3403
วิธีรับมือเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีครึ่ง ร้องไห้ตีตัวเอง

วิธีรับมือเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีครึ่ง ร้องไห้ตีตัวเอง

โพสต์เมื่อวันที่ : November 2, 2022

..."ลูก 1 ขวบ 5 เดือน น้องหงุดหงิด งอแง เพราะฟันกรามจะขึ้น และอาการเอาแต่ใจร่วมด้วย เวลาไม่พอใจ หรือขัดใจ ลูกจะชอบเอามือตบหน้า ตบหัวตัวเอง เวลาคุณแม่สอนเขา ปลอบประโลมเขา เขาก็ยิ่งทำ พอคุณแม่นิ่งเฉย แต่อยู่ข้าง ๆ เขา น้องก็ร้องโวยวาย ทำใหญ่เลย ถ้าดุ หรือแม่ทำเสียงดังใส่ ยิ่งเตลิดไปอีกคุณแม่ควรทำอย่างไร กับอาการของลูกดีคะ ช่วงนี้เอาใจมากเลย แม่กลัวผลระยะยาว มันจะส่งผลตอนน้องโตขึ้น"...

 

ไม่ต้องสอนหรือดุหรือปลอบหรือนิ่งเฉยในช่วงที่เด็กงอแง อ่านอีกครั้งค่ะ ไม่ต้องสอนหรือดุหรือปลอบหรือนิ่งเฉยในช่วงที่เด็กงอแง เพราะจะทำให้เด็กและแม่หมกหมุ่นกับการแก้ปัญหาร้องไห้ สมองทั้งสองคนจะไม่หลุดจากเรื่องนี้ แทนที่จะคิดแก้ปัญหามากกว่า

 

สิ่งที่ควรทำ

1. แม่ตั้งสติ

2. แม่เบี่ยงเบนลูกมาเล่นกันสนุก ๆ กับแม่ เช่น เล่นจั๊กจี้หรือร้องเพลง เพื่อดึงสมองลูกให้ออกจากเรื่องนั้น มาจดจ่อกับใบหน้าแม่ที่มีความสุข

3. ช่วงที่เบี่ยงเบนลูก เนียน ๆ จับมือลูกไม่ให้ตบหน้าตัวเอง ทำได้ใช่มั้ยคะ

 

สามข้อแรกนี้ คือ การรับมือหน้างาน อ่านแล้วง่าย แต่จริง ๆ ทำยากนะคะ หมอต้องช่วยพ่อแม่ทำหลายเคสเลย ดังนั้น ควรเล่นสนุก ๆ กับลูก ไว้เป็นต้นทุนความทรงจำของลูก ตอนเบี่ยงเบนจะง่ายขึ้น

 

 

4. หาสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้และแก้ไขตรงนี้ คุณแม่ไม่ได้บอกสาเหตุมา หมอขอคิดเองแล้วคุณแม่เอาไปประยุกต์นะคะ ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจะเอามือถือ พอเห็นแล้วจะร้องเอา พอไม่ให้ก็ร้องไห้ คุณแม่ก็ต้องไม่ใช้มือถือให้ลูกเห็น อายุเท่านี้ พอไม่เห็นก็มักไม่ขอ พวกขนมต่าง ๆ ก็ใช้วิธีนี้คืออย่าให้เห็น อย่าเดินผ่านร้านค้าที่ขาย เป็นต้น

ถ้าเป็นเรื่อง พาไปอาบน้ำ แล้วลูกไม่ยอมไป ก็พยายามชวนสนุก ๆ หรือให้เวลาทำใจ เช่น ใช้วิธีนับเลข บอกว่า พอนับเลขกันถึง 20 เราไปห้องน้ำกันนะ แล้วชวนลูกนับค่ะ พยายามไม่อุ้มไปเลยขณะที่ลูกกำลังเล่นอยู่ค่ะ

 

สรุปก็คือ ต้องวิเคราะห์สาเหตุที่ขัดใจลูก แล้วหาวิธีทำแบบใหม่ค่ะ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่ขัดใจลูกหลาย ๆ เรื่อง และบ่อย ๆ ลูกจะไม่ร้องไห้โดยไม่จำเป็น ร้องบ่อย ๆ ตีตัวเองบ่อย ๆ ค่ะ

 

5. คุณแม่ต้องเพิ่มเวลาปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เช่น เล่นกับลูกและสนุกไปกับลูก, พาลูกทำงานบ้าน ลูกจะภูมิใจ และไม่มีเวลาซนวุ่นวาย, พาลูกไปวิ่งเล่นที่กว้าง ๆ ให้ปีนป่าย ให้ปล่อยพลัง และอย่าลืม เล่านิทานให้ลูกฟัง เล่าสนุก ๆ เล่าเยอะ ๆ หลาย ๆ เล่ม ไม่ต้องเล่าแค่ก่อนนอน เล่าตอนไหนก็ได้

 

 

สองข้อหลัง ไม่ใช่การแก้ไขหน้างานตอนลูกร้องไห้ แต่เป็นการสะสมต้นทุนเชิงบวก และลดโอกาสพ่อแม่ขัดใจลูกและลูกร้องไห้ โดยไม่จำเป็น และสุดท้าย ต้องทำครบ 5 ข้อลูกถึงจะดีขึ้น จริง ๆ จะเลือกทำบางข้อไม่ได้ค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

 

ปล1. ถ้าการตีตัวเอง ไม่ดีขึ้นใน 1 เดือน แนะนำพบแพทย์

ปล.2 ถ้าพัฒนาการช้า แนะนำพบแพทย์