ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
ลูกหายใจครืดคราด ลูกเป็นอะไร ดูแลลูกอย่างไร ลูกหายใจครืดคราดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้...
🌟 1. ลูกหายใจครืดคราดในคอเวลากลางคืน 🌟
สามารถเจอได้เป็นเรื่องปกติในทารกแรกเกิดถึง 4 เดือน เพราะหลอดลมของลูกยังไม่แข็งตัว ทำให้เวลานอนหลับสนิทตอนกลางคืน ร่วมกับอากาศเย็น หลอดลมอ่อนตัว จึงได้ยินเสียงลูกหายใจครืดคราดในคอ หากลูกมีเพียงเสียงหายใจครืดคราดในคอเวลากลางคืน แต่อาการโดยรวมปกติ ไม่มีผื่นที่แก้มและข้อพับแขนขา ไม่มีถ่ายเป็นมูกเลือด ไม่มีอาเจียนหรือแหวะนมมากผิดปกติ
ถ้ากรณีแบบนี้คือสภาวะปกติที่สามารถเจอได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องทำใด ๆ พอลูกโตขึ้นอายุมากกว่า 4 เดือนขึ้นไปอาการนี้ก็จะหายไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่กังวลใจสามารถใช้น้ำเกลือหยดที่รูจมูก 3-5 หยดได้ แต่หากลูกมีอาการหายใจครืดคราด ร่วมกับมีผื่นที่แก้ม ข้อพับแขนขา ถ่ายเป็นมูกเลือด อย่างหลังนี้อาจคิดถึงแพ้โปรตีนนมวัว หรือแพ้อาหารผ่านทางนมแม่ ต้องพาลูกไปตรวจรักษากับคุณหมอ
🌟 2. ลูกหายใจครืดคราดจากการกินนมเยอะมากจนเกินไป 🌟
หรือเรียกว่าภาวะ overfeeding กรณีนี้ลูกจะมีอาการ กินนมเยอะมาก ภายหลังจากที่กินนมได้ยินเสียงครืดคราดในคอ จากปริมาณนมที่เยอะมากไหลท้นขึ้นมาที่หลอดอาหารจนได้ยินเสียงครืดคราดในคอ และมีอาการอึดอัดแน่นท้องและอาเจียนออกมา หลังจากอาเจียนก็มีอาการแสบคอลูกก็จะร้องไห้งอแง แล้วก็ร้องไห้ขอกินนมอีก เป็นวงจรวนซ้ำแบบนี้ ร่วมกับน้ำหนักตัวลูกเพิ่มมากกว่าเดือนละ 1 กิโลกรัม
↪︎ วิธีแก้เมื่อลูกมีภาวะ overfeeding
คุณแม่ดูแลให้ลูกได้รับปริมาณน้ำนมที่เพียงพอต่อความต้องการของลูก ซึ่งเด็กทารกจนถึง 1 ปีต้องการนมเฉลี่ยชั่วโมงละ 1 ออนซ์ และใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง ลูกก็จะต้องการนมเฉลี่ยปริมาณ 24 - 32 ออนซ์ต่อวัน และควรแบ่งนมให้ลูกกินรอบละ 2-3 ออนซ์ต่อมื้อ ร่วมกับจับลูกเรอขณะกินนมและหลังกินนม
หากลูกดูดนมแม่จากเต้า และปริมาณน้ำนมในเต้าเยอะมาก ให้คุณแม่ปั๊มน้ำนมออกก่อน 10-15 นาที และให้ลูกมาดูดเต้า แต่กรณีนี้จะไม่สามารถรู้ได้ว่าลูกได้รับน้ำนมปริมาณเท่าไหร่ หรือคุณแม่ใช้วิธีการปั๊มนมแม่ใส่แก้วและป้อนให้ลูกกินจากแก้วก็จะสามารถทราบปริมาณน้ำนมที่ลูกกินได้ หากลูกกินนมผง ชงนมให้ลูกกินรอบละ 2-3 ออนซ์ต่อมื้อ หากลูกยังร้องไห้ขอกินนมต่ออีก สามารถให้ลูกดูดจุกหลอกได้เพื่อลดปริมาณการกินนม
🌟 3. ลูกหายใจครืดคราดจากปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ 🌟
เช่น ฝุ่น แป้งฝุ่น เกสรดอกไม้ แมลงสาบ ควันบุหรี่ อากาศเย็น มลพิษต่าง ๆ หากเกิดจากปัจจัยกระตุ้นเหล่านี้ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น
🌟 4. ลูกหายใจครืดคราดจากสภาวะโรคบางอย่าง 🌟
