พัฒนาทักษะ STEAM ผ่านงานบ้าน
แต่ละครอบครัวมีงานบ้านอะไรบ้างที่มอบหมายให้เด็ก ๆ ช่วยทำ ?
คุณเคยรู้สึกไหมครับว่า “ทำไมลูกถึงติดแม่จัง” แล้วคุณเคยรู้สึกว่าการติดแม่ของลูกนั้นเป็นปัญหาสำหรับคุณหรือไม่ บางคนติดแม่แบบทั่วไป อยากอยู่ใกล้แม่ อยากเห็นหน้าแม่ อยากให้แม่อุ้ม
ในขณะที่อีกหลายคน “ระดับ” การติดแม่ดูเยอะและรบกวนการใช้ชีวิตของคนทั้งครอบครัว ในระดับที่ว่า “ถ้าสิงคุณแม่ได้ ลูกคงสิงไปแล้ว” แล้วการติดแม่แบบไหนปกติ แบบใดจึงต้องเริ่มกังวล และแบบใดที่ต้องการการดูแลอย่างเหมาะสม วันนี้เรามาทำความเข้าใจกัน
“การติดแม่” คือ เรื่องของความผูกพันกับ “แม่ที่มีอยู่จริง”
เพราะทารกถือกำเนิดขึ้นมาจากร่างกายของแม่ ทันทีที่เขาร้องไห้ อ้อมกอดที่อบอุ่นปลอบโยนเขาทำให้เขารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น ทันทีที่เขาหิว น้ำนมที่สร้างจากเต้านมที่แสนอบอุ่นทำให้เขาอิ่มท้องอิ่มนมตั้งแต่วันแรกที่เขาลืมตามองโลกใบนี้ ทำให้เขานอนหลับพักได้ กลิ่นกายของแม่ เสียงของแม่ไม่ว่าจะเป็นเสียงฮัมเพลงกล่อมนอนและเสียงที่แม่คุยกับเขาตั้งแต่อยู่ในท้องและในทุกวันที่เขาเติบโต หน้าตาของแม่ ตาคู่นั้น คิ้วคู่นั้น ริมฝีปากที่พูด ที่หอมแก้มเขา มือที่แสนอบอุ่น อ้อมกอดที่ประเมินค่าไม่ได้
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “แม่” ที่ลูกได้เห็น ได้สัมผัสตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงยามหลับตานอน แม่ที่ลูกคุ้นเคย และผูกพัน เด็กก็รู้สึกผูกพัน ก็รู้สึกอยากเห็นหน้า ได้กลิ่น ได้ความอบอุ่นจากแม่ และเมื่อวันที่เขาเติบโตเริ่มจำแม่ได้ เด็กจึงเริ่มิดแม่มากขึ้น ๆ นี่คือเรื่องปกติ
การติดแม่ คือ เรื่องของ “พัฒนาการตามวัย”
ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 4 เดือน ทารกทำความรู้จักกับ “แม่” ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าที่ค่อย ๆ พัฒนาให้เฉียบแหลมมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามการพัฒนาของสมองและเส้นประสาท ตาเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น จากภาพขาวดำกลายเป็นภาพสี จากที่มองได้ชัดในระยะใกล้ ๆ เหมือนคนสายตาสั้นก็เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนและไกลมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด เด็กเริ่มมีความทรงจำ
หลังอายุ 4 เดือน ทารกจะเริ่มจดจำใบหน้าและเสียงของผู้เลี้ยงหลักได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่คอยตอบสนองและเล่นกับเขามาตลอดตั้งแต่แรกเกิด และเริ่มสร้างความผูกพันอย่างชัดเจนขึ้นระหว่างเขาและผู้เลี้ยง ระหว่างแม่และลูก หลังอายุ 6 เดือน เมื่อเด็กเริ่มจดจำใบหน้าของแม่ และจำแนกใบหน้าของคนที่ไม่คุ้นเคยออกจากกันได้ เด็กจะเริ่มรู้จัก “การพลัดพราก” และเริ่มร้องไห้กังวลเสียใจเมื่อพลัดพรากจากพ่อแม่ หรือที่เรียกว่า “Separation Anxiety” ซึ่งเด็กแต่ละคนจะตอบสนองต่อความรู้สึกพลัดพรากจากพ่อแม่ไม่เท่ากัน นั่นคือจุดเริ่มต้นของ “การติดแม่” นั่นเอง
