1398
Check ! สีอุจจาระบอกสุขภาพลูกได้

Check ! สีอุจจาระบอกสุขภาพลูกได้

โพสต์เมื่อวันที่ : April 25, 2023

ลูกแต่ละวัยขับถ่ายกี่ครั้ง แบบไหนคือท้องผูก แบบไหนคือท้องเสีย สีอุจจาระของลูกบอกอะไร สีแบบไหนผิดปกติไหม

 

👶🏻 ทารกอายุ 2-3 วันแรกหลังคลอด ลูกจะขับถ่ายขี้เทา สีดำออกเขียวลักษณะเหนียว ๆ

 

👶🏻 ทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน เด็กในวัยนี้อาจจะเจอว่าลูกขับถ่ายบ่อยมากประมาณ 10 ครั้งหรือมากกว่านั้นขึ้นไป เพราะการทำงานของระบบการขับถ่ายของลูกเป็นแบบอัตโนมัติ คือเมื่อนมเต็มกระเพาะ จะส่งสัญญาณผ่านระบบประสาท ไปกระตุ้นที่ลำไส้ใหญ่จึงเกิดการขับถ่ายออกมา ซึ่งการทำงานแบบนี้สามารถพบได้ตั้งแต่ทารกจนถึงประมาณ 2-3 เดือน ในวัยนี้ยังพบความแตกต่างของการขับถ่ายระหว่างเด็กที่กินนมแม่และเด็กที่กินนมผงดังนี้...

➜ เด็กกินนมแม่ เด็กจะได้รับนมแม่ส่วนหน้าเยอะ เจอในกรณีลูกดูดเต้าแม่ระยะเวลาสั้น ๆ หรือคุณแม่ปั๊มนมระยะเวลาสั้น ๆ ลูกจะได้รับแต่นมแม่ส่วนหน้า ซึ่งนมแม่ส่วนหน้านี้จะมีน้ำตาลแลคโตสเยอะส่งผลให้ลูกขับถ่ายบ่อย ลักษณะเป็นน้ำเป็นฟอง หรือบางทีก็ขับถ่ายจนก้นแดงก็มี

 

เด็กที่ขับถ่ายบ่อยอาจเห็นเป็นมูกเคลือบอุจจาระออกมาด้วย เกิดจากผนังลำไส้หลุดลอกออกมา แก้ไขได้โดยให้ลูกกินนมแม่นานขึ้น เข้าเต้าข้างละ 15 นาที รวม 2 เต้าใช้ระยะเวลาในการดูดนมแม่หรือปั๊มนมแม่ 30 นาที เพื่อให้ลูกได้รับนมแม่ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง เมื่อลูกได้รับนมแม่ถึงนมแม่ส่วนหลัง ด้วยนมแม่ส่วนหลังนี้จะประกอบด้วยโปรตีนและไขมัน ลูกจะขับถ่ายเป็นเนื้อ สีเหลืองทอง เป็นเม็ด ๆ เหมือนเม็ดมะเขือ

➜ เด็กที่กินนมผง

ลูกจะขับถ่ายบ่อย ๆ 1-6 ครั้งต่อวัน หรือวันเว้นวัน หรือ 2-3 วันครั้ง ลักษณะอุจจาระคล้ายไข่กวน สีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียว นิ่มดี ไม่แข็ง แต่หากเด็กที่กินนมผงแล้วขับถ่ายแข็ง ลักษณะเม็ดกระสุน หรือเหนียวปั้นเป็นดินน้ำมันได้ อาจต้องกลับมาเช็คว่าชงนมเข้มเกินไปไหมหรืออาจต้องเปลี่ยนนมหากเจอว่าลูกท้องผูก

 

 

👶🏻 อายุ 1-4 เดือน กรณีเด็กที่กินนมแม่ อายุประมาณ 1-2 เดือนขึ้นไป ลูกอาจจะลดปริมาณการขับถ่ายลงเหลือวันละ 1-8 ครั้ง หรืออาจไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน สูงสุดที่ลูกไม่ขับถ่ายคือ 20 วัน โดยที่ลูกอาการปกติดีกินนมได้ หลับได้ ท้องนิ่มดี ผายลมเล็กน้อย

 

อาการเหล่านี้เป็นอาการปกติที่สามารถเจอได้ สาเหตุที่ลูกไม่ขับถ่ายทุกวันนั้น เพราะลำไส้ลูกสามารถดูดซึมสารอาหารในนมแม่ไปใช้ได้หมด แทบไม่เหลือกากของเสียให้ขับถ่ายออกมา ลำไส้จึงต้องสะสมกากไว้หลายวัน จึงจะขับถ่ายออกมา หลายวันขับถ่ายจะพบว่าปริมาณอุจจาระเยอะ ลักษณะนิ่มดี ไม่แข็ง แบบนี้คืออาการปกติที่เจอได้ คุณแม่ไม่ต้องกังวล

คุณแม่สามารถช่วยลูกได้โดยการที่ กินผัก ผลไม้กากใยสูง เช่น พรุน มะขาม มะละกอสุก เพื่อช่วยให้ลูกขับถ่ายง่าย ให้ลูกกินนมแม่ส่วนหน้าเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่าย นวดท้องให้ลูกเป็นรูปตัวยูคว่ำ ทำท่ากายบริหาร ได้แก่ ท่าเข่าชิดพุงและท่าปั่นจักรยานในอากาศเพื่อเพิ่มแรงดันในช่องท้องช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ไม่ต้องสวนก้นให้ลูก เพราะยิ่งทำให้การทำงานของระบบประสาทที่ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายและกล้ามเนื้อส่วนนั้นเสียการทำงานได้

 

ส่วนกรณีลูกที่กินนมผง อาจเจอว่าลูกขับถ่ายทุกวันจำนวน 1-8 ครั้ง ลักษณะอุจจาระนิ่มดี สีเหลือง สีน้ำตาล สีเขียว เจอได้หมด หรือประมาณ 2-3 วันขับถ่ายก็สามารถเจอได้เช่นกัน

 

 

👶🏻 อายุ 4-6 เดือน ลูกขับถ่ายจำนวนครั้งลดน้อยลง ลักษณะนิ่มดีและค่อย ๆ เป็นก้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเจอว่าลูกขับถ่าย 2-3 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 2-3 วันขับถ่ายก็สามารถเจอได้

 

👶🏻 อายุ 6 เดือน-1 ปี ลูกเริ่มกินอาหารเสริมตามวัย ลำไส้มีการปรับตัวกับอาหารที่ลูกกิน ช่วงเริ่มป้อนอาหารเสริมที่ลำไส้ลูกกำลังปรับตัว อาจเจอว่าลูกไม่ขับถ่าย ลูกอุจจาระแข็งหรือเหลว ซึ่งสามารถเจอได้ในช่วงแรกที่เริ่มป้อนอาหารเสริมตามวัยลูก

เมื่อลำไส้ลูกปรับตัวได้ประมาณ 5-7 วัน ลูกก็จะกลับมาขับถ่ายปกติ และอาหารที่ลูกกินก็มีส่วนให้ลูกขับถ่ายแข็งได้ แก้ไขโดยให้ลูกกินอาหารกากใยเพิ่มขึ้น เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ เช่น น้ำพรุน พรุน มะละกอสุก แก้วมังกร ป้อนน้ำต้มสุกตามหลังมื้ออาหารประมาณ 2-3 oz.

 

คุณแม่สามารถนวดท้องให้ลูกเป็นรูปตัวยูคว่ำ ทำท่ากายบริหารช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เช่น ท่าเข่าชิดพุงและท่าปั่นจักรยานในอากาศ วัยนี้จะขับถ่ายทุกวัน แต่จะลดจำนวนการขับถ่ายลงเหลือวันละ 1-3 ครั้ง หรือประมาณ 2-3 วันถึงจะขับถ่าย ลักษณะเป็นเนื้อนิ่ม

👧🏻 อายุ 1-2 ปี ลูกจะขับถ่ายเป็นก้อนมากขึ้น ลดจำนวนการขับถ่ายลงเหลือวันละ 1-3 ครั้ง หรือไม่ได้ขับถ่ายทุกวันประมาณ 2-3 วัน ลักษณะเป็นเนื้อนิ่มดี

 

👧🏻 อายุ 2-4 ปี ลูกจะขับถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง หรือประมาณ 2-3 วันถึงจะขับถ่าย เป็นเนื้อ นิ่มดี การขับถ่ายจะเหมือนกับผู้ใหญ่

 

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ขับถ่าย ! 

ทารกอายุ 1 เดือนถึง 6-8 เดือน อาจจะว่าลูกร้องไห้หน้าดำหน้าแดงก่อนขับถ่ายและขณะขับถ่าย ลักษณะอุจจาระคือนิ่มดี หลังขับถ่ายอาการปกติ กินได้ เล่นได้ ร่าเริงสดใส แบบนี้คือ สภาวะ Infant Dyschezia

 

หากลูกยังเบ่งอุจจาระไม่เก่ง สาเหตุจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายยังทำงานได้ไม่ประสานกันดีจึงพบอาการดังกล่าว และลูกจะดีขึ้นและสภาวะนี้จะหายไปเมื่อลูกเบ่งขับถ่ายอุจจาระเก่งขึ้นที่อายุประมาณ 6-8 เดือน

🌟 ลูกท้องผูก 🌟

จะมีอุจจาระแข็ง ลักษณะเป็นเม็ดกระสุน ถ่ายเหนียวปั้นเป็นดินน้ำมันได้ เบ่งหน้าดำหน้าแดงขณะถ่าย มีเลือดเคลือบอุจจาระจากการฉีกขาดของรูทวารหนัก ต่อให้ลูกถ่ายทุกวัน ลักษณะแบบนี้ ก็บ่งบอกว่าลูกท้องผูก

 

🌟 ลูกท้องเสีย 🌟

ซึ่งจะต้องแยกการวินิจฉัยนี้ออกจากเด็กทารกที่กินนมแม่และขับถ่ายบ่อย ลูกท้องเสีย คือขับถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้ง หรือมีมูกเลือดปน 1 ครั้ง หรือขับถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก 1 ครั้ง อย่างใดอย่างหนึ่ง กรณีนี้พาลูกหาหมอ

สีอุจจาระของลูกบอกอะไรบ้าง ?

✎ ลูกขับถ่ายสีเขียว เจอได้ทั้งปกติและผิดปกติ ในกรณีที่เด็กที่กินนมแม่ และคุณแม่กินอาหารที่มีสีเขียวในปริมาณมาก เช่น ผักใบเขียว ชาเขียว ก็อาจเจอว่าลูกถ่ายออกมาเป็นสีเขียวได้เป็นเรื่องปกติ

 

ส่วนในเด็กที่กินนมผงอาจเจอว่าลูกขับถ่ายเขียวได้เพราะธาตุเหล็กที่ใส่ลงไปในปริมาณมาก ลำไส้ลูกดูดซึมไปใช้ได้ไม่หมด เหลือค้างในลำไส้ จึงเจอว่าลูกขับถ่ายมาเป็นสีเขียวเป็นเรื่องปกติเช่นกัน แต่ถ้าลูกถ่ายเขียวและมีอาการดังนี้ เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน งอแง ซึมลง กินไม่ได้ อาจคิดถึงภาวะติดเชื้อในลำไส้ กรณีนี้พาลูกหาหมอ

✎ ลูกขับถ่ายสีดำออกเทา อุจจาระแข็งสีดำออกเทา มีเลือดเคลือบอุจจาระ ร้องให้งอแงขณะขับถ่าย เป็นมีภาวะท้องผูก

 

✎ ลูกขับถ่ายดำเหมือนยางมะตอย เหนียว กลิ่นเหม็นคาว ร่วมกับมีอาการซึม เพลีย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร กรณีนี้พาลูกหาหมอด่วน

 

✎ ลูกถ่ายสีดำ อาหารที่ลูกกินที่มีสีดำ เช่นตับ เลือด หรือยาน้ำเสริมธาตุเหล็ก

 

✎ ลูกขับถ่ายเป็นมูก ถ้าลูกกินนมแม่ล้วนและกินได้แต่นมแม่ส่วนหน้าอาจเจอว่าลูกขับถ่ายบ่อย อุจจาระเป็นน้ำและมีมูกเคลือบอุจจาระ เพราะผนังลำไส้หลุดออกมาด้วย แก้ไขโดยให้ลูกกินนมแม่นานขึ้นให้ลูกดูดนมแม่ถึงนมแม่ส่วนหลัง แต่ถ้าลูกถ่ายเป็นมูก ร่วมกับมีไข้ อาเจียน ร้องไห้งอแง อาจคิดถึงติดเชื้อในลำไส้ กรณีนี้พาลูกหาหมอ

 

 

✎ ลูกขับถ่ายมีมูกเลือด พบได้หลายสาเหตุ เช่น แพ้โปรตีนแปลกปลอมผ่านนมแม่ แพ้นมวัว แพ้อาหารที่กิน แต่จะเจออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจครืดคราด ไอ จาม หรือ ผื่นเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ยิ่งได้รับสารกระตุ้นอาการก็จะยิ่งเป็นมาก กรณีนี้พาลูกหาหมอเพื่อหาสาเหตุและรักษา

 

หรือลูกขับถ่ายมีมูกเลือดปนอาจคิดถึงภาวะลำไส้อักเสบติดเชื้อกรณีนี้ก็จะต้องพาลูกหาหมอเช่นกัน หรือลูกขับถ่ายมีมูกเลือดเหมือนเยลลี่สีแดง ๆ ร่วมกับมีไข้ ท้องอืด อาจคิดถึงภาวะลําไส้กลืนกันกรณีนี้รีบหาหมอโดยด่วน

 

✎ ลูกขับถ่ายมีเศษอาหารปน บดอาหารลักษณะหยาบมากเกินไป แก้ไขได้โดยบดอาหารให้ละเอียดมากขึ้น

✎ ลูกขับถ่ายสีขาวซีด สีเหลืองซีด ร่วมกับมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ท้องอืด ร้องไห้งอแง อาจคิดถึงท่อน้ำดีอุดตัน กรณีนี้รีบหาหมอ

 

✎ ลูกขับถ่ายสีแดง จากอาหารที่ลูกกิน หรือท้องผูก อุจจาระมีเลือดเคลือบอุจจาระออกมาเป็นแผลที่รูทวาร หรือท้องเสียติดเชื้ออย่างหลังนี้ต้องพาลูกหาหมอ

 

ทั้งหมดนี้ก็คือทุกเรื่องของการขับถ่ายของลูกน้อยที่แม่ต้องรู้จะได้ดูแลลูกได้