เช่น เป็นกรดไหลย้อน ซึ่งสามารถเจอได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงเด็กโต มักพบบ่อยที่เด็กอายุ 3-4 เดือน เพราะหูรูดของหลอดอาหารที่ต่อกับกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ทำให้นมมีการไหลท้นขึ้นมาที่หลอดอาหารจึงได้ยินเสียงครืดคราดในคอ หรือคุณแม่ให้ลูกกินนมในท่านอนศีรษะต่ำกว่าลำตัว หรือภายหลังจากป้อนนมลูกเสร็จแล้วไม่ได้จับลูกเรอ รวมถึงหลังจากลูกกินนมเสร็จให้ลูกนอนไกวเปลศีรษะต่ำกว่าลำตัว เหล่านี้อาจทำให้ลูกเกิดสภาวะกรดไหลย้อนได้
อาการที่บ่งบอกว่าลูกมีสภาวะกรดไหลย้อน เช่น อาเจียน แหวะนม ร้องไห้ไม่สุขสบายขณะกินนมเพราะแสบร้อนบริเวณอก ลูกกินนมน้อย น้ำหนักตัวไม่ขึ้น หากเจอว่าลูกมีอาการเหล่านี้ควรพาลูกหาหมอเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม
↪︎ วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเป็นกรดไหลย้อน
จับลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม ใช้ระยะเวลาในการจับเรอ 10-15 นาที จากนั้นจัดศีรษะและลำตัวสูง 30 องศา นอนอยู่ท่านี้อยู่นาน 30 นาที เพื่อป้องกันการแหวะนม และลดภาวะกรดไหลย้อน
🌟 5. ลูกหายใจครืดคราดจากการแพ้อาหารผ่านทางนมแม่ 🌟
แพ้โปรตีนนมวัว หรือแพ้อาหารเสริมตามวัย หากกรณีนี้มักจะมีอาการแสดงออกมาหลายระบบไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายมูกเลือด ถ่ายเหลวเรื้อรัง อาเจียน เลี้ยงไม่โต ระบบผิวหนัง เช่น ผื่นหรือผื่นลมพิษ หน้าบวม ตาบวม ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังถ้าเป็นเด็กเล็กจะเจอที่ใบหน้า ข้อพับแขน ข้อพับขา ถ้าเป็นในเด็กโตจะขึ้นที่ใบหน้าและหน้าแข้ง หากเป็นรุนแรงอาจเจอปัญหาผิวหนังอักเสบติดเชื้อตามมาได้ ระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอแห้ง น้ำมูก ซึ่งอาการมักแสดงออกมา 2 ใน 3 ระบบนี้ กรณีนี้พาลูกไปหาหมอเพื่อทำการตรวจประเมินและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
↪︎ วิธีป้องกันไม่ให้ลูกแพ้นมวัว
ขณะตั้งครรภ์ : คุณแม่ควรกินอาหารให้หลากหลาย ไม่กินอาหารสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากจนเกินไป ส่วนนมก็กินสลับสับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมถั่ว นมอัลมอนด์ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกแพ้โปรตีนนมวัว
หลังคลอด : ให้ลูกกินนมแม่ ก็จะช่วยลดอาการแพ้โปรตีนนมวัวได้
6. ลูกหายใจครืดคราดจากการเจ็บป่วย
เช่น ไข้หวัด มักมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น น้ำมูกใส ไอ จาม เสียงแหบ เจ็บคอ มีไข้ ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัส ดูแลลูกตามอาการที่เป็นเช่น มีน้ำมูกดูแลหยดน้ำเกลือ หรือล้างจมูกให้ลูก แต่หากลูกมีอาการไข้ หายใจเร็ว เหนื่อย ไอมาก ควรพาลูกหาหมอ