ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
Sleep Training เป็นเรื่องที่มีงานวิจัยออกมามากมาย เพื่อมีเป้าหมายเดียวกันก็คือ สร้างสุขลักษณะการนอนที่ดีให้กับเด็ก
ให้เด็กสามารถนอนหลับในช่วงกลางคืนได้นานขึ้น เริ่มนอนได้และแม้ตื่นขึ้นมากลางดึกก็สามารถกลับไปนอนหลับได้เพื่อให้สมองและร่างกายได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ดีต่อสุขภาพ ดีต่อความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และเล่นของเด็กในช่วงเวลากลางวัน โดยวิธีที่มีคนพูดถึงบ่อยและพ่อแม่ให้ความสนใจก็คือ...
✚ Cry it out ✚
โดยคุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจว่า วิธีฝึกลูกให้นอนยาวแบบวิธี Cry it out คือการปล่อยให้เด็กร้องไห้ไป ร้องไปจนกว่าจะนอนหลับไปได้เองทั้งน้ำตา ฟังแล้วก็ดูจะทรมานทั้งพ่อแม่และลูกดูน่าสงสาร จนหลายคนกลัวว่ามันอาจจะส่งผลเสียระยะยาวกับความสัมพันธ์ อารมณ์ ความรู้สึกของการถูกทอดทิ้งโดยเฉพาะช่วงการนอนที่เด็กอาจจะยังต้องการพ่อแม่เพื่อรักษาความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและอารมณ์ไป ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งดื้อ ๆ แบบนั้นในวัยที่ยังไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้เช่นกัน ทั้งแท้ที่จริงแล้วนั้นวิธี Cry it out มีหลักการและวิธีการที่ค่อนข้างชัดเจน
กุมารแพทย์คนแรกที่พูดถึงวิธีการฝึกเด็กให้นอนเองด้วยวิธี Cry it out คือ Richard Faber ในปี พ.ศ. 2528 โดยเขาไม่ได้ใช้คำว่า “Cry it out” อย่างชัดเจนแต่ต่อมากุมารแพทย์หลายคนก็ได้ประยุกต์ใช้วิธีการฝึกเด็กนอนตามแนวทาง Faber และใช้คำว่า Cry it out ในเวลาต่อมา
หลักการ Cry it out
“การฝึกให้เด็กสามารถกล่อมตัวเองให้หลับได้ด้วยตนเองโดยอาจยอมปล่อยให้เด็กร้องไห้ในระยะเวลาหนึ่งก่อนเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะเข้าไปปลอบลูก” เพราะถ้าพ่อแม่ยังคงอุ้มกล่อมหรือดูดนมจนลูกหลับไป ลูกก็จะไม่เคยได้มีโอกาสที่จะนอนหลับได้ด้วยตัวเองทั้งช่วงที่เริ่มนอนและช่วงที่ตื่นขึ้นมากลางดึก โดยสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยทำให้การฝึกการนอนด้วยวิธีนี้ประสบความสำเร็จได้ก็คือ “การเริ่มต้นที่ดี” ก่อนปล่อยลูกให้ร้องไห้จนหลับไป
เริ่มต้นการฝึกวิธีนอนแบบ Cry it out
ก็เช่นเดียวกับการฝึกการนอนทั่วไป โดยมักแนะนำให้เริ่มฝึกที่อายุ 4-6 เดือนขึ้นไป สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนก็คือ การกำหนดกิจวัตร 30-45 นาทีก่อนนอนที่ลูกจะเริ่มง่วงนอน (โดยคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสังเกตเวลาที่ลูกง่วงให้ได้ก่อนเพื่อกำหนดเวลาเข้านอนที่เหมาะสมของเขา) กิจวัตรก่อนนอนจะทำให้ลูกคุ้นเคยและคาดเดาได้ว่าอีกไม่นานจะได้เวลาเข้านอน ได้แก่ การอาบน้ำ การกินนมก่อนนอน การแปรงฟัน การอ่านนิทาน และเมื่อเริ่มง่วงก็ถึงเวลาที่จะพาลูกเข้านอน
