ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ก่อนอื่นเราควรแยกแยะระหว่าง “พฤติกรรมที่ลูกทำ” กับ “ตัวตนที่ลูกเป็น”
“พฤติกรรม (Behaviour)” คือ การกระทำที่แสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในที่นี้พฤติกรรมในที่นี้ไม่ได้มีความหมายถึงพฤติกรรมทางลบเพียงอย่างเดียวเช่น ขว้างของ ตี กัด เตะ ต่อย และอื่น ๆ แต่หมายรวมถึงพฤติกรรมทางบวกด้วย เช่น กอด หอม ชม อ่าน และอื่น ๆ ดังนั้น “พฤติกรรม” เป็นคำที่มีความหมายกลาง ๆ และหมายถึงการกระทำที่บุคคลแสดงออกมา
“ตัวตน (Self)” นั้น คือ สิ่งที่บุคคลเป็นและสร้างขึ้นมา มีลักษณะที่ค่อนข้างคงทนและเปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งตัวตนของเราสามารถประกอบขึ้นมาจากอุปนิสัย ความเชื่อ สิ่งที่เขาให้คุณค่า ความรู้สึกนึกคิดของเราที่มีต่อตัวเอง ต่อโลก และมุมมองของผู้อื่นที่มีต่อเรา เป็นต้น
บางวันลูกอาจจะทำพฤติกรรมที่แย่มาก ๆ เราควรตำหนิเขาที่พฤติกรรม ไม่ใช่การว่าแบบเหมารวมตัวตนของเขา เช่น เมื่อลูกขว้างของลงพื้น พ่อแม่ไม่ควรว่าเขาว่า “เด็กไม่ดี เด็กอะไรนิสัยเสีย” แต่พ่อแม่ควรพูดเขาว่า “ไม่ขว้างของลงพื้น” แล้วสอนให้เขาทำความสะอาดพื้น หรือเมื่อพี่คนโตทะเลาะกับน้องและตีน้อง ผู้ใหญ่ไม่ควรว่าเขาว่า "ทำตัวแบบนี้ไง คนเขาถึงไม่เอา" หรือ "หมาหัวเน่า" แต่ผู้ใหญ่ควรสอนเขาว่า "เราโมโหได้นะ แต่เราไม่ทำร้ายกัน"
สิ่งที่ควรทำเราควรพาเขาออกมาสงบ และคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ตัดสินเขาทันที เพราะเราเองก็ไม่รู้ที่มาที่ไปว่า เพราะอะไรเขาถึงตัดสินใจทำเช่นนั้น เป็นต้น เพราะการตำหนิลูกที่พฤติกรรมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการตำหนิที่ตัวตนของลูก
การที่เขาทะเลาะกับน้อง โมโหน้อง ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่ได้แปลว่า "เขาอยากเป็นพี่ท่ีไม่ดี" เด็กทุกคนต้องการความรักไม่ต่างกัน เขาไม่อยากเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าในสายตาพ่อแม่ ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็นเด็กไม่ดี แต่เขาเป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่ง เขาจึงควบคุมตัวเองไม่ได้ดีพร้อม แล้วทำพฤติกรรมไม่ดีในบางครั้ง
แทนการพูดว่า “ห้าม” “อย่า” “หยุด” “ไม่” เป็นการบอกให้ชัดเจนว่า “สิ่งใดที่ควรทำ” หรือ “สิ่งใดที่ทำได้” เช่น แทนการบอกว่า “อย่าเขียนโต๊ะ” เป็น “เขียนบนกระดาษ” หรือ “เราเขียนในกระดาษ” แทนการบอกว่า “ไม่แกล้งน้อง อย่าดึงผมน้อง” เป็น “ลูบผมน้องเบา ๆ” หรือ “ชวนหวีผมให้น้องแทน”
ตรงนี้เด็ก ๆ จะเข้าใจได้ชัดเจน และมีทางออกในการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมมากกว่า ที่สำคัญประโยคเหล่านี้ไม่เป็นการใช้อารมณ์ทางลบหรือเป็นการตัดสินตีตราตัวตนของผู้รับฟังแต่อย่างใด มีก็เพียงแต่ใจความสำคัญที่ต้องการจะสื่อสารออกมาว่า “เขาควรทำอะไร"
สุดท้ายการทำให้พฤติกรรมที่ไม่ดีหายไป คือ การทดแทนพฤติกรรมที่ไม่ดีด้วยพฤติกรรมที่ดี ซึ่งเด็ก ๆ จะเรียนรู้พฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมได้ เมื่อพ่อแม่และผู้ใหญ่สอนเขา ไม่ใช่ตำหนิเขาเพียงอย่างเดียว เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม อย่าลืมให้ความสนใจและชื่นชม เพื่อเป็นการยืนยันให้กับเด็ก ๆ ว่าพวกเขามาถูกทางแล้ว
ไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็นเด็กไม่ดี อย่าตัดสินเด็กที่ตัวตนที่เขาเป็น เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการลดทอนคุณค่าในตัวของพวกเขา และผลกระทบที่อาจจะตามมาในระยะยาวจากการถูกตัดสินเช่นนั้น คือ การไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และการไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองเป็น
เด็ก ๆ ทุกคนล้วนต้องการการยอมรับ ความรัก และการมองเห็นคุณค่า หากเด็ก ๆ ทำสิ่งที่ไม่ดี สอนเขา บอกเขา ทำไปกับเขา และชื่นชมเมื่อเขาทำได้ดี เพื่อมอบพลังให้กับตัวเขาในการทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อไป