426
การอุ้มกอดบอกรักไม่เคยสปอยล์ใคร

การอุ้มกอดบอกรักไม่เคยสปอยล์ใคร

โพสต์เมื่อวันที่ : June 5, 2022

...”อย่าอุ้มเยอะ เดี๋ยวติดมือ”...

...”เธอน่ะชอบสปอยล์ลูก อุ้มอยู่นั่นแหละ”...

 

เคยได้ยินประโยคเหล่านี้หรือเปล่าครับ แล้วคุณพ่อคุณแม่ 'เชื่อ' สิ่งที่ได้ยินแค่ไหนกัน 

 

เคยไหมที่รู้สึกกลัวว่า เราจะกอดลูก โอ๋ลูก หรืออุ้มลูกมากเกินไป ด้วยความกลัวที่ว่าเรากำลังจะสปอยล์ลูกอยู่ ทั้งที่ลูกก็ไม่ใช่กาวร้อนที่อุ้มแล้วจะแหลกติดมือได้ และการที่ลูก 'ร้องไห้' ด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายความว่า...“ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย”...“ลูกกำลังต้องการเราอยู่”...

ดังนั้น การอุ้มกอดบอกรัก ไม่เคยสปอยล์ใครโดยเฉพาะในเด็กเล็กในช่วง 1 ปีแรก แต่การไม่กอด ไม่อุ้ม ไม่บอกรักต่างหากที่กำลังรั้งความสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกให้ห่างกันมากขึ้น ๆ ทุกที เพราะขณะที่ร้องไห้ เสียใจ และไม่สบายตัว

 

นั่นคือเวลาที่ลูกกำลังต้องการคนที่เข้าใจที่สุด แต่พ่อแม่ยังไม่มาอยู่เคียงข้างเลยด้วยซ้ำ เพราะกลัวจะสปอยล์ลูก พ่อแม่หลายคนไม่กล้าบอกรักลูกด้วยความเข้าใจว่า 'การกระทำ' ที่พ่อแม่ทำในทุกวัน ลูกจะรับรู้มันได้เอง ทั้งที่เราก็รู้ว่า "มันอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น" 

 

รักก็ต้องบอกรัก ห่วงก็ต้องบอกห่วง ห้ามอะไรหรือจะให้ทำอะไรก็ต้องบอกกันตรง ๆ จะมัวมาอ้อมค้อมกันไปทำไม ? 

 

โดยเฉพาะเด็กเล็ก เรายิ่งต้องอุ้มกอด เพราะนั่นคือ "สายใย" ที่ลูกสัมผัสได้ ความอบอุ่นที่รู้สึกได้จากกลิ่นที่คุ้นเคย จากเสียงหัวใจเต้นของแม่คนเดิมที่อยู่เพื่อเขา จากแม่ที่มีอยู่จริง วิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า การอุ้มทำให้สมองสงบลงท่ามกลางความรู้สึกไม่ปลอดภัย เจ็บปวด หรือความเครียด เพียงแค่คนเลี้ยงที่คุ้นเคย 'อุ้ม' เด็กเท่านั้น หัวใจจะเต้นช้าลง กล้ามเนื้อจะคลายตัวออก และสมองจะผ่อนคลายมากขึ้นเพียงเพราะการอุ้มและกอดเท่านั้นเอง นอกจากนี้ยังมีข้อมูลชัดเจนว่าส่งผลดีในระยะยาวกับพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ของเด็กด้วยนะจ๊ะ ดังนั้น ยิ่งเล็กยิ่งต้องอุ้มครับ 

แล้วอะไรล่ะที่สปอยล์เด็ก ?

การสปอยล์จะเกิดขึ้นเมื่อลูกมีแต่ได้กับได้ จากพ่อแม่ที่ "ให้" และ "ตอบสนอง" ความต้องการของเด็กแบบไม่มีขอบเขต ไม่มีเงื่อนไข อยากได้อะไรได้ เพียงเพื่อเป้าหมายคือ "ไม่ให้ลูกร้องไห้" หรือ "ลูกขอก็เลยให้" โดยที่ไม่มีกฎกติกามารยาทและความสมเหตุสมผลอะไรทั้งนั้น ไม่เคยให้ลูกมีความรับผิดชอบอะไรทั้งนั้นแม้แต่ความรับผิดชอบส่วนตัว พ่อแม่ทำแทนให้หมด

 

ทุกครั้งที่ลูกร้องไห้ ลูกไม่เคยได้เติบโตจากน้ำตาของตัวเองสักครั้งเดียว มีแต่เรียนรู้ว่า "ร้องไห้" หรือ "ทำตัวไม่ดีอย่างไร" แล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ ร้องไห้ก็ได้ของเล่น โวยวายก็ได้เล่นต่อ อยากได้อะไร ทำลายข้าวของก็ได้ของที่ต้องการทุกที อยากกินขนมก็แค่ไม่กินข้าว เดี๋ยวขนมก็มาเป็นเครื่องต่อรอง ฯลฯ

 

 

บางคนไม่ต้องต่อรองอะไรเลย พ่อแม่ก็ประเคนให้ทุกอย่างแบบตัดรำคาญ "เอาไปเหอะ จะได้จบ ๆ" และที่แย่กว่านั้นก็คือ พ่อแม่เองก็มักตามแก้ปัญหาให้ลูกทุกครั้งที่เกิด 'ผล' จากการกระทำที่ไม่ดีของตัวเขาเอง ลูกไม่เคยต้องรับผิดรับผลอะไรทั้งนั้น นี่แหละที่เราเรียกว่า “การสปอยล์”

 

ตรงกันข้าม หากเราใช้การอุ้มกอดและการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยกับลูกได้ถูกวิธี ทุกครั้งที่ลูกร้องไห้เสียใจในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล หรือยังควบคุมตัวเองไม่ได้ตามวัย พ่อแม่มีหน้าที่อยู่ใกล้ ๆ อย่างสงบ สื่อสารให้ลูกเห็นว่า "แม่เห็น" "พ่อเห็น" ว่าลูกเสียใจหรือโกรธอยู่ แต่มันเป็นสิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ที่จะโกรธ/เสียใจให้เป็น ทำผิดก็ต้องรับผิดชอบผลของตนเองให้ได้ แต่พ่อแม่ก็จะอยู่ข้าง ๆ หนูนี่แหละ ให้ลูกมีโอกาสเติบโตจากผลของการกระทำได้ 

 

เพราะมนุษย์เกิดมาไม่มีอะไรได้สมใจอยากไปเสียหมด และคนเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เอาถ่านได้ในอนาคต เราต้องมีวินัย ควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้ ดีใจได้ เสียใจเป็น รับผลของการกระทำของตนเองให้ได้ เรียนรู้จากน้ำตาและความไม่ถูกใจในวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้เราจะทำให้ดีขึ้นได้อีก โดยมีพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ ในวันที่เสียใจ ร้องไห้ฟูมฟาย ด้วยความเข้าใจ ด้วยความรัก ด้วยอ้อมกอดที่คุ้นเคย และด้วยคำพูดที่ทำให้รู้สึกว่า เขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ ยังมีพ่อแม่อยู่ตรงนี้กับเขาอยู่ ดังนั้น “อุ้มวนไป” ครับทุกคน 

 

...“พ่อรู้ว่าหนูเสียใจ ร้องไห้ออกมาเถอะ แล้วพรุ่งนี้เรามาเริ่มกันใหม่นะครับ”...