ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
หมอเชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนรักลูกค่ะ และในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ก็ให้ความรักลูกแบบไม่มีเงื่อนไขด้วย ในประสบการณ์หมอพบว่า คุณพ่อคุณแม่พูดขู่ว่า “จะไม่รัก ถ้าลูกไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้” น้อยลงมาก แต่ก็ยังพบอยู่ในหลายครอบครัวค่ะ
หมอก็ขอให้หยุดเอาความรักมาเป็นเงื่อนไขในการทำให้ลูกเชื่อฟังนะคะ ใช้วิธีอื่นที่ได้ผลดีกว่าและไม่มีผลข้างเคียงดีกว่า แล้วการหยุดขู่ลูกแบบนี้ จะเพียงพอสำหรับการแสดงออกว่ารักลูกแบบไม่มีเงื่อนไขหรือเปล่า ? ลองอ่านดูค่ะ
❤︎ 1. ใช้เวลากับลูก ❤︎
พ่อแม่สามารถทำได้หลายอย่างเลย เช่น กอดลูกแล้วบอกว่ารักลูกมากที่สุด หรือปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเดินตามลูกเพื่อไปเล่นกันให้สนุกสนาน หรือมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเวลาที่อยู่กับเขา หรือชวนลูกมาทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกเหนือจากการรอลูกมาชวนอย่างเดียว หรือเล่านิทานให้ลูกฟังและกล่อมลูกให้นอนหลับฝันดี
❤︎ 2. ยอมรับตัวตนลูก ❤︎
ในที่นี้หมายถึง ความคิดและการกระทำของลูกที่แม้จะขัดกับความคิดและความรู้สึกของเรา แต่เราก็ให้คุณค่านั้น ด้วยการแสดงออกว่า ‘รับฟังและเข้าใจ’ ไม่กล่าวหาว่า ‘ลูกดื้อ’ ‘ต่อต้าน’ ‘คิดไม่เป็น’ ‘ไม่ฉลาด’ ‘ไม่รู้จักฟังพ่อแม่’ ขอให้เราเข้าใจว่า การรับฟังและเข้าใจ ไม่ได้แปลว่าต้องยอมทำ
❤︎ 3. ไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น ❤︎
ไม่ว่าลูกจะเป็นคนที่เรียนเก่งหรือคนที่เรียนแย่ เช่น ถ้าลูกสอบได้คะแนนดี ก็ต้องไม่ชมว่าลูกเก่งกว่าเพื่อนคนอื่น ๆ และถ้าลูกเราเรียนไม่ดี ก็ต้องไม่เทียบว่าคนอื่นเก่งได้ ลูกก็ต้องเก่งได้เหมือนกัน
เหตุผลก็คือ ถ้าลูกเรียนเก่งแล้วพ่อแม่เทียบว่าเขาสุดยอดกว่าคนอื่น ลูกสามารถตีความในทางตรงข้ามได้ว่า หากมีวันที่เขาแย่ลง พ่อแม่อาจจะรักเขาน้อยลงก็ได้ ส่วนลูกที่เรียนไม่ดี เมื่อพ่อแม่ชมคนอื่นเก่งกว่า ลูกจะตีความว่าตนเองทำตัวไม่ได้อย่างที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่จะรักน้อยกว่าหรือไม่รัก (ถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมายพ่อแม่)
ดังนั้นการเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่ว่าจะแบบไหน ก็เกิดผลเสียทั้งนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็ขอให้เปรียบกับตัวลูกเองจากครั้งก่อนหน้านี้ และเป้าหมายในการเทียบ ก็เพื่อให้ลูกมองเห็นพัฒนาการของตนเอง และถ้าจะชมก็ชื่นชมในตัวลูกเท่านั้น ชมที่ลูกอดทนจนพัฒนาขึ้นจากเดิม
❤︎ 4. ส่วนชีวิตประจำวันที่พ่อแม่เสียสละหลายอย่าง ❤︎
เช่น เรายกน่องไก่ชิ้นโตกับลูก ส่วนตัวเองกินชิ้นเล็ก ๆ หรือกินในส่วนที่ลูกกินเหลือก็ได้ หรือใช้เงินก้อนโตเพื่อซื้อ laptop ให้ลูก แต่ตัวเองใช้มือถือรุ่นเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว หรือ เรายอมทำงานหนักมากขึ้นเพื่อให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีกว่าเดิม
สิ่งต่าง ๆ ที่พ่อแม่เสียสละ ในมุมมองของผู้ใหญ่นี่คือความรักแบบไม่มีเงื่อนไข แต่สำหรับเด็ก เขาไม่สามารถตีความตรงนี้ได้ กว่าจะเข้าใจอาจจะต้องโตเป็นผู้ใหญ่เลย ดังนั้น เด็ก ๆ โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 6 ปี (หรือถ้าจะดีก็ให้ถึงวัยรุ่นเลย) จะรู้ว่าพ่อแม่รักอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็เมื่อลูกได้ใช้เวลากับพ่อแม่ ฟังพ่อแม่บอกรัก รวมทั้งข้อ 2 และข้อ 3 ค่ะ
หรือรักแบบไม่มีเงื่อนไข ก็คือทุกพฤติกรรมที่พ่อแม่ใช้อารมณ์กับเขา เช่น เถียงกับลูกแบบใส่อารมณ์, ตะคอกให้ลูกเงียบ, ด่าลูกว่าเด็กดื้อไม่เชื่อฟัง, ต่อว่าลูกให้คนอื่นฟัง, ตีลูกเมื่อลูกต่อต้าน, ขู่ลูกว่าจะไม่อยู่แล้วถ้าลูกยังเป็นแบบนี้, ไล่ลูกให้ไปไกล ๆ, ชี้หน้าด่าลูกอย่างหยาบคาย โห...ทำไปแล้วทั้งนั้นเลย
เราสงสัยมั้ยคะ ? ว่าทำไมเวลาที่พ่อแม่ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่แล้วลูกถึงตีความว่าพ่อแม่ไม่รัก หมอขอตอบแบบนี้ค่ะ ...“เพราะในช่วงที่ลูกกำลังมีปัญหา ลูกไม่สามารถแก้ปัญหาตรงหน้าได้ ลูกไม่สามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ เป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องการพ่อแม่ที่สุด”... (กาดาวสิบดาว) หากพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ลูกจะขาดที่พึ่งทันที ! และแปลว่าพ่อแม่ไม่รักหนูตอนหนูดื้อ หนูเถียง หนูโกรธ หนูโวยวาย หนูร้องไห้เสียงดัง
ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากจริง ๆ ค่ะ เพราะนอกจากไม่ขู่ว่าไม่รักแล้ว จะต้องแสดงพฤติกรรมให้ลูกรับรู้ว่ารัก และยังต้องจัดการอารมณ์ตัวเองให้ดี เพื่อเป็นที่พึ่งให้ลูกในยามที่ลูกควบคุมตัวเองไม่ได้
อ่านจบแล้ว พอจะเข้าใจแล้วนะคะว่าทำไมผู้ใหญ่บางคน ยังรู้สึกพ่อแม่ไม่รัก ทั้ง ๆ ที่พ่อแม่เขาเสียสละมาก ๆ เพราะการไม่ควบคุมอารมณ์ของพ่อแม่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกรู้สึกแบบนี้ค่ะ อย่าเพิ่งท้อใจกัน เริ่มใหม่นะคะ