239
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของสมอง

การอ่านหนังสือให้ลูกฟังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของสมอง

โพสต์เมื่อวันที่ : May 31, 2022

ทุก ๆ วัน ร่างกายของเด็ก ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนของ “สมอง” พ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยอย่างไรบ้างเพื่อให้สมองของเด็ก ๆ พัฒนาได้อย่างเต็มที่

 

ในความเป็นจริงแล้ว เด็ก ๆ ปฐมวัย หรือ เด็กอนุบาลแทบจะไม่มีความจำเป็นต้องเรียนวิชาการที่หนักหน่วงผ่านการดูหน้าจอเป็นเวลายาวนาน เพราะสิ่งสำคัญสำหรับวัยของพวกเขา คือ “การเล่น” และ "การช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐาน” เพื่อเตรียมความพร้อมสมอง กล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่สำหรับการเรียนรู้ในวัยถัดไป ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยเด็ก ๆ ได้ คือ การให้พวกเขาได้เล่น ได้ออกแรงทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง และอีกสิ่งสำคัญ คือ “การอ่านหนังสือให้พวกเขาฟัง"

 

กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลเด็กซินซินนาติ John Hutton ได้กล่าวว่า “สมองของเด็กเล็กเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ขวบปีแรกของชีวิต จึงเป็นโอกาสทองที่ผู้เลี้ยงดูจะให้การกระตุ้นผ่านการทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาสมอง เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เป็นหลายเท่าตัว”

 

 

ศูนย์การวิจัย “Reading & Literacy Discovery Center” ของโรงพยาบาลเด็กซินซินนาติ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวเพื่อศึกษาความแตกต่างของสมองของเด็กปฐมวัยที่ผู้เลี้ยงดูอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ กับ เด็กปฐมวัยที่ใช้เวลากับหน้าจอโดยเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายสมองจากเครื่อง MRI ของเด็กทั้งกลุ่มพบว่า

 

ภาพถ่ายสมองของเด็กปฐมวัยที่ผู้เลี้ยงดูมักอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ จะพบ “การเจริญเติบโตของสมองเนื้อสีขาว (White matter)” ซึ่งทำหน้าที่จัดระเบียบและประมวลผลในด้านภาษาและทักษะด้านรู้อ่านรู้เขียน (Literacy skills) บริเวณสมองเหล่านี้ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในขั้นที่สูงถัดไป

 

"ทักษะรู้อ่านรู้เขียน" เป็นทักษะที่ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้ (reading & writing) แต่หมายรวมถึง “ฟัง พูด อ่าน เขียน” กล่าวคือ มีความเข้าใจความหมายของคำต่าง ๆ และสามารถสื่อสารคำต่าง ๆ เหล่านั้นออกมาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

 

ในขณะที่ภาพถ่ายสมองของเด็กปฐมวัยที่ใช้เวลากับหน้าจอเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน จะพบ “การไม่พัฒนาของสมองส่วนเนื้อสีขาว” กล่าวคือ ในบริเวณดังกล่าวไม่มีการจัดระเบียบหรือประมวลผลข้อมูลอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ล่าช้าของเด็กได้”

 

ความสำคัญของเนื้อสมองสีขาว (White matter)

สมองของมนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักที่ทำงานสัมพันธ์กันเพื่อให้สมองทำงานอย่างราบรื่น สองส่วนนั้น คือ...

 

☺︎ 1. สมองเนื้อสีเทา (Grey matter) เป็นเนื้อเยื่อสมองที่อยู่ด้านนอก โดยมี เซลล์ประสาท (Neuron) เดนไดร์ต (Dendrite) แอกซอน (Axon) เซลล์ค้ำจุนประสาท และหลอดเลือดฝอย เป็นส่วนประกอบ ทำหน้าที่การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและการรับประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การคิด การจำ เป็นต้น

 

☺︎ 2. สมองเนื้อสีขาว (White matter) เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านใน และเป็นส่วนที่ไม่มีเซลล์ประสาท มีแต่เซลล์คำจุนระบบประสาท และแอกซอน ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ หรือ กระแสประสาทที่ออกจากเซลล์ประสาทบริเวณเนื้อสมองสีเทา

 

นอกจากหลักฐานทางภาพถ่ายสมองแล้ว ยังมีหลักฐานทางการทดสอบทางสติปัญญาระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่มอีกด้วย

 

 

ผลการทำแบบทดสอบทางสติปัญญา (Cognitive tests) ยังพบว่า “เด็กปฐมวัยที่ใช้เวลากับหน้าจอมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน มี “ทักษะด้านรู้อ่านรู้เขียน (Literacy skills) ในด้านการเข้าใจความหมายของคำ" "ด้านการใช้ภาษาส่ง (Expressive language)” และ "ด้านการระบุชื่อของวัตถุสิ่งของต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว (Rapidly name objects)" ต่ำกว่าเด็กที่ผู้เลี้ยงดูอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ”

 

คุณหมอ John Hutton ยังกล่าวอีกว่า “การใช้เวลากับหน้าจอยาวนานอาจจะทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การเล่นโดยใช้จินตนาการ การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น”

 

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ไม่เพียงแค่สมองของลูกที่จะพัฒนา แต่สายสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกจะเติบโตไปด้วย สร้างลูกที่มีอยู่จริง และสร้างเราพ่อแม่ที่มีอยู่จริง

 

สุดท้าย การเรียนออนไลน์สำหรับเด็กปฐมวัย และวัยอื่น ๆ หากไม่ไหว พ่อแม่และผู้ใหญ่ไม่ควรฝืน เพราะการเรียนรู้สามารถพัฒนาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ แต่หากกดดันและฝืนต่อ อาจจะไม่ใช่แค่เพียงการเรียนอย่างเดียวที่พัง ด้านอื่น ๆ อาจจะพังไปด้วย โดยเฉพาะ “สุขภาพใจของลูกและพ่อแม่"

 

 

อ้างอิง : Hutton, J. S., Horowitz-Kraus, T., Mendelsohn, A. L., DeWitt, T., Holland, S. K., & C-Mind Authorship Consortium. (2015). Home reading environment and brain activation in preschool children listening to stories. Pediatrics, 136(3), 466-478.