1178
ลูกไม่ต้องการโดนตีแต่ต้องการบทลงโทษ

ลูกไม่ต้องการโดนตีแต่ต้องการบทลงโทษ

โพสต์เมื่อวันที่ : September 7, 2022

นอกจากการใช้เหตุผลกับลูกแทนการเอาแต่สั่งแล้ว พ่อแม่เลี้ยงลูกเชิงบวกจะต้องรู้จักกำหนดกติกาและบทลงโทษด้วย โดยบทลงโทษที่ดีนั้น ควรยึดหลัก 3R (Related + Respectful + Reasonable) ซึ่งต้องรู้จักคำว่า Logical consequence ก่อน ดังนี้

 

Logical consequence หมายถึง การรับผลจากการกระทำของตนเองโดยมีพ่อแม่เข้ามากำหนด ซึ่งพ่อแม่ต้องคิดล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะลงโทษลูกอย่างไรเพื่อให้สัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น ๆ เช่น แม่สั่งลูกแล้วว่าอย่าขี่จักรยานออกนอกหมู่บ้าน แต่ลูกฝ่าฝืนคำสั่ง สิ่งที่แม่ควรทำคือการเก็บจักรยานลูกขึ้นและงดขี่ 1 วัน

 

สิ่งสำคัญ 3 ข้อในการทำ Logical consequence

  • Related บทลงโทษนั้นควรสัมพันธ์กับต้นเหตุ เช่น การยึดจักรยาน ลูกที่ละเมิดคำสั่งไม่ให้ขี่ออกนอกหมู่บ้าน ย่อมดีกว่าการหักเงินค่าขนม
  • Respectful บทลงโทษนั้นต้องไม่ใช่เพราะความโกรธของพ่อแม่ น้ำเสียงและท่าทางของเราเมื่อต้องยึดรถจักรยานลูกจึงต้องนิ่ง สงบ และมีท่าทีพร้อมเสมอสำหรับการแก้ไขตัวเองของลูก
  • Reasonable บทลงโทษนั้นต้องสมเหตุสมผล เช่น การยึดรถจักรยานลูก 1 วันย่อมเหมาะสมกว่าการยึดไว้1 เดือน

 

หากเราสามารถให้บทลงโทษลูกโดยยึดหลัก 3 ข้อนี้ เด็กจะเกิดความรู้สึกว่าเขาต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเองจริง ๆ เพราะบทลงโทษนั้นยุติธรรมไม่มากเกินเหตุ และสัมพันธ์กับเรื่อง พ่อแม่ไม่ได้ลงโทษเพราะโกรธเคืองเขาไม่ได้ใช้อารมณ์ แต่เป็นเขาเองที่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและสมควรที่จะเรียนรู้ผลลัพธ์นั้นด้วยตัวเอง

 

 

จริง ๆ แล้ว การทำ Logical consequence (รับผลของการกระทำตนเอง) ก็มีใช้กันอยู่บ่อย ๆ แต่เป็นแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน เช่น หากลูกยังทำการบ้านไม่เสร็จ ลูกก็จะไม่ได้ดูทีวี หรือถ้าลูกยังไม่เก็บของเล่นกล่องนี้ ก็จะไปเล่นของเล่นกล่องต่อไปไม่ได้ ถ้าทำน้ำหกก็ต้องเอาผ้ามาเช็ด

 

หากพ่อแม่คนใดเคยประสบปัญหาว่าทำแล้วไม่ได้ผล ก็คงต้องสำรวจตัวเองว่าเราใจแข็งพอที่จะยอมให้ลูกตกที่นั่งลำบากแบบนั้นหรือไม่ ผู้ปกครองที่ใจอ่อนมักยอม เมื่อเห็นว่าลูกอยากเล่นมาก ๆ หรือลูกอ้อนเรามาก ๆ การทำเช่นนั้นเป็นการเข้ามาปกป้องความรู้สึกและการกระทำของลูก ทำให้ลูกไม่เกิดบทเรียนและไม่เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการกระทำของตนเอง

 

การกำหนดเวลาเล่นเกมหรือดูทีวีเราสามารถใช้ Logical consequence มาฝึกลูกให้รับผิดชอบเวลาเองได้ เช่น หากเรากำหนดเวลาเล่นเกมคือครึ่งชั่วโมงต่อครั้ง เมื่อครบเวลาลูกจะต้องเลิก หากลูกไม่ทำตามเวลาก็จะอดเล่นเกมรอบถัดไป 1 รอบ (กรณีเด็กวัยอนุบาล จะต้องใช้นาฬิกาปลุกช่วยบอกเวลา เพราะเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองให้คอยมองนาฬิกาเป็นระยะได้)

 

และอย่าลืมว่า เราต้องใจเย็นที่จะพูดกับลูกรอบถัดมาว่า ที่ลูกจะไม่ได้เล่นเกมนั้นเป็นเพราะอะไร เราต้องไม่ตอกย้ำความรู้สึกแย่ เราเพียงต้องการให้ลูกเรียนรู้และรับผิดชอบการกระทำของเขาเอง

วิธีนี้จะสำเร็จก็ต่อเมื่อผู้ปกครองยอมที่จะปล่อยลูกให้เผชิญความเจ็บปวดรับผลของการกระทำตนเองไปเต็ม ๆ โดยพ่อแม่ก้าวเดินอยู่เคียงข้างลูกด้วยความรู้สึกหนักแน่น เข้าใจ เห็นใจ ไม่กระโดดเข้าช่วย ไม่ตอกย้ำ ไม่โกรธ ให้ลูกรับรู้ว่า นี่คือผลลัพธ์ของการกระทำของเขา คือ สิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบ ประสบการณ์คือครู ทำผิดพลาดก็แก้ไขใหม่ ปลูกฝังความรับผิดชอบให้ลูกเพราะความรับผิดชอบนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเติบโตไป เป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ

 

บทลงโทษที่ดี ลูกจะได้เรียนรู้และปรับปรุงตนเอง โดยไม่เสียตัวตน, ไม่เสียความมั่นใจและไม่ขี้กังวลเกินไป ลงโทษเชิงบวก