788
ทำไมพ่อแม่ควรอ่านหนังสือนิทานกับลูก

ทำไมพ่อแม่ควรอ่านหนังสือนิทานกับลูก

โพสต์เมื่อวันที่ : September 21, 2021

❤︎ ช่วยเตรียมความพร้อมให้ลูกสำหรับการเรียนรู้ ❤︎

เด็กที่จะเรียนรู้ได้ดี ขั้นแรก เขาควรจะเป็น “ผู้ฟัง” ที่ดีก่อน การอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง ทำให้เด็กได้ฝึกการเป็นผู้ฟัง เมื่อเด็กเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว เขาจะสามารถรับสารจากเราได้ครบถ้วน และสามารถนำสารเหล่านั้นไปประมวล และคิดต่อยอดได้เอง

 

❤︎ ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษา ❤︎

นิทานมีมากกว่าความสนุก เด็ก ๆ ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ในทุก ๆ หน้าที่อ่านไปพร้อมกัน เด็ก ๆ ที่ได้ฟังนิทาน พวกเขาได้เรียนรู้คำนาม คำกิริยา คำคุณศัพท์ คำใหม่ ๆ มากมาย

 

❤︎ ช่วยพัฒนาสมอง ❤︎

มีคำกล่าวที่บอกว่า ...“เมื่อเราอ่านหนังสือ เหมือนเราได้ออกไปผจญภัยด้วยตัวเองจริง ๆ”... เวลาเราอ่านหนังสือให้เด็กเล็ก ๆ ฟัง สมองพวกเขาทำงานราวกับพวกเขากำลังเผชิญเรื่องราวในหนังสือจริง ๆ เช่น เมื่อเราอ่านเรื่องราวที่มีตัวละครเตะฟุตบอล สมองที่ทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจะถูกกระตุ้นขึ้นมาทันที เมื่อเราอ่านหนังสือที่ตัวละครต้องสัมผัสกับน้ำมูกของเจ้าช้างที่แสนจะเหนียวเหนอะหนะ สมองของเด็กส่วนการรับสัมผัสก็ได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน ราวกับเด็ก ๆ ที่ฟังนิทานได้ไปประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้จริง ๆ

 

 

นอกจากนี้ “สมองที่ทำงานเกี่ยวกับด้านความจำ”​ ก็ได้รับการกระตุ้นอย่างดี เพราะเวลาเราอ่านหนังสือ เด็ก ๆ จะต้องจดจำตัวละคร และเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำความเข้าใจเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในหน้าถัด ๆ ไป การอ่านนิทานนอกจากจะช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กในด้านการเรียนแล้ว ยังช่วยเตรียมสมองของพวกเขาให้เรียนรู้ได้ตลอดชีวิตของพวกเขาอีกด้วย

 

❤︎ ช่วยให้เด็กมีสมาธิ ❤︎

การฟังหนังสือนิทานทำให้เด็ก ๆ ต้องใช้คงความสนใจหรือจดจ่อกับเรื่องราวในหนังสือนิทานพอสมควร จึงจะเข้าใจเรื่องราวของนิทานเล่มนั้นได้ ดังนั้นการอ่านนิทานอาจจะเป็นเพียงความสนุกเพียงไม่กี่อย่างที่เด็ก ๆ สามารถสนุกได้เมื่อนั่งนิ่ง ๆ และใช้จินตนาการของพวกเขา

 

นอกจากนี้ “หนังสือ” ได้นำเสนอเรื่องราวผ่านกระดาษทีละเเผ่น ทำให้เด็ก ๆ ต้องรอคอยเพื่อเปิดไปอีกหน้าหนึ่ง และฟังเรื่องราวต่อ ผนวกกับภาพที่ปรากฏบนกระดาษไม่ได้พิเศษอะไร เด็ก ๆ จึงต้องใช้สมาธิมากกว่าการฟังนิทานในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว และน่าดึงดูดใจกว่าใน Youtube และการอ่านใน Tablet

 

❤︎ ส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบมากขึ้น ❤︎

ในเด็กเล็ก การที่พ่อแม่เป็นผู้อ่านหนังสือนิทานให้ฟังป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะถ้าหากให้เขาอ่านคนเดียวหรือฟังนิทานจาก Tablet หรือ Youtube พวกเขาจะทำได้เพียงเรียนรู้จาการรับสาร (Passive learning) คือ “ดู และ ฟัง” แต่เมื่อเขาเกิดคำถามหรือสงสัยสิ่งที่เกิดขึ้นในนิทาน จะไม่มีใครคอยตอบคำถามเขา 

 

ดังนั้นการอ่านหนังสือกับลูก จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกทั้งการรับสาร และเรียนรู้ที่จะคิดเพื่อซักถามข้อสงสัยกับเรา (Active learning) ขอเพียงโอกาสที่เราได้อยู่ตรงนั้นกับลูก การเรียนรู้ของเขาจะเปลี่ยนไป

 

 

❤︎ ทำให้เด็กเป็นคนกว้างขวางและยอมรับความแตกต่างได้ดีขึ้น ❤︎

หนังสือนิทานไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เพียงเรื่องราวของคนเพียงเชื้อชาติเดียวเท่านั้น นิทานหลายเรื่องมีคนหลากหลายเชื้อชาติผลัดกันมาเป็นตัวเอก ไม่เพียงแค่คนเท่านั้น แต่มีนิทานหลายเรื่องที่ตัวละครเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คน ไม่ว่าจะเป็น คุณหมี คุณจระเข้ คุณหนู คุณกระต่าย และอื่น ๆ อีกมากมาย นิทานบางเรื่องยังมีตัวละครที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อีกด้วย เช่น ดินสอ แปรงสีฟัน รถยนต์ เป็นต้น

