5545
 การฝึกลูกนอนยาวด้วยวิธีแบบไร้น้ำตา

การฝึกลูกนอนยาวด้วยวิธีแบบไร้น้ำตา

โพสต์เมื่อวันที่ : August 9, 2021

ถ้าคุณพ่อคุณแม่เคยศึกษาวิธีการฝึกลูกให้นอนยาวด้วยวิธี Cry it out หรือเคยทดลองใช้แล้วพบว่าวิธี Cry it out ซึ่งเป็นวิธีการยอมปล่อยให้ลูกร้องไห้คนเดียวเพื่อฝึกทักษะการกล่อมตัวเองให้หลับได้

 

มันช่างโหดร้ายกับใจพ่อแม่และลูกมากเกินไป บางบ้านอาจทดลองแล้วว่า “ไม่ได้ผล” กับลูกของเรา เนื่องจากลูกนอนร่วมกับพ่อแม่ต่างจากต่างประเทศที่แยกนอนกับลูกตั้งแต่เล็ก และการที่มีลูกนอนร้องไห้อยู่ข้าง ๆ บนเตียงนอนแล้วพ่อแม่ต้องแกล้งหลับ แกล้งไม่สนใจนั้นมันไม่ไหวจริง ๆ เราคงต้องหาวิธีใหม่ที่เหมาะสมกับครอบครัวของเราแทนครับ 

No tear method

หากวิธีปล่อยให้ลูกร้องไห้ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า เด็กแต่ละคนสามารถฝึกทักษะในการกล่อมตัวเองให้นอนหลับได้ วิธีไร้น้ำตาก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า “ช่วงเวลาเข้านอน คือ หนึ่งในเวลาคุณภาพที่คนในครอบครัวจะได้ใช้เวลาที่ดีร่วมกันในบรรยากาศแห่งการนอนที่ดีในห้องที่สงบ บนเตียงนอนที่คุ้นเคย ตอบสนองลูกให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและสบายที่สุดเพื่อให้การนอนเป็นเวลาที่ดีและผ่อนคลายที่สุด” เขาเชื่อว่าสายสัมพันธ์ที่ดีและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างลูกและพ่อแม่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คนที่เชื่อในทฤษฎีของวิธีไร้น้ำตาเชื่อว่าเทคนิคการปล่อยให้ลูกร้องไห้อาจทำให้เด็กมีทัศนคติต่อการนอนที่ไม่ดีได้ในระยะยาวซึ่งหลายคนก็ไม่เชื่ออย่างนั้น 

 

ดังนั้นวิธีการฝึกลูกนอนแบบไร้น้ำตาจะขึ้นกับ “เด็ก” เป็นสำคัญ โดยมีพ่อแม่ตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกเสมอ ให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและสบายที่สุดอาจจะด้วยวิธีการนอนร่วมกับพ่อแม่ นอนในห้องเดียวกับพ่อแม่บนเตียงของลูกเอง การอุ้มกล่อม การเข้าเต้า/ให้มื้อดึกเพื่อให้ลูกสามารถกลับไปหลับได้ โดยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการนอน กิจวัตรและวินัยการนอนที่ดีด้วยเสมอ และเมื่อลูกพร้อมลูกจะเรียนรู้ที่จะนอนได้ด้วยตัวเองในที่สุด

 

คำแนะนำในการฝึกลูกด้วยวิธีไร้น้ำตา 

 

สร้างกิจวัตรที่ดีที่เอื้อต่อการนอนในช่วงกลางคืน นอนกลางวันให้เพียงพอ เล่นให้เต็มที่ ลดระดับการเล่นไม่โลดโผนก่อนนอนสักระยะหนึ่งอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง กินอาหารให้อิ่มโดยเฉพาะมื้อเย็นและนมมื้อก่อนนอน (หากยังกินมื้อก่อนนอนอยู่) 

 

สร้างกิจวัตรการเข้านอนที่ดี เข้านอนตรงเวลา มีกิจกรรมที่ทำให้คาดเดาเวลานอนได้ ผ่อนคลายและสงบ เช่น อาบน้ำ อ่านนิทานหรือกิจกรรมเบา ๆ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายมาก อ่านนิทาน ดื่มนมมื้อก่อนนอน แปรงฟันและเข้านอนพร้อมกันทั้งครอบครัว (หากทำได้)

 

หลีกเลี่ยงการเล่นของเล่นที่ชอบมากหรือหน้าจอก่อนนอน เพราะอาจทำให้ห่วงเล่นห่วงดูจนทำให้กระทบต่อการเริ่มนอนได้ อย่าทำให้เด็กเหนื่อยหรือง่วงจนเกินไปก่อนนอนเพราะอาจทำให้คุณภาพการนอนช่วงกลางคืนไม่ดี ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่ายิ่งเข้านอนเร็วและตรงเวลายิ่งทำให้คุณภาพการนอนช่วงกลางคืนดีขึ้น หากต้องการเปลี่ยนเวลาในการเข้านอนให้เร็วขึ้นอาจจะค่อย ๆ เข้านอนให้เร็วขึ้น 15-30 นาทีทุก ๆ 5-7 วัน 

