72
การบ้านที่ไม่เหมาะสมกับ(วัย)ลูก กลายเป็นความความทุกข์ของพ่อแม่

การบ้านที่ไม่เหมาะสมกับ(วัย)ลูก กลายเป็นความความทุกข์ของพ่อแม่

โพสต์เมื่อวันที่ : July 5, 2022

 

ก่อนอื่นเราควรเข้าใจก่อนว่า จุดประสงค์ของการทำการบ้านควรมี 2 ข้อ ได้แก่...

 

▶︎ 1. “เด็กต้องทำการบ้าน เพราะเขายังไม่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจึงมาฝึกด้วยการบ้าน” ถ้าเขาทำผิดก็แค่สอนเขาในสิ่งที่ถูก ผู้ใหญ่ต้องใจเย็นให้มาก ๆ อย่าเปรียบเทียบลูกกับลูกบ้านอื่น เด็กบางคนอาจจะเข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกที่เรียน ในขณะที่เด็กบางคนอาจจะเข้าใจหลังจากการทำซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ ผู้ใหญ่ควรให้โอกาส และอย่าเพิ่งตัดสินเขา สิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ คือ "เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ แต่จะเรียนรู้ได้เมื่อไหร่ และด้วยวิธีไหน เท่านั้นเอง"

 

 

▶︎ 2. “การบ้านมีไว้เพื่อฝึกวินัย ความรับผิดชอบ และการควบคุมตนเอง” แค่เด็กยอมมานั่งทำการบ้านของเขา ควบคุมตนเองให้ทำการบ้านให้เสร็จก่อนไปเล่น (อดเปรี้ยวไว้กินหวาน) เพียงเท่านี้จุดประสงค์ข้อนี้ก็ประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่ผู้ใหญ่อาจจะลืมไป เพราะเรามัวแต่มองผลลัพธ์หรือความถูกต้องเป็นสำคัญ "กระบวนการหาผลลัพธ์ จึงควรสำคัญกว่าผลลัพธ์ที่ได้มา”

 

 

ในวันที่ "การบ้านที่ไม่เหมาะสม” ทำให้งานของลูกกลายเป็นความทุกข์ของพ่อแม่

 

▶︎ การบ้านที่มีเนื้อหายากเกินวัยของเด็ก หรือยากเกินความสามารถของเขา

 

● กรณีที่ 1 เด็กไม่เข้าใจบทเรียนนั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้ได้อยู่ เด็กอาจรู้สึกท้อได้ เพราะไม่สามารถทำการบ้านด้วยตนเองเนื่องจากไม่เข้าใจบทเรียน ดังนั้นเราสามารถช่วยเหลือเขาได้ โดยทำให้เขาดู แล้วตั้งโจทย์เพิ่มให้เขาลองด้วยตนเองหลังจากดูเราทำ

 

 

● กรณีที่ 2 การบ้านนั้นยากเกินวัยของเด็กไปมาก แต่ถ้าการบ้านนั้นยากเกินไปมาก ๆ (ไม่เหมาะกับวัยของเด็ก) และคุณแม่คุณพ่อช่วยเหลือไม่ได้ ถามลูกว่า "เราไปคุยกับคุณครูด้วยกันไหม?" หรือ "อยากปรึกษาเพื่อน ครอบครัวอื่นไหม ว่าเขาทำอย่างไร ?”

 

ในกรณีนี้ สุดท้ายหากเด็กไม่เข้าใจ พ่อแม่และผู้ใหญ่ไม่ควรกดดันหรือบีบบังคับให้เขาต้องพยายามต่อ เพราะเรากำลังคาดหวังเด็กเกินวัยของเขา การที่เขาทำไม่ได้ เขาไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด และสิ่งที่เราทำได้ คือ “การพูดคุยกับทางครูผู้สอน” เมื่อคุณครูเข้าใจและปรับลดเนื้อหาลงให้เหมาะสมกับวัย ปัญหาในส่วนนี้จะหายไป แต่ถ้าคุณครูไม่สามารถปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับวัยของลูกได้ พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรปล่อยวาง และให้ลูกได้ฝึกฝนเนื้อหาตามวัยของเขา

 

 

