146
รับมือกับเด็กเล็กในวันที่เขาทำร้ายผู้อื่น

รับมือกับเด็กเล็กในวันที่เขาทำร้ายผู้อื่น

โพสต์เมื่อวันที่ : September 26, 2022

 

“เด็กเล็ก” โดยเฉพาะในช่วงวัย 0 - 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังพูดสื่อสารได้ยังไม่ดีพอ ผนวกกับยังยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric)

 

ไม่น่าแปลกใจที่เด็กเล็กมักจะใช้ 'ร่างกายเพื่อสื่อสาร' และตอบสนองต่อความต้องการของเขาเป็นหลัก เช่น ถ้าเขาต้องการให้คนสนใจและเล่นกับเขา เด็กเล็กอาจจะใช้การดึง การจับ การเข้าไปหา ส่งเสียงร้อง ตามภาษาของเด็ก ถ้าเขาต้องการสิ่งใด เด็กเล็กจะหยิบ จับ คว้า เอามาทันที บางครั้งอาหารในจานที่เพิ่ง วางลงต่อหน้าเด็ก มือของเขาไว้กว่าแสงคว้าหมับเข้าให้ที่อาหารตรงหน้า มือของเด็ก เล็กไวมากๆ ผู้ใหญ่บางคนถึงกับเปรียบมือของพวกเขากับกรงเล็บของเหยี่ยวที่ตะครุบ เหยื่อ

 

ในขณะเดียวกันเวลาที่เขาไม่พอใจ เด็กเล็กมีแนวโน้มจะใช้ร่างกายตอบสนองทันทีเช่นกัน โดยเขาอาจจะใช้การตี กัด ปาของ และการทำร้ายร่างกายอื่น ๆ การสอนเด็กเล็ก จึงไม่ควรสอนโดยการพูดบอกเพียงอย่างเดียว แต่ตัวเราต้องเข้าไปถึง ตัวของเขา สอนโดยการทำให้ดู พาเขาทำ และถ้าทำไม่ได้ก็จับมือ ถ้าสิ่งที่เด็กกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เราก็ควรเข้าไปหยุดถึงตัว ย่อตัวลง สบตาลูก จับมือลูก พูดชัดเจน “ทำไม่ได้” และ “อะไรทำได้” พาเขาทำ ทำด้วยกัน สุดท้ายคือปล่อยเขาทำเอง

 

 

สอนลูกเมื่ออารมณ์สงบ

 

▶︎ ตัวอย่างที่ 1 "เด็กเข้าไปตีคนอื่นเพราะโมโหหรือถูกขัดใจ"

ให้เราเข้าไปจับมือเขาทันทีพร้อมมองตาเขา และบอกเขาชัดเจนว่า “ไม่ตีค่ะ / ครับ” แต่ถ้าเด็กยังทำต่อหรืออาละวาดหนักขึ้น ให้เราพาเด็กออกมาจากบริเวณดังกล่าวทันที แล้วมานั่งบริเวณที่สงบข้าง ๆ กัน โดยยังไม่ต้องรีบเร่งสอนอะไรหรือพูดอะไร บอกสั้น ๆ เพียงว่า “พ่อแม่จะรอหนูพร้อมก่อน"

 

เมื่อเขาสงบลงแล้ว ให้เราบอกเขาว่า “ถ้าพร้อมแล้ว ให้นับ 1 - 10 ตามนะ” โดยให้ เราเป็นฝ่ายนับนำเขา เช่น เรานับ “1” เด็กนับตาม “1”แล้วค่อยนับต่อไปจนถึง 10 แต่ถ้า เด็กพยายามนับนำเรา เราบอกเขาว่า ให้เราเริ่มนับให้ โดยชี้นิ้วช่วย เช่น ชี้ที่เรานับ “1” แล้วชี้ที่เขานับ “1” สับกันไปจนถึง 10 สาเหตุที่ให้เด็กนับเลข ก็เพื่อตรวจสอบความพร้อมฟังเราจริง ๆ และให้เขาได้สงบลง นับจบถึง 10 ด้วยกัน

 

พูดคุยกับลูก ให้เราถามเขาว่า “เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น” และ “ลูกรู้สึกอย่างไร” ถ้าเด็กตอบไม่ได้ ให้ใช้การสอนเขาว่า “เมื่อกี้หนูรู้สึกโกรธใช่ไหมที่ไม่ได้ (สิ่งที่ต้องการ)” ในกรณีเด็กเล็กมาก ๆ ยังสื่อสารไม่ได้ให้เราบอกเขาไปเลยว่า “ลูกโกรธได้นะ แต่ลูกจะตี คนอื่นไม่ได้ ครั้งหน้าถ้าลูกรู้สึกโกรธมาก และอยากตี ให้ออกมานั่งพักก่อนได้นะ หรือ ลูกจะมาหาแม่ก็ได้ เราจะได้ช่วยกัน”

 

 

