664
ลูกไม่เล่าความรู้สึก ทำอย่างไรดี ?

ลูกไม่เล่าความรู้สึก ทำอย่างไรดี ?

โพสต์เมื่อวันที่ : October 6, 2022

..."ลูกสาว 4.4 ขวบ ไม่ค่อยพูดหรือเล่าความรู้สึกของตัวเอง เวลามีเรื่องไม่พอใจ ไม่ถูกใจ เขาจะซึม น้ำตาไหล แต่ไม่โวยวายค่ะหมอ น้องจะไม่พูด ไม่บอก เวลาแม่ถามว่า หนูเป็นอะไร ต้องการอะไร มีอะไรไม่ถูกใจ บอกแม่ได้ไหม แม่ไม่รู้ บอกแม่นะ แม่จะได้รู้ไง เขาก็จะกอดอย่างเดียว ร้องไห้ แต่ไม่พูด ไม่บอกความรู้สึกอะไรเลยค่ะหมอ"...

มีหลายเหตุผลที่เด็กไม่บอกว่ารู้สึกอะไร

1. เด็กไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร และต้องการอะไรกันแน่

หมอพบแบบนี้บ่อยมากในเด็กวัยอนุบาล พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า การบอกความรู้สึกเป็นทักษะ ไม่ใช่เกิดมาแล้วทำได้เลย ลองสังเกตผู้ใหญ่หลายคน ก็ยังบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอะไร อาจรู้แค่ว่ามันแย่มากเท่านั้น นั่นก็แปลว่า ผู้ใหญ่เยอะแยะไม่มีทักษะนี้

 

ดังนั้นในวัยเด็ก พ่อแม่ต้องเป็นคนอ่านความรู้สึกของลูก และพูดออกมาให้ลูกได้ยินก่อน พอลูกได้ยินแม่อ่านความรู้สึกเขาให้ฟังบ่อย ๆ ลูกจะเชื่อมโยงได้ว่าความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้เรียกชื่อว่าอะไร และเกิดขึ้นเพราะอะไร ทำไปเรื่อย ๆ เด็กก็จะมีทักษะนี้ค่ะ

วิธีการคือ...

  • พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของลูกเอง ซึ่งข้อนี้ยากสุด ๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ใจร้อน พ่อแม่ไม่มีเวลา พยายามใจเย็น ๆ และมีเวลาสังเกตุลูกนะคะ ค่อย ๆ ฝึกอ่านลูกบ่อย ๆ เราถึงจะอ่านลูกเป็นและช่วยลูกได้ (เขียนสั้น ๆ แบบนี้ พ่อแม่ฝึกกันเป็นปีเลยค่ะ)

 

  • เมื่ออ่านความรู้สึกลูกได้แล้วก็พูดออกมา จะใช้ประโยคคำถามหรือประโยคบอกเล่าก็ได้ เช่น “ลูกกำลังเสียใจที่แม่ปิดการ์ตูนใช่มั้ยคะ” หรือ “ลูกเสียใจเพราะแม่ปิดการ์ตูน” ด้วยน้ำเสียงที่เข้าใจลูกจริง ๆ

  • สีหน้าท่าทางและน้ำเสียงของคุณแม่จะต้องสงบ และที่สำคัญ พร้อมรับฟังลูกพูดกลับด้วย ลูกถึงจะกล้าพูด อย่าหงุดหงิดใส่ลูกนะคะ อย่าพูดแบบหงุดหงิดว่ามีอะไรก็บอกมาแม่ซิ ไม่พูดแม่จะรู้ได้ไง เพราะลูกจะยิ่งกังวล เหมือนแม่ไม่พร้อมฟัง พร้อมจะใส่ลูกมากกว่า

 

  • เมื่อลูกได้ยินแม่บอกความรู้สึกตนเองบ่อย ๆ ซึ่งก็มีหลายความรู้สึกในหลายเหตุการณ์ (เราก็ต้องเก่งระดับหนึ่งนะคะ) ลูกจะเริ่มเข้าใจตนเองมากขึ้น พอจะรู้ว่าบริบทแบบนี้ตนกำลังเศร้า หรือเสียใจ หรือโกรธ หรือเบื่อ ซึ่งคำศัพท์เหล่านี้ ลูกต้องได้ยินพ่อแม่และคนอื่นพูดมาก่อน (ดูแล้วพ่อแม่ต้องฝึกตัวเองก่อนเยอะเลยสู้ ๆ ค่ะ)

