
"หน้าจอ" กับเด็กประถม : ใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างไรให้ “พอดี”
สื่อเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากใช้ “พอดี”
❤︎ 1. ตั้งสติ นั่งลงใกล้ลูก ❤︎
เด็กจะสงบง่ายขึ้น ถ้าพ่อแม่มีความมั่นคงใกล้ ๆ ลูก
❤︎ 2. พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจ ❤︎
เช่น “ลูกเป็นอะไรจ้ะ” หรือ “ลูกกลัวอะไร ?” เสียงที่พร้อมเข้าใจทำให้ลูกผ่อนคลาย สามารถตั้งสติเองง่ายขึ้น ไม่ใช่ “ทำไมลูกต้องกลัว ? “ไม่เห็นมีอะไรเลย !” เสียงที่ไม่เข้าใจ ทำให้ลูกรู้สึกโดนตำหนิ จะยิ่งกังวล
❤︎ 3. แสดงความ “เข้าใจ” (แต่ไม่ใช่โอ๋) ❤︎
“แม่เห็นแล้วจ้ะ ลูกกำลังรู้สึกกลัว” (น้ำเสียงมั่นคง ไม่หวั่นไหว)
❤︎ 4. ตั้งคำถามเพื่อให้ลูกทบทวนและระบาย ❤︎
”ลูกกลัว(สิ่งนี้)ตรงไหนเหรอ” เช่น...
“ลูกกลัวหมาตรงไหน เสียงดัง ๆ ตอนเห่าหรือกลัวมันกัด”
“เคยเจอหมาดุๆที่ไหนเหรอ”
พ่อแม่หลายคนเพิ่งรู้สาเหตุตอนลูกเล่า เช่น รู้ว่าช่วงที่พี่เลี้ยงพาเดินเล่นผ่านข้างบ้าน หมาในบ้านเขาเห่าและกระโจนใส่รั้ว (ถึงแม้หมาไม่ได้วิ่งออกมา แต่ท่าทางที่น่ากลัวของมัน ทำให้เด็กกลัวได้) เมื่อพ่อแม่รู้ที่มาที่ไป จะช่วยให้เราแก้ปัญหาความกลัวลูกได้ตรงจุด (อ่านข้อ 7)
ส่วนพ่อแม่ที่รู้สาเหตุแล้ว ก็ยังแนะนำให้ถามค่ะ เพราะต้องการให้ “ลูกคิดทบทวน” เมื่อสมองทบทวนจะทำให้เด็กเข้าใจตนเอง รู้ว่ากลัวอะไร เพราะอะไร เมื่อภาพในสมองชัด ก็ทำให้การจัดการความกลัวเกิดขึ้นได้ตรงจุดเช่นกัน เด็กบางคนที่ได้ระบาย และมีพ่อแม่แสดงท่าทีเข้าใจ ความกลัวจะลดระดับลงได้บ้าง
❤︎ 4.ไม่แนะนำให้โอ๋ เพราะลูกจะไม่เข้มแข็ง ❤︎
เช่น ...“มาแม่กอด ไม่มีอะไรแล้ว ไม่ต้องกลัวลูก”... การโอ๋ ทำให้ลูกปลอดภัยแบบพึ่งพิงค่ะ ไม่ใช่ปลอดภัยแบบจัดการตนเองได้ อาจทำให้ติดใจการพึ่งพิง ต้องการคนช่วยปลอบไปเรื่อย ๆ
ความเข้าใจและความเข้มแข็งของพ่อแม่ที่นั่งอยู่ใกล้ลูก เป็นความมั่นคงปลอดภัยที่ดีกว่า (ถ้าลูกกลัวมาก ๆ ให้พาออกจากพื้นที่นั้น แล้วทำตามเสต็ป ไม่แนะนำพาออกแล้วโอ๋หรือฝืนให้อยู่ต่อและโอ๋)
❤︎ 5.ไม่รีบพูดคำว่า “ไม่เป็นไร ไม่เห็นน่ากลัวเลย” ❤︎
พ่อแม่มักคิดว่าคำนี้จะทำให้ลูกหายกลัว แต่จริง ๆ แล้ว หากใจลูกยังกลัวมากอยู่ คำนี้จะทำให้ลูกกังวลเพิ่ม เพราะรู้สึกพ่อแม่ไม่เข้าใจ (ลูกกลัวแต่พ่อแม่บอกไม่น่ากลัว)
หมอแนะนำให้พูดเมื่อรู้สึกว่าลูกสงบในระดับหนึ่ง คือ ลูกเข้าใจตนเอง และจัดการอารมณ์ตนเองพอได้ และกำลังอยากลองความกล้าหาญ พอพ่อแม่บอกไม่น่ากลัวเลยนะ เขาจะลองทำตามดูหรืออีกกรณีคือเด็กไม่กลัวมาก พอฟังแล้วอาจเรียกสติ ทำให้กล้าขึ้นมา คำว่า “ไม่เป็นไร.. ไม่น่ากลัวเลย” ควรพูดตอนลูกอยากลองดูเอง
❤︎ 6. เจ้าของความรู้สึกต้องเป็นคนจัดการเอง ❤︎
