136
เมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง (bully) !

เมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง (bully) !

โพสต์เมื่อวันที่ : September 7, 2022

วิธีสื่อสารที่จะทำให้ลูกไว้ใจและสบายในการเล่าเรื่อง

รับฟัง : พ่อแม่ต้องตั้งใจฟัง โดยหาพื้นที่สงบ ๆ และพยายามถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกเล่าต่อ เช่น ...“แล้วไงต่อนะลูก”...“แล้วเขาทำยังไงอีก”..."แล้วลูกทำไงต่อ”....

สงบนิ่ง : พ่อแม่ต้องตั้งสติเพื่อให้ลูกเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาอย่างสันติ ถ้าเราโกรธหรือหงุดหงิด อย่าเพิ่งคุย

สรุปปัญหา : เพื่อให้ลูกจับประเด็นสิ่งที่ต้องโฟกัส เช่น ...“แม่ขอสรุปตามที่ลูกเล่ามา แบบนี้นะ ตอนลูกวิ่งเล่นอยู่ ทันทั่นก็ขัดขาจนลูกล้มลง หัวเกือบฟาดก้อนหิน แล้วตอนเรียน ก็ยังมาล้อลูกตอนตอบผิดด้วย ใช่มั๊ยคะ”...

 

แสดงให้ลูกรู้ว่าความรู้สึกลูกเป็นสิ่งปกติ : ...“ไม่แปลกหรอกที่ลูกจะโกรธแบบนี้”...
บอกให้ลูกรู้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดเขา (ถ้าลูกไม่ผิด) : ...“ลูกตอบคุณครูผิดไป มันก็ไม่ใช่ความผิดของลูกเลยนะ ทันทั่นจะมาล้อลูกไม่ได้”...

 

 

❤︎ 2. ท่าทีและคำพูดที่สื่อว่าพ่อแม่ต้องการช่วยลูกจริง ๆ ❤︎

  • เห็นด้วยว่ามีปัญหา : “เรื่องนี้ต้องถูกจัดการ ไม่ว่าใครก็ไม่สมควรมาทำกับลูกแบบนี้”
  • ชื่นชมลูก : เพราะการเล่าเรื่องโดนแกล้ง ไม่ใช่ของง่าย การชื่นชมจะทำให้ลูกกล้าเล่าปัญหาอีกในครั้งต่อ ๆ ไป เช่น “แม่ดีใจมากที่ลูกมาเล่าเรื่องนี้ให้แม่ฟัง”
  • ให้ความมั่นใจ “เรื่องแบบนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หรือ อย่างน้อยก็ต้องถูกแก้ไขให้ดีขึ้น แม่จะติดต่อกับทางโรงเรียน เพื่อหาทางออก”
  • หลีกเลี่ยงการตำหนิเชิงลบ : เช่น “ลูกอย่าเอาแต่หนีซิ” “ลูกอย่าเอาแต่ฟ้องซิ”

❤︎ 3. ชี้ให้เห็นปัญหาของเด็กคนนั้น แต่อย่าฟันธง (ให้ใช้คำว่า คงจะ, อาจจะ, บางที) ❤︎

เพื่อให้ลูกโฟกัสมุมมองเพื่อน ไม่โฟกัสตัวเองมากเกินไป จะช่วยลดความรู้สึกผิดของลูก ลูกจะได้เล่ามากขึ้น หรือกล้าขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ เช่น ..."ทันทั่นคงเลียนแบบญาติเขามาอีกที เลยไม่คิดว่าการแกล้งเป็นสิ่งที่แย่มาก" "แม้ว่าทันทั่นจะเป็นเด็กสนุก แต่เขามีปัญหาการควบคุมอารมณ์ เขาควรได้รับการลงโทษ และได้รับการช่วยเหลือด้วย"...

 

❤︎ 4.วิธีคุยกับคุณครูประจำชั้นให้ได้ผล ❤︎

  • นัดหมายเวลาส่วนตัว : อย่าคุยตอนที่คุณครูวุ่นวายกับงานอื่น ๆ อยู่

 

  • สงบนิ่งตอนเล่าเรื่อง : เช่น ...“ลูกโดนทันทั่นขัดขาตอนวิ่งอยู่ในสนาม เขาโดนหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้รุนแรง เพราะลูกวิ่งเร็วกว่าทุกครั้ง ตอนล้มหัวเกือบฟาดกับก้อนหินใกล้ ๆ โชคดีที่ล้มห่างออกมา แต่ถ้าไม่โชคดีแบบนี้หล่ะ แม่เป็นห่วงความปลอดภัยของลูกมากจริง ๆ ค่ะครู และในห้องเรียนลูกก็โดนล้อตอนตอบผิด นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกอีกเหมือนกัน ตอนนี้ลูกไม่กล้าตอบคำถามคุณครูแล้ว คุณแม่เป็นกังวลในความรู้สึกลูก, ความมั่นใจของเขาก็เลยต้องการทราบว่าทางคุณครู และโรงเรียนจะช่วยดูแลเรื่องนี้ยังไง”...

 

 

เมื่อเล่าแล้วก็ควรต่อด้วยการถามถึงวิธีการของทางโรงเรียน ที่ต่างประเทศและโรงเรียนอินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทยหลายแห่ง มีนโยบายสำหรับเรื่องนี้โดยตรงค่ะ (school’s anti-bullying policies and procedures) พ่อแม่ก็ควรขอถ่ายสำเนาเอามาเก็บไว้ด้วย

 

  • ยืนยันแต่ไม่ก้าวร้าว : ...“ใช่ค่ะ เด็กก็มีแหย่กัน แกล้งกัน แต่นี่ไม่ใช่แค่แหย่กันธรรมดาแล้ว การแหย่กันที่มีคนหนึ่งอำนาจเหนือกว่าอีกคน เราเรื่องว่า “กลั่นแกล้ง” และพ่อแม่ซีเรียสค่ะ”... ปกติแล้วคุณครูควรมีแผนการเบื้องต้นเพื่อดูแลเด็กที่โดนแกล้ง และนัดติดตามกับผู้ปกครองต่อเนื่อง แต่หากโรงเรียนไม่มี พ่อแม่ก็ควรเสนอ

  • ยืนยันว่าลูกต้องปลอดภัย เมื่อจบบทสนทนา : ...“ในช่วงนี้ขอให้ครูช่วยดูแลความปลอดภัยของลูกด้วย ทั้งที่สนามเด็กเล่นและห้องเรียน”...

 

  • นัดหมายเพื่อติดตามความก้าวหน้า : ควรระบุเวลาให้ชัดเจน เช่น อีก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการรับปากแล้วลืมค่ะ

 

การแหย่กันเป็นความปกติที่เกิดขึ้นได้ในโรงเรียน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมจริง ๆ ต่อไป แต่หากการแหย่นั้น เข้าขั้นกลั่นแกล้งหรือ “บูลลี่” มีความไม่สมดุลของอำนาจ เด็กที่โดนแกล้งจะรู้สึกว่าเครียด, กังวล, เสียความมั่นใจ, เสียความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เสียสุขภาพจิตไม่รู้จะปกป้องตนเองยังไงแล้ว พ่อแม่และคุณครูไม่ควรนิ่งเฉยเด็ดขาด ช่วยลูกในยามที่ลูกต้องการให้ช่วยนะคะ