ข่าวประชาสัมพันธ์ : คิดคลับส์ ชวนเที่ยว Astro Night Family Camp
ชวนคู่พ่อลูก อายุ 6 - 12 ปี มาร่วมสร้างช่วงเวลาแห่งความประทับใจกับกิจกรรม Astro Night Family Camp
...”พอดีไปเจอลูกสาว 8 ขวบ เขียนจดหมายรักหาเพื่อนผู้ชาย ทั้งที่ทางครอบครัวเราไม่เคยไปแซวไปพูดเรื่องนี้กับลูก ลูกน่าจะไปเห็นเพื่อนทำมาค่ะ ตอนคุณแม่เห็นจดหมายลูกแม่ก็ไม่ได้ดุ แต่สอนไปว่ายังเด็กไปทุกคนเป็นเพื่อนกันค่ะ ตอนนี้ก็กังวลว่าเราควรจะสอนลูกอย่างไรต่อไป โดยที่ลูกจะไม่กลัวเราไม่ปิดปังเรา”...
ขอชื่นชมคุณแม่ที่ ไม่ดุ ไม่แซว ไม่ออกอาการกับลูกเกินเหตุ และหาข้อมูลเพิ่มเติม วัยประถมศึกษาเป็นอีกช่วงที่ เด็กกำลังเรียนทักษะทางสังคม และเพื่อนผู้ชาย ก็เป็นโจทย์แบบหนึ่งเพื่อพัฒนาทักษะนี้
ลูกเรียนรู้ทักษะสังคมจากที่บ้านและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา เช่น คนในบ้าน ข้างบ้าน ทีวี โรงเรียน ชุมชน รวมทั้งสื่อโซเชียล หลาย ๆ พฤติกรรมลูกติดจากคนในบ้าน (ซึ่งติดได้ทั้งพฤติกรรมที่ดีและไม่ดี) และอีกหลายพฤติกรรมก็ติดจากเพื่อนที่โรงเรียน ข้างบ้าน ทีวี สื่อโซเชียลมีเดีย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกมากนัก
ขอให้คิดว่านี่คือขั้นตอนการเรียนรู้และดีมาก ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ในช่วงที่ลูกยังอยู่ในมือพ่อแม่ ที่เราสามารถติดตามพฤติกรรมลูก แนะนำลูกและช่วยเหลือลูกได้ และหมอจะบอกว่าง่ายกว่าตอนลูกเข้าวัยรุ่นหลายสิบเท่า แต่ขอให้ติดตามลูกอย่างตระหนักรู้ ไม่ตื่นตระหนกเกินไปนะคะ
เมื่อพ่อแม่เข้าใจว่าลูกกำลังเรียนรู้ และไม่ตะหนกกลัวเกินไป โอกาสที่สีหน้า คำพูดและน้ำเสียงที่กังวลก็ลดลง หมอไม่อยากให้ลูกตีความว่าพ่อแม่กลัว หรือไม่ชอบมาก ๆ เพราะเด็ก (ที่ยังไม่รู้เรื่องอะไร) จะคิดว่าตัวเองทำผิด ซึ่งเอาจริง ๆ เด็กจะงงมากว่าทำผิดอะไร (เด็กยังไม่ได้คิดเรื่องเพศแบบผู้ใหญ่คิด) พอลูกคิดว่าเขาทำผิด พ่อแม่ไม่ชอบมาก ก็จะนำมาซึ่งการปกปิด ไม่เล่า ก็ยิ่งทำให้เราไม่รู้เรื่อง
พ่อแม่ควรเข้าใจว่า เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ในวัยนี้ไม่ได้มีความหมายเดียวกับของผู้ใหญ่ เพราะฮอร์โมนเพศยังไม่มาเหมือนเรา เด็กเพียงเลียนแบบคำพูด ท่าทาง พฤติกรรม ที่ได้ยินหรือเห็น โดยไม่ได้เข้าใจแจ่มชัด
เมื่อลูกแค่เลียนแบบ และเรารู้ว่าวัยนี้กำลังพัฒนาทักษะสังคม เราก็ควรฉวยโอกาสสอน ติดตามพฤติกรรมลูก ลูกจะได้ทำตัวเหมาะสมตามวัย ไม่แนะนำให้ห้ามลูก ไม่แนะนำให้ดุ เพราะความไม่เข้าใจกระจ่างและต่อต้านพ่อแม่ ลูกอาจไปแอบทำอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งอาจจะในตอนนี้หรือในตอนหน้า
เมื่อเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ทักษะสังคม โดยมีโจทย์เป็นเพื่อนผู้ชายแล้ว เราก็ให้ข้อมูลลูกว่า...
