233
สอนลูกประถม "รู้แพ้รู้ชนะ" นะรู้มั้ย ?

สอนลูกประถม "รู้แพ้รู้ชนะ" นะรู้มั้ย ?

โพสต์เมื่อวันที่ : December 14, 2023

 

เด็กวัยประถมจะเป็นวัยที่เริ่มเล่นกับเพื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งการเล่นนำไปสู่การมีผู้แพ้และผู้ชนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เด็กบางคนอาจจะมีประสบการณ์มากกว่าเพื่อน เพราะมีพี่น้องที่บ้านทำให้คุ้นเคยกับการแข่งขันอยู่เสมอ แต่เด็ก ๆ ที่ไม่เคยมีพี่น้อง และเพิ่งพ้นวัยอนุบาลมาไม่นาน เมื่อเจอผลแพ้ชนะอย่างจริงจัง อาจจะรับมือได้อย่างกว่า เด็ก ๆ อาจจะรู้สึกโกรธที่ตัวเองแพ้ และแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นการที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การเล่นตามกติกา และยอมรับผลลัพธ์ในตอนท้ายจึงสำคัญยิ่ง เพราะทักษะนี้จะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ ของเขา

 

 

แนวทางการสอนลูกให้เรียนรู้และยอมรับ "การแพ้ - ชนะ"

 

▶︎ 1. เลือกกิจกรรม (บอร์ดเกม-กีฬา) ให้ตรงตามวัยลูก และสอนให้เขาเล่นตามกติกา โดยยังไม่คำนึงถึงผลแพ้ชนะก่อน เมื่อเล่นเป็นแล้ว ผู้ใหญ่ไม่ควรยอมแพ้เด็กตลอด เพราะถึงแม้เด็กจะถูกใจกับการเป็นผู้ชนะ แต่นานวันไป เขาจะไม่รับรู้ความสามารถที่แท้จริงของเขา และยึดติดว่า “เขาต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น” เนื่องจากผลที่จะตามมาเมื่อเด็กเล่นชนะผู้ใหญ่ที่บ้านตลอด เมื่อเขาไปเล่นกับเพื่อน ๆ แล้วแพ้ เขาจะยอมรับการพ่ายแพ้ไม่ได้ นำไปสู่ “ความโกรธ” ที่มักจะมากกว่าปกติ เพราะเขาไม่เคยแพ้มาก่อนนั่นเอง

 

 

▶︎ 2. ทำข้อตกลงให้ชัดเจนว่า “เราจะทำตามกติกาของกิจกรรม (เกม-กีฬา) นั้น” ถ้าหากไม่พร้อมจะมีการเตือนก่อนหนึ่งครั้ง เมื่อเตือนครั้งที่สองแสดงว่า “วันนี้ไม่พร้อมทำกิจกรรมต่อ” จะยุติการเล่นทันที

 

กรณีที่เด็กไม่ทำตามกติกา ลูกแอบโกง แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น แอบเปิดการ์ดดูก่อน พ่อแม่สามารถให้การเตือนหนึ่งครั้ง เพื่อให้ลูกรู้ว่า “เรารู้นะว่า เขาไม่เล่นตามกติกา” แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว เมื่อพวกเขาไม่ได้รับการเตือนและถูกปล่อยให้ทำผิดกติกา พวกเขาจะมีแนวโน้มทำต่อไป และอาจจะไม่ทำเล่นกับผู้อื่นด้วย
กรณีที่เด็กไม่ยอมรับ และอาละวาด ล้มกระดาน หรือ ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม พ่อแม่สามารถพาลูกออกมาจากพื้นที่ตรงนั้น เพื่อรอให้เขาสงบ บอกเขาว่า “พ่อ/แม่จะรอลูกพร้อมก่อน เราถึงจะคุยกัน”

 

 