 

 

สร้างบรรยากาศการนอนที่ดี ห้องนอนควรมืดเงียบสงบปราศจากสิ่งรบกวน บางบ้านอาจเปิดเพลงเบา ๆ หรือ white noise อย่างเสียงฝนตก หรือเสียงชายทะเลเพื่อสร้างความสงบให้กับลูก (ขึ้นกับลูกเป็นหลักว่าวิธีการใดที่ทำให้ลูกรู้สึกสงบและสบายที่สุด) เตียงนอนควรมีไว้เพื่อนอนเท่านั้น ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นใดบนเตียงนอน อุณหภูมิในห้องไม่ควรร้อนหรือเย็นจนเกินไปเพื่อให้คุณภาพการนอนดีที่สุด

 

ตอบสนองเสียงร้องของลูกได้ แต่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองในทุกเสียงและการเคลื่อนไหวของลูก เนื่องจากระยะของการนอนปกติของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 

 

  • การหลับปกติ หรือ Non-rapid eye movement (NREM) sleep ที่จะมีทั้งหลับตื้นลึกสลับกันไป โดยในเด็กเล็กจะมีการเข้าสู่ระยะหลับตื้นและลึกถี่กว่าผู้ใหญ่ ในช่วงหลับตื้นจะเป็นช่วงที่อาจสะดุ้งตื่นได้ ปลุกตื่นง่าย โดยอาจมีการระเมอร้องไห้ได้ 
  • ช่วงหลับฝัน หรือ Rapid eye movement (REM) sleep เป็นระยะของการนอนที่กล้ามเนื้อทั่วร่างกายคลายตัว ยกเว้นหัวใจ, กระบังลม, กล้ามเนื้อตา เป็นช่วงที่คนเราฝัน และกรอกตาเร็วไปมา

 

นั่นหมายความว่า ในช่วงหลับตื้น เด็กบางคนอาจตกใจตื่นและมีกล้ามเนื้อกระตุกได้ ในขณะเดียวกัน เด็กเล็กก็อาจละเมอ อาจร้องไห้ อาจนอนพลิกตัวไปมา ซึ่งหลายครั้งที่เด็กเล็กพลิกตัวก็อาจจะสะดุ้งตื่นขึ้นมาได้ เหมือนนอนหลับไม่สนิทแต่จริง ๆ แล้วลูกยังนอนหลับอยู่ นั่นหมายความว่า หลายครั้งที่ลูกร้องไห้ในช่วงกลางคืนอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระยะการนอนแบบ Non-rapid eye movement (NREM) โดยเฉพาะการหลับตื้นที่ไม่ต้องการพ่อแม่เข้าไปทำอะไรเพิ่มเติม ห้ามปลุกเด็ก เพราะเมื่อเข้าไปปลุกเด็กจนเคยชินติดนิสัยที่ต้องตื่นมากลางดึกเพื่อให้พ่อแม่กล่อมให้เขาหลับต่อได้ 

 

 

แต่หากตื่นจริง ร้องไห้จริง คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปกล่อมให้นอนนอนหลับต่อด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การอุ้ม การให้นมและอ้อมกอด เป็นต้น แต่แนะนำว่าไม่ควรเปิดไฟ ไม่ควรทำเสียงดัง (ไม่ว่าจะร้องเพลงหรือพูดคุยกับลูก) ไม่ควรอุ้มขึ้นเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายของลูกมากเกินไปเพื่อให้การกล่อมให้ลูกกลับไปหลับได้เร็วที่สุด 

 

หลักการของ "วิธีไร้น้ำตา" อาจใช้เวลายาวนานกว่าวิธีปล่อยให้ลูกร้องไห้เพื่อกล่อมตัวเองให้นอนหลับได้ แต่หากเราสามารถจัดการกับกิจวัตรประจำวันได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการกินมื้อเย็น การทำกิจกรรมก่อนนอนที่คาดเดาได้ และการสร้างบรรยากาศการนอนที่ดี ในที่สุดเมื่อลูกค่อย ๆ โตขึ้นเขาจะเริ่มนอนยาวขึ้นได้ด้วยตัวเองแต่อาจจะต้องมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามหากลูกยังคงกินนมมื้อดึกเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้เขากลับไปหลับได้หลังฟันน้ำนมเริ่มขึ้นแล้ว ต้องค่อย ๆ วางแผนในการงดมื้อดึกด้วยการลดปริมาตรนมที่กิน (หากกินผ่านขวดนม) หรือลดเวลาในการกิน (หากกินแบบเข้าเต้า) ลงร่วมกับการดูแลสุขภาพฟันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการแปรงฟันและการติดตามกับทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