เนื่องจากต้นกำเนิดของวิธี Cry it out มาจากประเทศตะวันตกที่ทารกจะนอนแยกห้อง-แยกเตียงกับพ่อแม่ตั้งแต่ช่วงแบเบาะ การแนะนำในการพาลูกเข้านอนก็คือ การวางลูกที่ง่วงวางลงบน ‘เตียงนอน’ (Crib) ของตัวเองในห้องของตัวเองที่ปิดไฟมืดเงียบและสงบให้เอื้อต่อการนอน บอกราตรีสวัสดิ์และร่ำลาในขณะที่ลูกยังตื่นอยู่และเดินจากออกมา เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกสามารถกล่อมตัวเองให้นอนหลับได้ และแน่นอนว่าในช่วงแรก ลูกจะประท้วงเราด้วยเสียงร้องและคราบน้ำตาซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องอดทน
พ่อแม่ต้องอดทนต่อเสียงร้องของลูกนานเท่าไร ? หากร่ำลาแล้วลูกร้องไห้ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ หันหลังกลับแล้วปิดประตูห้องนอนลูกและยอมปล่อยให้ลูกได้ร้องไห้ช่วงแรก
หากกลางดึกลูกตื่นขึ้นมาร้องไห้ ให้ใช้วิธีเดียวกับที่พาลูกเข้านอนได้เลย โดยทั่วไปเมื่อเด็กพร้อม เด็กส่วนใหญ่จะสามารถเริ่มนอนหลับได้ด้วยตัวเองภายใน 1 สัปดาห์แรก ทำแล้วต้องทำให้สม่ำเสมอ และเด็ดขาดในทุกการตื่นของลูก ไม่ใช่เข้านอน เข้มงวดมาก แต่พอลูกตื่นกลางดึกตีสองตีสามกลับอุ้มลูกขึ้นมากล่อมหรือเอาเข้าเต้า
การฝึกวินัยที่ไม่สม่ำเสมอนี้จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เสียน้ำตากันอีกครั้ง แต่หากลูกร้องไห้มาก ต่อต้านมาก ไม่ได้ผล หลังจากที่ลองฝึกด้วยวิธี Cry it out อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้พัก 2-3 สัปดาห์ก่อนแล้วค่อยเริ่มใหม่อีกครั้งก็ได้นะครับ
แน่นอนว่าวิธีนี้มาพร้อม คืนโหดที่ทั้งครอบครัวอาจต้องอดนอนไปพร้อมกัน แต่คนที่เคยฝึกลูกให้นอนนานได้สำเร็จมักบอกว่า “การฝึกลูกให้นอนนานนั้นคุ้มค่าเหนื่อยและอดนอนจริง ๆ”
แต่ความเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพบว่า วิธีการฝึกลูกนอนเองแบบ Cry it out นั้นทำได้ยากและอาจไม่เหมาะสมสำหรับครอบครัวไทยส่วนใหญ่ที่ ‘นอนร่ววม (Co-sleep) กับลูก เพราะพ่อแม่ก็นอนอยู่ตรงนั้นข้าง ๆ ลูกที่ร้องไห้นอนไม่หลับอยู่ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังกินนมแม่ซึ่งก็เห็นแม่ในความมืดและได้กลิ่นนมแม่จากเต้าที่อยู่ไม่ไกล มันยากเหลือเกินที่จะทำให้เด็กหยุดร้องไห้ได้ด้วยตัวเอง เพราะพ่อแม่ก็ไม่เคยจากไปไหนไกลสายตา และแน่นอนครับว่า ชื่อวิธีชัดเจนว่า การปล่อยให้ลูกร้องไห้ ดังนั้นวิธีนี้อาจไม่เหมาะกับหลายครอบครัวที่ความอดทนต่อเสียงร้องของเด็กทารกต่ำ เพราะกว่าจะฝึกได้ พ่อแม่เองอาจเครียดจนทำให้บรรยากาศในครอบครัวแย่ไปหมดก็ได้ครับ