ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
วิธีช่วยให้ "เด็กขี้แย" จัดการอารมณ์ตนเองเป็น คิดแก้ปัญหาเป็น
❤︎ 1. ยอมรับลูก ให้ได้ก่อน ❤︎
พ่อแม่ต้องยอมรับว่าลูกอ่อนแอ อย่าดุ อย่าตำหนิ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกกลัวจนต้องซุกความกลัวเอาไว้ แล้วมาร้องไห้ในภายหลัง การยอมรับหมายถึง พ่อแม่ต้องทำใจให้ได้ว่าลูกขี้แย ไม่ตัดสินต่อว่าเด็ก และไม่ให้โอ๋เด็กด้วย เด็กขี้แย ห้ามโอ๋เด็ดขาดจะยิ่งขี้แยนะคะ
❤︎ 2. สะท้อนความรู้สึกลูกด้วยท่าทีมั่นคงแทนการโอ๋ ❤︎
พ่อแม่นั่งใกล้ ๆ ลูก อย่าโอบกอดจนกลายเป็นโอ๋ พูดกับลูกตามอารมณ์ของเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น ...“ลูกเสียใจที่เพื่อนเอาของเล่นไปใช่มั้ย”... ...“ลูกโกรธน้องที่ไม่เชื่อฟังใช่มั้ย”... และที่สำคัญ อย่าลืมสะท้อนความรู้สึกที่เด็กมีต่อตัวเอง คือ ลูกโกรธตัวเองที่ไม่เข้มแข็งด้วยใช่มั้ย ? เด็กที่อ่อนแอทุกคน มีความโกรธตัวเองซุกเอาไว้
..."พ่อแม่ที่สะท้อนความรู้สึกลูกได้อย่างมั่นคง ไม่ร้อนรนโกรธลูก หรือมีท่าทีเบื่อหน่ายลูก ลูกจะเข้มแข็งได้เอง"...
❤︎ 3. ให้เวลาลูกระบายและสงบเอง ❤︎
เมื่อสะท้อนความรู้สึกลูกไปแล้ว เสียงร้องไห้ลูกยังอยู่ก็ต้องให้เวลาเขา เขาจะไม่เงียบเร็วเพราะเราไม่โอ๋และไม่ช่วยเขาแบบเดิมแล้ว ครั้งนี้เป็นหน้าที่ของลูกที่จะสงบเอง นี่แหละขั้นตอนของเด็กเข้มแข็ง ไม่พึ่งพิงเรา ตอนรอลูกสงบ อย่าพูดปลอบใจ อย่าพูดอะไรให้ลูกดีขึ้น ให้ลูกใช้เวลากับตัวเอง เขาจะระบายอะไรออกมาก็ฟังเขา เคารพลูกนะคะ (หากอยากพูด รอข้อต่อไป)
❤︎ 4. สอนวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ ❤︎
เมื่อหมดน้ำตาแล้ว พ่อแม่ทำหน้าที่สอน ขอให้กระตุ้นลูกใช้สมองคิดวิเคราะห์หรือแก้ไขปัญหานั้นก่อน อย่าเพิ่งรีบบอกลูกว่าต้องทำยังไง เช่น เรื่องเพื่อนเอาของไป ...“ลูกลองคิดดูว่า จะแก้ไขยังไงที่เพื่อนจะไม่เอาไป”... หรือ เรื่องน้องไม่เชื่อฟัง ถามลูกให้วิเคราะห์ว่า ...“ทำไมถึงอยากให้น้องเชื่อฟัง”... เมื่อหาสาเหตุได้ ก็จะแก้ไขได้ค่ะ
ที่สำคัญ อย่ารีบบอกวิธีของเราใส่สมองลูก เพราะลูกจะไม่คิดเอง... ให้กระตุ้นสมองลูกคิดก่อน พยายามตั้งคำถามหลากหลายแบบ จนกว่าจะเห็นว่า ลูกตอบมาหลายวิธีแล้วก็ยังไม่ได้ พ่อแม่ก็ค่อย ๆ บอกลูกนะคะ และอย่าลืมติดตามวันต่อวันด้วยว่า เป็นอย่างไร ? ดีขึ้นไหม ? ต้องหาวิธีอื่นต่อไหม ?