▶︎ ตัวอย่างที่ 2 “เด็กทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ”

เด็กเล็กมักจะมีปัญหากับการสื่อสาร เมื่อพูดไม่ทันความคิด หรือ สื่อสารไม่ตรงกับใจ เขาเลือกที่ใช้ร่างกายตอบสนอง เพราะทันใจเขากว่า เด็กเล็กจึงเป็นนักขว้าง หยิก จับ กำ และตี ที่เร็วมาก ดังนั้นผู้ใหญ่ควรสอนเขาสื่อสารนั่นเอง นอกจากนี้เด็กเล็กมีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ และมัดเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้เขาควบคุมได้ยากลำบากกว่าผู้ใหญ่มากนัก เขาอาจจะอยากแค่เขามาจับ แต่กลายเป็นจับแรงจนของพัง หรือเขาอยากเรียกเราโดยการสะกิด ก็กลายเป็นการตีเสียอย่างนั้น ดังนั้นผู้ใหญ่สอนเขาได้โดยการจับมือเขา แล้วพาสัมผัสสิ่งต่าง ๆ อย่างแผ่วเบา เช่น เด็กอยากเรียกพี่ แล้วไปตีพี่แทน ให้เราจับมือเด็ก แล้วสอนเขาพูดว่า “พี่ ๆ” แล้วให้เอามือไปสัมผัสหลังพี่เบา ๆ หรือ ลองให้เขาสัมผัสจากการลองสัมผัสมือเราเบา ๆ ก่อน ก็ได้

 

นอกจากนี้ยังสามารถสอนทักษะนี้ได้ผ่านการเก็บของเล่น ให้เขาลองเก็บเบา ๆ ถ้าทำไม่ได้ ให้เราจับมือเขาเก็บ เด็กจะจดจำน้ำหนักมือ และลักษณะการสัมผัสได้ดีขึ้น สำคัญมากที่ผู้ใหญ่ต้องสอนเขาหรือบอกเขาด้วยว่าต้องทำอย่างไร และทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่แค่ห้ามเขาเพียงอย่างเดียว เมื่อทุกอย่างจบลง อย่าลืมพาเขาไปขอโทษคนที่เขาทำร้าย หรือคนที่เขาไปทำของ ๆ เขาพังด้วย สอนให้เขารับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำจะเก็บกวาด เข้าไปขอโทษ แล้วกอด ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ

 

ถ้าเด็กยังไม่ยอมพูดขอโทษ ไม่เป็นปัญหา เราพูดไปกับเขา จับมือเขาทำได้ ไม่ต้องคาดหวังว่า เขาต้องทำมันได้วันนี้ ทำไปเรื่อย ๆ เด็กจะเรียนรู้เมื่อถึง เวลาที่พร้อม เคล็ดลับให้ทำจนเป็นนิสัย “สอนสม่ำเสมอ และทุกครั้งที่มีโอกาส” เมื่อเด็กทำผิดให้ใช้โอกาสนั้นสอนเขา ทำผิดบ่อยครั้งก็สอนเขาทุกครั้ง มั่นคง และเหมือนเดิมทุกครั้ง เด็กบางคนอาจจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ดังนั้นเราสอนเขาครั้งแรก เด็กอาจจะยังไม่เรียนรู้ เขาอาจจะเรียนรู้ครั้งที่ 100 ก็เป็นได้

 

 

..."อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านเลย หากมีโอกาสสอน ให้สอนทุกครั้ง"...

 

 

 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีคนที่สอนไม่ให้เขาทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ถ้าในบ้านยังมีคนสนับสนุนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเขา เด็กอาจจะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อไป เช่น เมื่อผู้ใหญ่คนหนึ่งสอนเด็กไม่ให้ตีคนอื่น แต่ผู้ใหญ่อีกคนบอกเขาว่า “เขายังเด็ก ไม่เป็นไรหรอก”

 

การเป็นเด็กไม่ใช่ข้ออ้างของการทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการไปทำร้ายคนอื่น ดังนั้น เราควรสอนเรื่องเหล่านี้ให้ลูกตั้งแต่เด็ก และไม่ควรให้การส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก โดยการมองว่าพฤติกรรมที่เด็กทำเป็นเรื่องตลก เด็กจะเข้าใจผิด และมองว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เขาอาจจะทำกับคนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

 

 

สุดท้ายเด็กก็คือเด็ก เขาต้องการพื้นที่ปล่อยพลัง วิ่งเล่น ซุกซนตามวัย เราไม่ควรคาด หวังให้เด็กต้องเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ เพราะธรรมชาติของเด็กคือการเล่นซน เราควรมีพื้นที่ให้เขาได้เป็นเด็ก เล่นซนเหมือนเด็กด้วย ถ้าเราเอาแต่ห้ามเขาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเด็กเป็นเด็กซน แต่เพราะเรากำลังคาดหวังเขาไม่ให้เป็นเด็กต่างหาก