โดยส่วนใหญ่ การติดแม่ของเด็กจะมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังอายุ 6 เดือนจนกระทั่งอายุ 1-3 ปี และจากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามพัฒนาการของเด็ก โดยมักไม่ติดแม่มากแล้วเมื่ออายุ 5-7 ปีเป็นต้นไป
การติดแม่ อาจทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเด็กรู้สึก “ไม่ปลอดภัย”
อย่างที่บอกว่า เด็กติดแม่ คือ เด็กปกติ แต่เด็กหลายคนก็ติดมากกว่าปกติ ติดแบบอยากเป็นอวัยวะหนึ่งบนร่างกายของแม่ที่ต้องเคียงคู่ไปที่ทุกที่ทุกเวลา ถ้าสามารถเอาเชือกมัดให้ติดกับแม่ได้ 24 ชม. เด็กหลายคนคงทำแล้ว กระทั่งช่วงที่แม่ต้องเข้าห้องน้ำก็ไม่หวั่น ขอเข้าไปเฝ้าด้วยคน
การติดแม่จะทวีความรุนแรงหนักมากขึ้นเมื่อลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่เจ็บป่วย ช่วงเข้าโรงเรียนหรือย้ายโรงเรียนใหม่ การมีน้องเข้ามาในครอบครัว หรือเด็กที่แม่ชอบ “หายตัว” ประหนึ่งนินจา ไปไม่ลา มาไม่บอก นึกจะไปไหนก็ไปโดยที่คาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะหากคุณแม่ไม่ค่อยทำตามสัญญา บอกจะมาก็ไม่มา เด็กจะกลัวแม่หายไปและไม่กลับมามากกว่าปกติ มีความวิตกกังวลจากการพลัดพรากมากกว่าปกติ
ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่ควรทำก็คือ เข้าใจในพัฒนาการตามวัยและการติดแม่ของลูก โดยไม่ว่าลูกจะติดแม่สักเพียงใด อย่าดุ อย่าว่ากล่าวที่ลูกติดแม่ เพราะเขารู้สึกไม่ปลอดภัย เขาจึงติดแม่ หากดุด่ายามที่ลูกยามที่เขาต้องการเรา มีแต่จะเสียใจทั้งสองฝ่าย อย่าลืม “อยู่ตรงนั้นเพื่อเขา” ให้ความปลอดภัย สร้างความมั่นใจว่า “แม่อยู่ที่นี่ข้าง ๆ หนู” คุยกับลูกให้มั่นใจว่า “แม่ไม่ได้ไปไหน” หากคุณแม่ต้องทำงานหรือห่างจากลูก บอกให้ชัดและให้คาดเดาได้ว่าแม่อยู่ไหน ไปลามาบอกเสมอ จะไปไหนก็บอกลาให้ชัด และกลับมาให้ตรงเวลา (หากทำได้)
ที่สำคัญคือ สร้างตัวตน (autonomy) ให้กับลูก สร้างความรู้สึก “มีค่า” และ “เป็นที่รัก” ให้กับลูก สร้างความภาคภูมิใจ และฝึกฝนให้ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จะยิ่งทำให้เด็กอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงแม่ง่ายขึ้น งานบ้าน กิจวัตรประจำวันของตนเอง หากลูกทำได้ดี ชมเยอะ ๆ ครับ ทุกอย่างจะดีขึ้น ๆ และดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับในทุกวันที่ลูกเติบโต