❤︎ 5. เลี้ยงลูกให้เข้มแข็ง ❤︎
ชีวิตประจำวัน อย่าปล่อยให้ลูกมีชีวิตแค่เรียนกับเล่นและดูจอ โดยไม่มีกิจกรรมสร้างคุณสมบัติของเด็กเข้มแข็งเลย พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้อดทน เข้มแข็ง อย่าขี้เบื่อ เหนื่อยง่าย อย่าให้รักสบาย, งานตัวเองและงานบ้านลูกต้องรับผิดชอบ และต้องพาทำกิจกรรมีที่ฝึกความเข้มแข็ง เช่น กีฬา หรือหากบ้านไหนมีค้าขายด้วย ก็ควรพามาเรียนรู้ ช่วยงานเล็กน้อยตามวัยทุก ๆ วัน อย่าปล่อยให้สบายในห้องแอร์และหน้าจอค่ะ
❤︎ 6.ลดการช่วยลูก ❤︎
พ่อแม่มักไวต่อเสียงเรียกของลูก อย่าเข้าไปหาพร้อมบอกวิธีทันที ปิดปากตัวเองไว้ ควรเข้าไปสังเกตวิธีของลูกก่อน ถ้าไม่สุด ๆ จริง ๆ อย่าช่วย ระหว่างที่สังเกตการณ์ ก็ชื่นชมลูกเป็นระยะ ๆ เช่น ...“ลูกพยายามคิดแก้ไขอยู่ น่ารักมาก”... หรือ ...“ลูกลองหลายวิธีแบบนี้ แม่ชอบจัง”... หรือ ...“ลูกอดทน ไม่โวยวายเลย เยี่ยมมาก”...
❤︎ 7.หมั่นชื่นชมเมื่อลูกไม่ใช้น้ำตาแก้ปัญหา ❤︎
ข้อนี้สำคัญมาก ๆ พ่อแม่มักบ่นลูกว่า ...”ร้องไห้อีกล่ะ”... เวลาลูกร้องไห้ แต่พ่อแม่ไม่ค่อยชมลูกเวลาที่เขาสะกดน้ำตาได้ ทำให้ลูกเสียกำลังใจ คิดว่าตนเองทำไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น จับถูกให้มากกว่าจับผิด และชื่นชมลูกนะคะ เช่น ...“แม่เห็นแล้วว่า ตอนที่น้องไม่เชื่อลูก ลูกก็ไม่ร้องไห้ ลูกพยายามย้ำน้องอีกครั้ง เก่งมาก ๆ ลูก”...
❤︎ 8.ให้กำลังใจลูก ❤︎
ถึงแม้ลูกจะพยายามวิธีใหม่ ก็ไม่แน่ว่าจะสำเร็จเสมอไป พ่อแม่ต้องให้กำลังใจลูก อย่าบ่นเขาอีก เช่น ...“ลูกย้ำกับน้องแล้ว น้องก็ยังไม่เชื่อ แม่คิดว่าปกตินะ ไม่ง่ายหรอกที่น้องจะเชื่อ แต่ลูกไม่ร้องไห้แล้ว เห็นตัวเองหรือเปล่าว่า ลูกเก่งขึ้นแล้วนะเรื่องนี้”... หรือ ...“ครั้งนี้ลูกร้องไห้แป๊บเดียวก็หยุด ลูกแข้มแข็งทีละนิด ๆ สำหรับแม่แล้วคือสุดยอด ค่อย ๆ ดีขึ้น ดีกว่าไม่ดีเลยนะลูก”... หรือ ...“วันนี้ทำได้ วันพรุ่งนี้ก็ต้องทำได้ซิ”...
"เด็กขี้แย" ไม่สามารถเปลี่ยนได้ข้ามคืน พ่อแม่อย่าเพียงพูดว่า “อย่าร้องไห้ซิ ลูกต้องเข้มแข็งนะ เห็นมั้ย ถ้าลูกอ่อนแอ ใคร ๆ ก็แกล้งลูก” เพราะความเข้มแข็ง เป็นเรื่องภายในที่ลูกต้องสร้างเองจากข้างใน คำพูดอธิบายของพ่อแม่ ไม่สามารถเปลี่ยนลูกได้ตามต้องการ
อย่ากลัวว่าลูกจะเก็บกดถ้าไม่ได้ร้องไห้ หมอก็ชอบเวลาที่เด็กร้องไห้และได้ระบายออกมา แต่ทุกอย่างต้องเดินสายกลาง ถ้าระบายด้วยวิธีร้องไห้บ่อยมาก จนนึกไม่ออกว่าใช้วิธีพูดก็ได้ นั่งเฉย ๆ คิดทบทวนก็ได้ เราก็ต้องลงมาช่วยให้ลูกเข้มแข็งค่ะ ส่วนเด็กที่ไม่ค่อยร้องไห้ ไม่ค่อยระบายกับใคร แบบนี้ควรเปิดช่องให้ลูกได้ร้องไห้ การรับมือจะต่างจากเรื่องเด็กขี้แย