แม่ : จริง ๆ แล้ว เพื่อนผู้ชายหรือผู้หญิงก็คือเด็กเหมือนกัน เป็นเพื่อนเราได้เหมือนกัน เด็กไปโรงเรียนก็เรียนและเล่นสนุกกับเพื่อน อย่างเล่นวิ่งไล่จับ เด็กชายหรือเด็กหญิงก็วิ่งไล่จับเหมือนกัน เวลาลุ้นก็ลุ้นเหมือนกัน เวลาโดนจับแล้วเซ็งก็เซ็งเหมือนกัน
แม่ : แม่เชื่อว่าเพื่อนลูกคนนี้ (ใส่ชื่อ) เขาก็มาเรียนและมาเล่นสนุกเหมือนที่หนูเป็นนั่นแหละ
ลูก : ... (เว้นว่างให้ลูกขบคิด)
แม่ : ส่วนคำว่า แฟน หรือ คำว่า รัก เด็กที่อายุเท่าหนูก็จะใช้ตอนที่เราชอบเพื่อนคนนั้นเยอะ ๆ อย่างเพื่อนสนิทหนู (เอ่ยชื่อเพื่อน) เราชอบเขามากที่สุดใช่มั้ย เราก็ใช้คำว่า “เพื่อนรัก” ใช่มั้ยคะ
ลูก : ... (เว้นว่าง ให้ลูกขบคิด) (การเปรียบเทียบ จะช่วยให้ลูกเข้าใจง่ายขึ้น)
แม่ : พอเป็นเพื่อนผู้ชาย แล้วเราชอบเขามากกว่าเพื่อนผู้ชายคนอื่น ๆ เด็ก ๆ จะชอบใช้คำว่า “แฟน” แต่จริง ๆ คือ เพื่อนผู้ชายที่เราชอบมากในตอนนี้ (แปลว่าที่เรารู้สึกพิเศษก็เพราะเราชอบมาก)
ลูก : ...(เว้นว่าง ให้ลูกขบคิด)
แม่ : แล้วหนูคิดว่า มันใช่อย่างที่แม่บอกมั้ย ลูกคิดยังไง เล่าให้แม่ฟังหน่อยสิคะ
ลูก : ... (แม่ฟังลูกอย่างเข้าใจ)
เราจะปิดบทสนทนาตรงที่ฟังลูกเล่า ส่วนสำคัญที่สุดมาถึงแล้ว นั่นก็คือรับฟังลูกและพยายามทำความเข้าใจ ความคิดลูก ความรู้สึกลูก สะกดความกังวลเราเอาไว้ อย่าเพิ่งให้ความกังวลมาเพ่นพ่าน อยู่กับลูกทั้งตัวและใจ แล้วเราจะได้รู้จักลูกจริง ๆ เสียที เมื่อถึงจุดนี้ได้ เราเท่านั้นที่จะรู้ว่าพฤติกรรมที่ลูกเล่ามา มันน่ากังวลจริงหรือเปล่า (จะรู้ได้ก็เมื่อเราวางความกังวลเอาไว้ แล้วฟังด้วยสติจริง ๆ)
บทสนทนาที่ให้ข้อมูลลูกตามจริง ไม่มีการดุ ไม่มีการขู่ ไม่มีการปิดกั้น และลงเอยด้วยการรับฟังความคิด ความรู้สึกลูกจริง ๆ ถ้าทำได้ ถือว่าเราทำได้ดีมาก ๆ แล้ว ก็ขอให้ทำขั้นต่อไป คือ ติดตามในแต่ละวันที่ไปโรงเรียน ก็ชวนลูกคุย ฟังเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้ไปเรื่อย ๆ ด้วยท่าทีแบบเดิมที่หมอบอกนะคะ
ส่วนใหญ่ก็มักจบลงแบบไม่มีอะไรผิดปกติเลย เช่น “เลิกกันล่ะค่ะแม่” “ไม่ได้เป็นแฟนกันล่ะ” อย่างที่บอกเด็กเขาไม่คิดเยอะ ลูกหมอบอกว่า “ก็มันไม่สนุก บางทีก็เบื่อ เพราะไม่เหมือนเล่นกับเพื่อนผู้หญิง” แล้วเด็กสองคนนี้ก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม เป็นเพื่อนที่เล่นสนุกได้ แต่จะเป็นบางกิจกรรม เช่น แปะแข็ง ไล่จับ หาสมบัติ แต่หากเล่นสมมติกุ๊กกิ๊ก ลูกจะเล่นกับกลุ่มเพื่อนผู้หญิงมากกว่า
มีน้อยมาก ๆ ที่จะเกิดความผิดปกติ ซึ่งมักมาจากการเลียนแบบ เช่น เด็กคนนั้นเคยเห็นพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ซึ่งอาจมาจากสื่อหรือคนข้างบ้านแล้วมาชวนลูกเราทำ แต่คุณแม่มันจะไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเราคุยกับลูกตลอด (จำข้างบนได้มั้ยคะ ติดตาม และรับฟัง จนรู้จักลูกจริง ๆ) เมื่อเราติดตาม เราจะจับสิ่งที่ผิดสังเกตได้ก่อนที่อะไรจะบานปลาย แน่นอนค่ะ
ประเด็นที่อยากบอก คือ ถ้าเราเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ทักษะสังคม ไม่ว่าจะเพศอะไร ไม่ว่าจะเริ่มต้นแบบไม่ค่อยโอเค (ในความคิดเรา) ลูกจะได้อะไรเยอะ ลูกได้คลายความสงสัยด้วยตนเอง ลูกไม่เสียความมั่นใจในการคบเพื่อนผู้ชาย ประสบการณ์ทำให้ลูกมีความยืดหยุ่นในการคบเพื่อนต่างเพศ และที่สำคัญลูกรับรู้ว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่ง ไว้ใจได้ เขาจะเล่าเรื่องให้ฟัง หรือถ้าเกิดปัญหา ลูกจะคิดถึงเรา (พ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัย)