705
เด็กติดเกม ภัยเงียบของเด็กไทย

เด็กติดเกม ภัยเงียบของเด็กไทย

โพสต์เมื่อวันที่ : April 17, 2021

การเล่นเกมเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก เสริมสร้างความสุขในช่วงเวลาว่างได้ดี แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดโทษและกลายเป็นปัญหาตามมาได้หากใช้งานไม่เหมาะสม

 

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเล่นเกมทั่วไปและการติดเกม ซึ่งการติดเกมคือปัญหาที่ถือเป็นอาการป่วยทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา

 



เล่นเกมทั่วไป VS ติดเกม 

▸ ผู้ที่เล่นเกมทั่วไป

  • สามารถควบคุมตัวเองได้ 
  • รู้จักแบ่งเวลาในการเล่นเกมได้อย่างเหมาะสม 
  • การเล่นเกมไม่รบกวนหรือส่งผลกระทบต่อกิจกรรมประจำวัน

▸ ผู้ที่มีปัญหาติดเกม

  • เล่นเกมมากจนรบกวนกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวัน 
  • ความคิดจะวกวนอยู่กับเรื่องเกม แม้ในขณะที่ทำกิจกรรมอื่นอยู่ 
  • ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอย่างอื่นนอกจากเล่นเกม 
  • มีความรู้สึกอยากเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา 
  • หากมีสิ่งที่มาขัดขวางการเล่นเกมจะรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียว 
  • มีความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หากไม่ได้เล่นเกม 
  • ไม่มีการแบ่งเวลา โดยเวลาส่วนมากจะเอาไปเล่นเกม บางรายโดดเรียนไปเล่นเกม หรือไม่ยอมนอนเพราะมัวแต่เล่นเกม รวมถึงไม่กินข้าวตามเวลา ไม่ออกไปสังสรรค์กับเพื่อน เป็นต้น 

 

ปัญหาติดเกม

เกิดจากสมองที่คุ้นชินกับสิ่งที่ทำแล้วเกิดความสุขจึงมีความต้องการที่จะทำสิ่งนั้นบ่อย ๆ โดยจะส่งผลกระทบมากต่อกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะสมองในส่วนของการยับยั้งชั่งใจ หรือการใช้เหตุผล เด็กวัยนี้จึงควรรักษาศักยภาพของสมองเอาไว้ โดยการฝึกวินัยกับตัวเองให้มาก ๆ ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันปัญหาดังกล่าว

การดูแลเด็กและวัยรุ่นเพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกม

คือ ผู้ปกครองต้องพยายามฝึกให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น การตั้งกฎกติกาในเรื่องของระยะเวลาการเล่นเกมของเด็ก กฎกติกาเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบที่ควรมาก่อนเสมอ รวมถึงการไม่ควรให้เด็กมีเครื่องเล่นเกมหรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอนส่วนตัวของตนเอง เป็นต้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองเด็กควรดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยปะละเลย จนกระทั่งเกิดปัญหา เพราะจะแก้ไขได้ยาก 

 

โดยทั่วไปการเล่นเกมเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากใช้งานในระดับที่พอดี ก็ถือเป็นการพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง หากเด็กคนไหนสามารถแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสม ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ การเล่นเกมก็ไม่ทำให้เกิดโทษ แต่ถ้าหากพบว่าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเสพติดหรือหมกมุ่นมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาทางจิตเวชตามมา และเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ

 

ในกรณีที่ดูควบคุมไม่ได้ หรือมีอาการติดรุนแรง ควรพาเด็กและวัยุร่นพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไข ที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการหลีกเลี่ยงหน้าจอเวลามีปฏิสัมพันธ์กับลูก ควบคุมตนเองไม่ใช้หน้าจอเกินความจำเป็น และชักชวนลูกในการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ 

 

..."เพราะวินัยหน้าจอ... คือเรื่องของพ่อแม่"...