถจัดการความทุกข์ได้คนเดียว
หาก "ลูกเงียบ" หรือ "ไม่ตอบคำถาม" พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน อย่าคิดว่าลูกไม่มีปัญหา พ่อแม่ต้องประเมินด้วยวิจารณญาณส่วนตัวด้วยว่า ลูกน่าจะมีปัญหาหรือไม่ โดยสังเกตจากพฤติกรรมลูก มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างมั้ย เช่น ดูหงุดหงิดบ่อยขึ้นมั้ย ไม่ค่อยร่าเริงเหมือนเดิมหรือเปล่า บ่นเครียด สมาธิไม่ค่อยดี บ่นไม่อยากไปโรงเรียน นอนไม่หลับ กินลดลงหรือกินมากขึ้นผิดปกติมั้ย
เมื่อพ่อแม่เห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ควรใส่ใจแล้ว ควรถามไถ่ลูกด้วยความเป็นห่วง ฝึกเอาไว้ให้ชิน เพราะการช่วยเหลือลูกในระยะแรกที่มีปัญหานั้น ย่อมดีกว่าปัญหาสะสมมากแล้ว อย่ามองแค่ภาพภายนอกว่าลูกขี้เกียจ นิสัยไม่ดี แล้วเอาแต่บ่นลูก เช่น ทำไมลูกขี้หงุดหงิด ทำไมลูกไม่ตั้งใจเรียน แต่ควรถามด้วยความห่วงใยว่า “เป็นอะไรหรือเปล่า เห็นลูกหงุดหงิดง่ายขึ้น มีอะไรเครียดหรือไม่สบายใจมั้ย ?” เมื่อพ่อแม่ใจเย็น มีเวลามากพอ และมีความพยายามที่จะเข้าใจลูก ลูกก็จะมีโอกาสค้นหาคำตอบด้วยตนเองและเข้าใจตนเองมากขึ้น
ถ้าหากลูกเงียบ คิดไม่ออกจริง ๆ พ่อแม่ควรช่วยลูก ด้วยการคาดคะเนสาเหตุจากบริบทของลูกเอง เช่น อาจถามว่า “เกี่ยวกับเรียนเยอะขึ้นมั้ย เพราะปีนี้เรียนมากขึ้นนี่” หรือ “เกี่ยวกับเพื่อนคนนี้มั้ย เห็นหลัง ๆ ไม่ค่อยพูดถึง”
คำถามที่มีมุมมองจากเหตุการณ์ชีวิตจริงของลูก จะช่วยให้ลูกคิดทบทวนถึงปัญหาตนเองง่ายขึ้น อย่างที่หมอบอก เด็กหลายคนเงียบ อาจเพราะไม่เข้าใจตนเอง ไม่รู้ปัญหาอยู่ตรงไหน เมื่อพ่อแม่ช่วยตีกรอบจากคำถามที่เปิดกว้าง “เป็นอะไร” “มีอะไรให้ช่วยมั้ย” มาเป็นกรอบที่แคบลง โดยใช้เหตุการณ์ในชีวิตลูก มาช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น สมองของลูกจะเรียบเรียงและทบทวนปัญหาด้วยตนเองง่ายขึ้น
หากลูกเราไม่ใช่แนวเล่าปัญหาเก่ง เราก็ไม่ควรตีความว่าลูกไม่มีปัญหาเมื่อเขาเงียบ และอย่ารอลูกมาเล่าเรื่องแล้วค่อยช่วย พ่อแม่ควรสังเกตชีวิตลูกทุกวันทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน สังเกตทั้งพฤติกรรมและอารมณ์ คุยกับลูกทุกวันด้วยความห่วงใย ไม่คุยแต่เรื่องความรับผิดชอบอย่างเดียวจนลูกเบื่อ และหากคิดว่าลูกน่าจะมีปัญหา แต่เล่าไม่เป็น ให้นำเรื่องราวในบริบทของลูกมาช่วยกระตุ้นให้ลูกค่อย ๆ คิดภาพตามนะคะ
ความใส่ใจของพ่อแม่ และความพยายามที่จะช่วยลูกค้นหาสาเหตุ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ เพียงแค่เริ่มบทสนทนา ลูกก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแล้ว ยิ่งถ้าได้รับคำแนะนำที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาต่อได้ ลูกจะยิ่งรู้สึกอบอุ่น มีพ่อแม่เป็นที่ยึดเหนี่ยว ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแน่นอนค่ะ