 

2. เด็กพอเข้าใจว่ากำลังรู้สึกอะไร แต่ไม่รู้ว่าบ้านเราพูดความรู้สึกกันได้

หากพ่อแม่พูดความรู้สึกกันเองอยู่แล้ว เช่น แม่พูดกับพ่อว่า “ดีใจที่พ่อกลับบ้านเร็วนะ” หรือ พ่อพูดกับแม่ว่า “พ่อรู้สึกสบายใจตอนทำงาน เพราะมีแม่ช่วยดูแลลูกอย่างดี” ลูกบ้านนี้จะพูดความรู้สึกได้โดยอัตโนมัติ เพราะซึมซับจากตัวอย่างในบ้าน

ดังนั้น เริ่มจากครอบครัวก่อนก็ได้ หมั่นสังเกตความรู้สึกตนเองและพูดออกมา (ตัวอย่างข้างบน มีความรู้สึกดีใจ, รู้สึกสบายใจ) ขอแนะนำให้พูดเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันก่อน เพราะชีวิตทุกวันนี้มีเรื่องเครียดมากพอแล้ว

 

3. เด็กมีประสบการณ์ พูดไปแล้วรู้สึกแย่กว่าเดิม

จริง ๆ แล้ว การสื่อสารความรู้สึก เป้าหมายคือเด็กพูดออกไปแล้วรู้สึกสบายใจ มีพ่อแม่เข้าใจ มีพ่อแม่อยู่เคียงข้างในวันที่เขาแย่ พ่อแม่สามารถยอมรับความรู้สึกลูกไม่ว่าจะเศร้า โกรธ เสียใจ ไม่มีการโกรธกลับ หรือสั่งให้หยุดเสียใจ หยุดโกรธ

 

แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้น เมื่อเด็กบอกความรู้สึกตนเอง คือ พ่อแม่มักสอนกลับหรืออธิบายมากขึ้น เช่น เด็กหลายคนพอบอกแม่ว่า “หนูเสียใจที่แม่ปิดการ์ตูน” หรือ “หนูกลัวแม่ตี” เมื่อพูดไปแล้ว แม่ส่วนใหญ่มักตอบแบบนี้ “แม่เข้าใจนะที่หนูกลัว แม่ก็ไม่อยากตีหนูหรอก หนูก็ต้องเชื่อฟังแม่ ไม่งอแงเอาแต่ใจซิ แม่ก็ไม่ตีหนู”

ลองสังเกตุคำตอบคุณแม่ดี ๆ คนเป็นแม่ต้องการให้ลูกเข้าใจเหตุผลของการตี ต้องการให้ลูกเข้าใจว่า แม่ก็ไม่อยากตีลูก แค่อยากให้ลูกเชื่อฟัง ไม่มีตรงไหนที่สื่อว่าแม่เข้าใจลูกจริง ๆ ถึงแม้จะมีคำว่าเข้าใจตอนเริ่มประโยคก็ตาม (แล้วควรพูดยังไง กลับไปอ่านข้อ 1) ด้วยเหตุผลนี้ เด็กหลายคนก็เลยไม่ตอบเวลาแม่ถามว่ารู้สึกอะไร เพราะพูดไปก็ไม่สบายใจขึ้น ไม่ได้รู้สึกว่าแม่เข้าใจ แต่กลับต้องมาเข้าใจแม่แทน เฮ้อ เหนื่อยใจกว่าเดิม

 

ดังนั้นหากอยากให้ลูกเล่าความรู้สึก พ่อแม่ต้องเปิดใจตัวเอง ตัดประเด็นการสอนออกไปก่อน (สอนทีหลัง) ให้บอกตัวเองว่า “คุยเพราะอยากเข้าใจลูก ไม่ใช่อยากให้ลูกเข้าใจ"

เราต้องมีความคิดที่ว่า อยากให้ลูกระบาย อยากให้ลูกสบายใจ อยากให้ลูกมีที่พึ่งทางใจ ไม่เก็บกดเอาแต่ร้องไห้อย่างเดียว เพราะความรู้สึกของลูกนั้นสำคัญมาก สำคัญไม่น้อยไปกว่า การอบรมให้ลูกเชื่อฟังเลย ซึมเศร้า พ่อแม่รับฟังโดยไม่ตัดสิน