460
โรคหัด

โรคหัด

โพสต์เมื่อวันที่ : January 5, 2023

โรคหัด (Measles) คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย โดยโรคหัดเกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง

 

เชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โรคหัดถือเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยไม่พบการแพร่เชื้อดังกล่าวในสัตว์ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก รวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กแม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคแล้วก็ตาม

 

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัดจากทั่วโลก 134,200 ราย คิดเป็นประมาณ 367 รายต่อวันหรือ 15 รายต่อชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทย

อาการของโรคหัด

โดยทั่วไปจะเกิดอาการของโรคภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส

  • เป็นไข้ตัวร้อน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัดในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และมีตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม

 

  • ผื่นขึ้นตามร่างกาย เมื่อผู้ป่วยออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง

 

สาเหตุของโรคหัด

โรคหัดจัดเป็นโรคติดต่อที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูง การติดโรคนั้นเกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านทางอากาศ จากการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งช่วง 4 วันทั้งก่อนและหลังเกิดผื่นนั้นถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจและแพร่ไปทั่วร่างกาย ทำให้ป่วยเป็นโรคหัด โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัดหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่เป็นโรค

 

ผู้ที่เสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคหัดนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมักเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด โดยเเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินเออย่างเพียงพอจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้สูง นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนและได้รับเชื้ออาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากภูมิต้านทานถูกทำลายอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ รวมทั้งผู้ที่ขาดสารอาหารนั้น จะป่วยเป็นโรคหัดอย่างรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ



การป้องกันโรคหัด

โรคหัดป้องกันได้หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันคือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) โดยทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี

 

การรับวัคซีนนี้ก็มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลบางกลุ่ม โดยกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคหัด ได้แก่ สตรีมีครรภ์ เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรค ลูคีเมีย และมะเร็งชนิดอื่น ๆ แล้วยังไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ และเด็กที่มีประวัติแพ้เจลาตินหรือกลุ่มยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin) อย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้น หากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้รับเชื้อไวรัสโรคหัดเข้าไปก็สามารถฉีดแอนติบอดี้หรือสารโปรตีนที่มีชื่อว่าอิมมูนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อป้องกันการป่วยได้ ซึ่งต้องฉีดสารดังกล่าวภายใน 6 วันหลังจากที่รับเชื้อ

 

การรักษาโรคหัด

แม้จะยังไม่มีตัวยาหรือวิธีทางการแพทย์ที่ได้รับการระบุว่าสามารถรักษาและกำจัดเชื้อไวรัสของโรคหัดได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลงได้ด้วยการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย อยู่ในที่แห้งอุณหภูมิพอเหมาะเพื่อลดอาการไอบ่อยและเจ็บคอ และอาจให้วิตามินเอเสริมให้กับร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์

 

หากทารก เด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค มะเร็ง หรือโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอได้รับเชื้อไวรัสโรคหัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิดทันที ที่สำคัญ ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวรับประทานยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ เพราะเด็กอาจจะเกิดอาการแพ้ยาที่เรียกว่ากลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) ซึ่งทำให้ตับและสมองบวม

 

เมื่อเกิดอาการดังกล่าว เด็กจะอาเจียนทันที อ่อนเพลีย หมดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว พูดหรือทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม และมักนอนซม หากตับและสมองถูกทำลายไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการสับสนมึนงง หายใจหอบเร็ว แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เกิดอาการชัก และหมดสติ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจหายจากอาการได้อย่างปลอดภัย

 

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค