787
เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจ

เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจ

โพสต์เมื่อวันที่ : November 4, 2022

..."คุณหมอคะ ลูกอายุ 3 ขวบ เหมือนเรียกร้องความสนใจตลอด แม่เหนื่อยมาก เบื่อมากกับพฤติกรรมแบบนี้ของลูก คุณหมอมีคำแนะนำไหมคะ ?"... คุณแม่ท่านหนึ่ง 👩🏻

 

เด็กฉลาดกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิด แม้กระทั่งเด็กเล็ก เด็กรู้ว่า ‘เขาต้องทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งที่ต้องการมา’ เมื่อลูกอยากกินขนม เขาจะแผดเสียงร้องออกมาแล้วบอกว่า “อยากกินขนม” เมื่อลูกไม่อยากเข้านอน เขาจะวิ่งและกระโดดไปมา หรือทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่เดินไปปิดไฟในห้องนอน เมื่อลูกไม่อยากอาบน้ำแปรงฟัน ลูกจะวิ่งหนีพ่อแม่ไปมา ทำหูทวนลมไม่สนใจ หรือทำตัวอ่อนตัวพับเพื่อไม่ให้พ่อแม่อุ้มเขาไปยังห้องน้ำ และแน่นอน

 

‘เด็กจะเรียกร้องความสนใจ’ ยามที่เขาต้องการพ่อแม่ ‘เด็กจะเรียกร้องความสนใจ’ เมื่อเขาไม่ได้รับ ‘ความสนใจ’ และ ‘ปฏิสัมพันธ์’ ที่เพียงพอ

 

 

ดังนั้นการเรียกร้องความสนใจของเด็กไม่ควรถูกตีความเป็น ‘พฤติกรรมที่ไม่ดี’ เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการ ‘ความสนใจ’ จากคนที่เขารักและผูกพัน เด็กทุกคนจึงต้องการความสนใจจากพ่อแม่เป็นเรื่องธรรมดา เด็กเรียกร้องความสนใจแสดงว่า "เขาขาดความสนใจ" ต้องถามก่อนว่าเราได้ให้ความสนใจจริง ๆ กับลูกแล้วหรือยัง

รู้หรือไม่ ❓ เด็กเป็นวัยที่ชัดเจนมากในการเรียกร้องความสนใจและที่สำคัญเขาเรียนรู้ที่จะเลือกใช้วิธีเรียกร้องความสนใจกับพ่อแม่อย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งการเรียกร้องความสนใจนั้นแสนน่ารัก น่าเอ็นดู เป็นเด็กดี วิ่งมากอด ร้องเพลงเต้นไปมา จนเราเองหมั่นเขี้ยวอยากกอด อยากอุ้มเขา และคุณพ่อคุณแม่คงชอบวิธีเรียกร้องความสนใจแบบนี้

 

และก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งอย่างใม่น่าเชื่อที่ ยามที่เด็กทำตัวเรียบร้อย น่ารัก พ่อแม่หลายคนกลับไม่เคยให้ความสนใจ ชื่นชม แต่พอลูกทำตัวไม่น่ารักขึ้นมาที พุ่งมาถึงเนื้อถึงตัว ได้ความสนใจแบบจัดเต็มจากพ่อแม่จึงทำให้เด็กหลายคนเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ด้วยวิธีที่ไม่น่ารัก ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้แบบไม่มีเหตุผลในสายตาผู้ใหญ่ อาละวาด แกล้งน้อง ทำอะไรแผลง ๆ ตีตัวเอง ตีคนอื่น หรือกระทั่งทำลายข้าวของด้วยการขว้างปาทุบตี แล้วก็อีกนั่นแหละ หลายคนได้ทั้งความสนใจ และยังได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการอีกด้วย ก็แล้วจะไม่ให้ดื้อและเรียกร้องความสนใจได้อย่างไร

 

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก่อนก็คือ “ร้องไห้ไม่มีเหตุผล” นั้นไม่มีอยู่จริง

 

มันต้องมีเหตุผลเสมอกับทุกการร้องไห้ที่เสียน้ำตา ตัวลูกเองอาจจะยังอธิบายออกมาไม่ได้ แต่พ่อแม่นั่นแหละที่ต้องหาว่าการร้องไห้นั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ยิ่งบ้านที่ลูกร้องไห้แบบ "ไม่มีเหตุผล" ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ทุกวัน แล้วคุณพ่อคุณแม่จะไม่หาเหตุผลสักหน่อยเหรอครับ และหลายครั้งการร้องไห้นั้นก็เกิดจากการต้องการความสนใจจากพ่อแม่ก็ได้นะครับ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจ ‘เหตุผล’ ของการเรียกร้องความสนใจนั้นก่อน และสื่อสารว่าเรารับรู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร

อันดับต่อไปก็คือ การจัดสรร “เวลาคุณภาพ” (Quality Time) 🧸 ที่พ่อแม่จะใช้ร่วมกันกับลูกอย่างเพียงพอ (เท่าที่สามารถจัดสรรได้ภายใต้ความจำกัดของกิจวัตรของแต่ละคนในครอบครัว เช่น เวลาทำงาน เวลาเรียน และงานบ้าน เป็นต้น) หลายครั้งเวลาที่มีให้กันก็น้อยอยู่แล้ว แต่เรากลับใช้เวลาที่มีอย่างจำกัดนั้นไปกับการห้าม การดุ การทำโทษ การบ่น การเปรียบเทียบว่าคนนั้นคนนี้ดีกว่าลูกอย่างนั้นอย่างนี้ ลูกจะยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าตัวเองดื้อแบบนี้นี่แหละ รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก และนั่นจะย้อนกลับมาทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรม 1-2-3-4 ที่คุณแม่ไม่ชอบตามมาอีกเป็นมาก

 

ย้อนกลับไปใช้เวลาดี ๆ ร่วมกัน ทำดีชื่นชม สอนให้เขาช่วยเหลือตัวเอง มีวินัย เลี้ยงและปรับพฤติกรรมแบบเชิงบวก ให้ลูกรู้ว่าแม่มองเห็นลูกเสมอทั้งตอนที่น่ารักและไม่น่ารัก แต่แม่จะสอนให้หนูรู้ว่าอะไรดี ควรทำ อะไรไม่ค่อยดี ทำลดลงเป็นเรื่องดี แล้วเขาจะน่ารักขึ้นเรื่อย ๆ ในแบบของตัวเอง