● กรณีที่ 3 เด็กไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากการควบคุม (Self control) ท่ีมีไม่มากพอ ในกรณีนี้ผู้ใหญ่จำเป็นต้องลงไปให้ความช่วยเหลือ

 

 

วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ “การย่อยงาน (Task analysis)” นำงานที่ “ยาก” และ “เยอะ” มาแบ่งให้เป็นงานย่อย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ใช้เวลาจดจ่อสั้นลง และประสบความ สำเร็จบ่อยขึ้น

 

ยกตัวอย่าง

การบ้านต้องอ่านหนังสือ 1 บทซึ่งมีจำนวน 10 หน้า ผู้ใหญ่สามารถแบ่ง 1 บทนั้นให้เป็นสามช่วง ซึ่งแต่ละช่วงที่เด็ก ๆ ทำได้ เขาจะรู้สึกถึง “ความสำเร็จ” และ “ความเป็นไปได้” ระหว่างที่เด็ก ๆ อ่าน ผู้ใหญ่อาจจะอ่านไปกับเขาด้วย เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหากับลูก

 

  • ช่วงแรก อ่าน 5 หน้าแรก เบรก 5-10 นาที (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม หากใช้เวลาอ่านนาน ก็เบรกนานหน่อย)
  • ช่วงที่สอง อ่าน 5 หน้าสุดท้าย เบรก 5-10 นาที
  • ช่วงที่สาม พูดคุยและทำความเข้าใจสิ่งที่อ่านมาไปกับลูก (จบ)

 

 

▶︎ การบ้านที่อาจจะเหมาะสมกับวัย แต่มีปริมาณที่เยอะเกินไป

Harris Cooper (2015) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาของมหาวิทยาลัยดุกซ์ แนะนำว่า “เวลาโดยเฉลี่ยที่เหมาะสมกับการให้เด็กวัยเรียน (6 ปี) ได้ฝึกฝนเนื้อหาที่เรียนไปในแต่ละวันเริ่มต้นที่ 10 นาที ซึ่งในชั้นเรียนถัดไปจะเพิ่มชั้นละ 10 นาที ไปเรื่อย ๆ" ดังนั้นในเด็กประถม 1 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 10 นาทีต่อวัน

 

  • ในเด็กประถม 2 ไม่เกิน 20 นาที / วัน
  • ในเด็กประถม 3 ไม่เกิน 30 นาที / วัน
  • ในเด็กประถม 4 ไม่เกิน 40 นาที / วัน
  • ในเด็กประถม 5 ไม่เกิน 50 นาที / วัน
  • ในเด็กประถม 6 ไม่เกิน 60 นาที / วัน
  • ชั้นมัธยม 1 ไม่เกิน 110 ชั่วโมง / วัน

 

ส่วนในเด็กก่อนวัยเรียน หรือเทียบเท่ากับเด็กอนุบาล ด้วยเหตุนี้ปริมาณงานที่มากเกินไปนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของพัฒนาการตามวัยของเด็ก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเครียดทั้งตัวเองเด็กและคุณพ่อคุณแม่ ผู้ใหญ่จึงควรช่วยกันดูแลปริมาณให้เหมาะสม

 

 

งานที่เหมาะสมกับวัย สำหรับเด็กปฐมวัย 0-6 ปี “การบ้าน” ที่สำคัญที่สุด คือ “การเล่น” และ “การช่วยเหลือตัวเอง” สำหรับเด็กวัยอื่นให้พิจารณาจาก...



  1. งานนั้นเด็กสามารถทำด้วยตัวเองได้หรือไม่ เพราะงานที่เหมาะสมกับวัยเด็กควรทำได้ด้วยตนเองเพื่อทบทวนสิ่งที่เรียนมา
  2. ระยะเวลาที่ทำงานนั้นไม่มากจนเกินกว่าที่วัยของเขาจะรับไหว (เกณฑ์ระยะเวลาอยู่ในบทความข้างต้น)
  3. ความพร้อมและข้อจำกัดของตัวเด็กและแต่ละบ้าน ตรงนี้เอาที่ลูกไหว พ่อแม่ไหว

 

 

..."ไม่เป็นไรเลยที่หยุดพัก และเริ่มใหม่เมื่อพร้อม"...

 

 

อ้างอิง

Cooper, H The Battle Over Homework: Common Ground for Administrators, Teachers, and Parents New York, Carrel Books, 2015