จากข้อ 1-5 จะเห็นว่าลูกเป็นคนเล่า ได้พูด ได้ทบทวน ได้ระบายออก รวมทั้งได้สงบอารมณ์ลงเอง โดยมีพ่อแม่นั่งใกล้ ๆ ด้วยท่าทีที่เข้าใจและเข้มแข็ง ตั้งคำถามให้ลูกค่อย ๆ คิดเป็นระยะ ไม่รีบเร่งให้ลูกหายกลัวไว ๆ จะเห็นว่า “พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจลูก” ก็จะช่วยให้ลูกสะกดใจตนเองได้ เพื่อจะทำข้อต่อไป
มีพ่อแม่หลายท่าน ไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องที่ลูกกลัว จริง ๆ แล้ว การไม่คิดถึงเรื่องที่กลัว ไม่ใช่การจัดการความกลัว ความกลัวไม่ได้ไปไหน มันยังซุกอยู่ใต้พรม หากมีเหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้น เด็กจะรู้สึกกลัวขึ้นมาใหม่ พ่อแม่จึงควรเปิดใจรับฟังและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจให้ลูก
❤︎ 7. สร้างประสบการณ์ใหม่แทนของเดิม ❤︎
(ทำเมื่อลูกสบายใจขึ้นแล้ว คือ ผ่าน 1-6 มาแล้ว)
เราจะใช้วิธีค่อย ๆ ให้เจอทีละน้อย เน้นให้เด็กค่อย ๆ สะสมประสบการณ์ดี ๆ งดประสบการณ์กลัวแบบรนรานด้วย เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจด้วยตนเอง ไม่ใช่จากคำพูดคนอื่น สะสมประสบการณ์นี้ไปเรื่อย ๆ ในที่สุดเด็กก็มั่นใจเต็มร้อย กล้าเผชิญสิ่งนั้นได้ ไม่กลัวอีกต่อไป (แต่ความกลัวบางอย่างก็อยู่ลึกมาก อาจต้องให้แพทย์ช่วย)
เช่น ลูกกลัวผี กลัวเข้าห้องน้ำคนเดียว บอกลูกว่า ...“แม่จะรออยู่หน้าห้องน้ำ ไกลออกไปประมาณ 4- 5 ฟุตแทนการอยู่หน้าประตูเลย”... หรือแทนที่จะเปิดประตูอ้าไว้ 100% ให้แง้มประตูในระดับที่เห็นคนข้างนอกได้ก็พอ
เมื่อลูกยอมรับข้อตกลงนี้ และทำได้จริง ให้ชื่นชมลูก พ่อแม่ต้องคิดแบบนี้ค่ะ ทำได้ทีละนิด ๆ ถือว่าเก่งแล้วสำหรับคนที่กลัวมาก แล้วเราก็ค่อย ๆ ให้ยากขึ้นอีกนิด เช่น แม่จะรอลูกไกลออกไปอีกนะ ไปนั่งรอที่โซฟาแทนหน้าห้องน้ำหรือลูกปิดประตูอาบน้ำเลย ไม่ต้องแง้มแล้ว แม่จะคอยส่งเสียงคุยแทนนะ เป็นต้น
ความสำเร็จทีละนิด ๆ ในแต่ละความยากที่เพิ่มขึ้น คือกุญแจของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ในตอนสุดท้าย (วิธีนี้ ไม่มีการบังคับลูก) เด็กขี้กลัว ขี้กังวล มักมีเรื่องกลัวมากกว่า 1 อย่าง บางทีลูกอาจมีความกลัวอื่นๆซุกอยู่ใต้พรมร่วมกัน อาจเกี่ยวกับเพื่อนแกล้ง กลัวการสอบ กลัวพ่อแม่ด่า ตี หรือขู่ ฯ ดังนั้นทำตามที่แนะนำแล้ว ก็ควรค้นหาความกลัวอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้พรมลูกด้วย
รับฟัง เปิดช่องทางการสื่อสารด้วยท่าทีเข้าใจ ไม่โอ๋ ไม่ตัดบท อยู่ใกล้ ๆ ลูกอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว ลูกจะระบายของเน่าของเสียที่ซุกเอาไว้ทั้งหมดออกมาเองค่ะ เมื่อคนเรารู้สึกกลัว สิ่งที่ทำให้สบายใจได้ มักไม่ใช่เหตุผลดี ๆ แต่คือการได้อยู่กับคนที่กำลังใจดีและมั่นคงต่างหาก
...“จงเป็นความมั่นใจของลูก เพื่อให้ลูกจัดการความกลัวได้นะคะ”...