การเติบโตในยุคดิจิทัล
ในปัจจุบัน “หน้าจอ” เข้ามามีบทบาทในชีวิตมาก และแทรกซึมเข้าสู่ทุกครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
..."ไม่แน่ใจว่าเป็นที่พ่อแม่หรือเป็นที่ลูกค่ะ ลูกอายุ 1 ขวบ 4 เดือนมีนิสัยช่างเลือกที่เห็นชัดเจน ตั้งแต่ 1 ขวบค่ะ คำถามคือ เราควรให้อิสระแก่ลูกในการเลือกมากแค่ไหนคะ"...
..."เมื่อวานพาเขาไปเลือกซื้อรองเท้าเหมือนกัน มือคุณแม่กำลังจะเอื้อมไปหยิบ เพื่อเอามาให้เขาเลือก เขาบอกว่า "เก็บ" คุณแม่หยิบคู่ไหนเขาก็พูดว่า "เก็บ" สรุปไม่ได้รองเท้ากลับบ้านค่ะตอนนี้เดินเท้าเปล่าในบ้านค่ะ ไม่ได้ให้ออกไปนอกบ้านเลย เพราะไม่มีรองเท้าให้ใส่ คู่เก่าที่เขาชอบคับแล้ว ใส่ไม่ได้แล้วค่ะ แต่ยังมีคู่ที่พี่ ๆ คนอื่นเอามาให้ แต่มันยังหลวมนิด ๆ"...
"เด็กอายุ 1 ปี 4 เดือนเอง คุณแม่เลือกและตัดสินใจไปเลยค่ะ" ลูกไม่สามารถพิจารณารองเท้าที่เหมาะสมกับตัวเองได้เท่าคุณแม่แน่นอน และลูกก็ยังเล็กมาก ไม่รู้ว่าถ้าไม่ซื้อรองเท้าแล้วจะไม่มีรองเท้าใส่ ลูกยังไม่รู้ความอะไรเลย เขาเพิ่งลืมตาดูโลกได้ปีกว่า ๆ เอง หมอเชื่อว่าลูกยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใส่รองเท้าไปทำไม !
ตอนนี้หมอพบคุณแม่ที่อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมาก ๆ จนไม่สามารถใช้สัญชาติญาณธรรมดา ๆ ในการเลี้ยงลูกเลย อยากให้ลองใช้สัญชาติญาณในการเลี้ยงลูกด้วย หลายเรื่องไม่ต้องคิดมาก ทำไปเลยค่ะ อย่างเรื่องนี้ ให้คุณแม่เลือกรองเท้าที่คิดว่าฟิตกับเท้าลูก แล้วให้ลูกรองใส่ดู ดูว่าฟิตพอดีมั้ย แล้วก็ซื้อเลย ไม่ต้องรอลูกโอเคแล้วค่อยซื้อ
ความจริงแล้วคำว่า "ให้เด็กเลือกและตัดสินใจเอง" ควรเป็นประเด็นที่ลูกสามารถใช้สมองพิจารณาได้ หมายความว่า ลูกต้องใช้เหตุผลนำ สมองจะนำเหตุผลมาคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจ ไม่ใช้อารมณ์นำค่ะ เช่น แม่หาซื้อรองเท้าที่ใส่ไปโรงเรียน และแม่ให้ลูกเลือก ลูกควรเลือกรองเท้าสีดำ ไม่ใช่รองเท้าแฟนซีสีสวย ๆ เพราะลูกควรใช้เหตุในการคิดและตัดสินใจ และ เหตุผลก็คือรองเท้าสีดำเป็นกติกาของโรงเรียน หากลูกเลือกรองเท้าแฟนซีสวย ๆ แทน แปลว่า ลูกใช้อารมณ์นำ ไม่ใช้เหตุผล ซึ่งไม่โอเค
เรื่องที่คุณแม่เล่ามา เด็กอายุ 1 ปี 4 เดือน ไม่สามารถใช้สมองคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจซื้อรองเท้าด้วยเหตุผลว่ารองเท้าเดิมใส่ไม่ได้แล้ว ลูกยังคิดเชื่อมโยงแบบนี้เองไม่เป็น คุณแม่ต้องตัดสินใจแทนและมาสอนให้ลูกเชื่อมโยงว่า “มีรองเท้าใหม่เพราะรองเท้าเดิมใส่แล้วแน่นเท้าเกินไป” (ซึ่งลูกยังไม่เข้าใจในทันทีนะคะ แม่หมั่นอธิบายทำนองนี้บ่อย ๆ สมองลูกจะค่อย ๆ พัฒนาการเชื่อมโยง การคิด และการวิเคราะห์ค่ะ)
เรื่องการให้อิสระในการเลือกรองเท้า เสื้อผ้า ช้อนส้อม จานชาม ฯลฯ ตั้งแต่ลูกยังไม่รู้ความ หมอไม่เห็นประโยชน์อะไรในเชิงคิดวิเคราะห์ เห็นเพียงประโยชน์ในด้านอารมณ์ของเด็ก ลูกได้เพลิดเพลิน ได้สนุก ได้มีความสุข และได้ยึดความชอบ ไม่ชอบของตนเองมากขึ้น ตรงอันท้ายไม่ค่อยโอเคนักค่ะ ส่วนความคิดเชิงเหตุผล ลูกจะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้
การให้เด็กเลือกเองตั้งแต่ยังไม่รู้ความ จะไปย้ำสมองส่วนอารมณ์ของเด็ก คือ ชอบ-ไม่ชอบ มากขึ้น ๆ หากทำต่อเนื่องและไม่ฝึกลูกเลือก โดยใช้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ เด็กจะใช้อารมณ์มากกว่าใช้เหตุผล ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และเอาแต่ใจมากขึ้น บางบ้านแค่เรื่องเลือกเสื้อผ้า กลายเป็นประเด็นทะเลาะกันทุกวัน ซึ่งจุดเริ่มต้นก็มักมาจากการให้ลูกใช้ความชอบ ไม่ชอบในตัดสินใจบ่อย ๆ ไม่ได้ฝึกให้ลูกเลือกโดยใช้สมองส่วนเหตุผลพิจารณา
ดังนั้นหากพ่อแม่อยากให้ลูกเลือกเป็น ตัดสินใจเป็น และตัดใจเป็น (สำคัญมาก เด็กต้องตัดใจเป็น) ต้องฝึกลูกใช้สมองคิด วิเคราะห์เป็นหลัก หากลูกทำได้ จะไม่มีการทะเลาะกันกับเรื่องเล็กน้อยแบบนี้ทุกวัน (มีทะเลาะบ้าง ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ทุกวัน) หมอแนะนำให้หาประเด็นที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ซึ่งแน่นอนคงไม่ใช่เรื่องความสวยงาม แล้วฝึกลูกค่ะ ซึ่งเด็กควรอายุประมาณ 2 ปีกว่า ๆ ขึ้นไปและไม่มีปัญหาการสื่อสารด้วย
ยกตัวอย่าง นำเรื่องที่เป็นปัญหาของลูกเองมาฝึกคิด เช่น เรื่องลูกไม่ยอมเข้าบ้านตามเวลา ไม่ยอมปิดการ์ตูน ไม่ยอมอาบน้ำ ฯ ลองฝึกให้ลูกคิดวิเคราะห์หาสาเหตุว่า ทำไมไม่เข้าบ้าน ถ้าไม่เข้าบ้านตามเวลาจะเกิดอะไรขึ้น หากเข้าตามเวลาจะเกิดอะไรขึ้น แล้วลูกจะเลือกตัดสินใจแบบไหน ตัดสินใจแล้ว หากผิดพลาดก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา ซึ่งหมอเขียนเรื่องเหล่านี้บ่อยมาก ลองหาอ่านดูค่ะ
เมื่อเราฝึกสมองส่วนคิดวิเคราะห์ และฝึกลูกตัดสินใจกับประเด็นเหล่านี้บ่อย ๆ ลูกจะใช้เหตุผลมากขึ้น ๆ ๆ และใช้อารมณ์ในการตัดสินใจลดลง ๆ ส่วนการเลือกสิ่งของ เพราะชอบ ไม่ชอบ ดูไม่มีเหตุผลอะไรชัดเจน เป็นการใช้อารมณ์นำไม่ใช่เหตุผล เช่น เลือกรองเท้าสวยๆ เสื้อผ้าสวย ๆ นิทานปกสวย ๆ (ข้างในเป็นเรื่องอะไร ลูกยังไม่รู้เลย) ก็ให้ลูกเลือกได้ด้วยค่ะ เราอยากให้ลูกมีอิสระในการใช้ชีวิตแบบไม่มีเหตุผลบ้างนะคะ ไม่ใช่ตึงไปหมด
หมอใช้คำว่า "บ้าง" ไม่ใช่บ่อยหรือตลอดเวลา และพ่อแม่ต้องรับรู้ในใจว่า เลือกแบบนี้ลูกได้เพลิน ได้สนุก มีความสุข ย้ำสมองส่วนอารมณ์เขาอยู่ แต่ไม่ได้ฝึกสมองส่วนคิดวิเคราะห์ เราต้องฝึกสมองส่วนคิดและตัดสินใจแบบมีเหตุผลของลูกด้วย ห้ามลืมเด็ดขาด !
สุดท้าย บางทีข้อมูลในเน็ตหรือในหนังสือ คุณแม่อาจไม่เข้าใจเบื้องหลังของคำแนะนำนั้น แล้วนำไปใช้ ก็ไม่ได้ผลหรือเกิดข้อผิดพลาด หมอขอให้คุณแม่ใช้สัญชาติญาณประกอบกับข้อมูลในการเลี้ยงลูกด้วย เพราะหมอเชื่อว่า คนเป็นแม่น่าจะมี sense ของการเลี้ยงลูกอยู่ด้วย จริงมั้ยคะ