 

ส่วนฉากในหนังสือแต่ละเรื่องนั้นก็แปรเปลี่ยนไปตามเรื่องราว และตัวละคร ความหลากหลายที่ปรากฎ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ความหลายหลากทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม และวิถีปฏิบัติ ความแตกต่างที่เด็กได้เรียนรู้ทำให้เขาเป็นเด็กที่กว้างขวาง รู้รอบ และยอมรับสิ่งที่ไม่เหมือนกับเขาได้ดี เด็กที่ยอมรับความแตกต่างได้ จะมีแนวโน้มเข้าใจผู้อื่น และปรับตัวกับสังคมได้ดีเช่นเดียวกัน

 

 

❤︎ ช่วยสร้างจินตนาการและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ❤︎

หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เด็กได้จากการอ่านหนังสือ คือ “จินตนาการ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” เวลาเด็กมองไปยังหน้าในแต่ละหน้าในหนังสือ พวกเขาไม่ได้เห็นเพียงภาพและตัวอักษรที่แน่นิ่ง ภายในความคิดของเขา ภาพต่าง ๆ กำลังเคลื่อนไหวด้วยเวทมนตร์ที่ชื่อว่า “จินตนาการ” เราสามารถมองเห็นแววตาที่เปล่งประกาย พร้อมกับรอยยิ้มบนใบหน้า และได้ยินเสียงหัวเราะของพวกเขาเวลาเราอ่านหนังสือไปพร้อมกัน

 

นอกจากนี้ เมื่อเรื่องราวในหนังสือจบลง เด็ก ๆ จะนำบทเรียน ข้อคิดหรือสิ่งต่าง ๆ จากในหนังสือนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงของพวกเขาด้วย ส่วนในเด็กเล็ก พวกเขาอาจจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างเรื่องราวของพวกเขาต่อจากนิทานในชีวิตจริง ซึ่งผู้ใหญ่อย่างเราสามารถมองเห็นเรื่องราวเหล่านั้นได้ผ่านการเล่นของพวกเด็ก ๆ

 

❤︎ ช่วยให้เด็กพัฒนา “ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy)” ❤︎

เมื่อเด็กสามารถเข้าใจเรื่องราวในหนังสือ บางครั้งเขาจะจินตนาการว่า “ตัวเองเป็นตัวละครในหนังสือ” เมื่อตัวละครประสบกับเหตุการณ์อะไร เด็กจะเกิดความรู้สึกร่วมกับตัวละคร (เหมือนเวลาผู้ใหญ่เราดูละครแล้วอินตามตัวเอกนั่นเอง) ทำให้เด็กพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกขึ้นมา เขาเรียนรู้ว่าเหตุการณ์แบบไหนที่ทำให้ตัวละครมีความสุข เศร้า โกรธ หรือ อื่น ๆ ทำให้เด็กสามารถคาดเดาได้เมื่อเจอกับเหตุการณ์จริงว่า “ผู้อื่นน่าจะรู้สึกอย่างไร ?”

 

❤︎ ความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง ❤︎

ในปัจจุบันเทคโนโลยีเขามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น สำหรับเด็กเล็กที่เคยชินกับการใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอ Tablet มากกว่าใช้นิ้วชี้ภาพในหนังสือนิทาน พ่อแม่ต้องเป็นผู้ชวนเขามานั่งอ่านหนังสือด้วยกัน การอ่านหนังสือกับเด็กเล็กเป็นความบันเทิงเทียบเท่ากับการดูโทรทัศน์ หรือ เล่นเกมเลยทีเดียว เเค่เพียงเราต้องเป็นผู้หยิบยื่นโอกาสนั้นให้กับเขา

 

มีการศึกษามากมายที่พบว่า ...“ถ้าหากเราอ่านหนังสือกับลูกตั้งแต่เล็ก เด็กจะมีแนวโน้มหยิบหนังสือมาให้พ่อแม่ของเขาอ่านในเวลาว่าง และเมื่อเด็กโตพอจะเปิดดูภาพด้วยตัวเขาเอง เขาจะเลือกหนังสือแทนเทคโนโลยีอื่น ๆ”...

 

❤︎ ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก ❤︎

สำหรับพ่อแม่ที่ทำงานมาทั้งวัน การนอนกอดลูก และอ่านหนังสือนิทานก่อนนอนกับเขา แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ของวัน แต่สำหรับลูกแล้ว มันมีค่ามากมาย

 

“การอ่านหนังสือ” จำเป็นจะต้องปลูกฝังให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่พวกเขายังเยาว์วัย เราสามารถอ่านหนังสือให้เด็กในท้องและเด็กแรกเกิดฟังได้ เพราะถึงแม้ว่า เขาจะยังไม่เข้าใจ แต่พวกเขารับรู้เสียงของพ่อแม่ได้ ซึ่งทำให้คุณค่าจากการอ่านหนังสือนิทานให้พวกเขาฟังได้เกิดขึ้นแล้ว นั่นก็คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูก” นั่นเอง