เมื่อลูกสงบแล้ว ให้พ่อแม่ถามเขาว่า “เมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น ?” ถ้าลูกไม่ตอบ ให้พ่อแม่พูดในสิ่งที่เห็น “พ่อ/แม่เห็นว่าลูกทำ” จากนั้นให้สอนเขาว่า “พ่อ/แม่เข้าใจว่า ลูกโกรธที่ (กำลังจะ) แพ้เกมนี้ แต่ลูกไม่ควรทำลายของหรืออาละวาดแบบนั้น เวลาลูกโกรธ ลูกจะหยุดเล่นก่อนก็ได้ และเดินออกมาพักก่อนได้ แต่ไม่ใช่ทำแบบนั้น”

 

สุดท้ายย้ำเตือนว่า “ลูกโกรธหรือไม่พอใจได้ แต่สิ่งที่ลูกทำนั้นไม่เหมาะสม ดังนั้นเราจะไปขอโทษทุกคนด้วยกัน" ถ้าลูกอยากเล่นเกมนี้ต่อ พ่อแม่สามารถพาเขาเข้าไปขอโทษทุกคนพร้อมกัน แล้วรอเล่นในตาต่อไป แต่ถ้าลูกไม่อยากเล่นแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องเข้าไปขอโทษทุกคน แล้วรอคนอื่นเล่นเสร็จ ลูกถึงจะไปเล่นอย่างอื่นได้ เพราะเด็กบางคนถ้าหากเขารู้ตัวว่า “กำลังจะแพ้” หรือ “เบื่อแล้ว” พวกเขาอาจจะทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพื่อให้เกมยุติลง

 

ดังนั้นการให้เข้าไป “ขอโทษ” และ “รอคนอื่นเล่นเกมนี้เสร็จ” ก่อนที่พวกเขาจะไปเลือกเล่นอย่างอื่น จะเป็นการสอนให้พวกเขารู้จักการรอคอย และการเคารพผู้อื่นด้วย

เพราะถ้าให้เพียงเข้าไปขอโทษอย่างเดียว แล้วได้ไปเล่นอย่างอื่นต่อทันที ในขณะที่เกมยังไม่จบลง เด็ก ๆ อาจจะเลือกทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เวลาที่พวกเขาอยากเลิกเล่นทันที

 

 

▶︎ 3. ให้คุณค่ากับ “ความพยายาม” และ "การพัฒนาตนเอง" มากกว่า “ผลแพ้-ชนะ" พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ ลูกจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะให้ความสำคัญกับความพยายามระหว่างทางและกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ปลายทางเพียงอย่างเดียว

 

“เมื่อลูกแพ้” ไม่ต้องพยายามเอาใจลูก เพราะสงสารเขา แต่ให้มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะสอนเขาให้ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น นั่นคือ “ความผิดหวัง” พ่อแม่สามารถบอกลูกได้ว่า “ถึงวันนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่สำคัญ พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกที่วันนี้ลูกพยายามเต็มที่”

 

คำพูดที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงเวลาลูกแพ้

“ถ้าลูกจะทำก็ทำได้” เพราะ เราไม่มีทางรู้ว่า ลูกเราพยายามมามากเท่าไหร่ เขาอาจจะพยายามถึงที่สุดแล้ว แต่เขาก็ยังทำไมไ่ด้

 

“เตือนแล้วใช่ไหมว่าอย่าเล่นแบบนั้น” เพราะการตัดสินใจของลูกควรได้รับการเคารพ แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ตรงใจเรา แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ทำให้ใครหรือตัวเขา เดือดร้อน ไม่ผิดศีลธรรม ก็ให้เขาตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการตันสินใจเถิด

 

“ลูกไม่เหมาะกับสิ่งนี้หรอก” แม้เราจะรู้ว่า ลูกเราไม่มีทางประสบความสำเร็จในเกมที่เขาเล่นอยู่ แต่ถ้าเขายังพยายามต่อไป เราควรให้เขาเรียนรู้ที่จะหยุดด้วยตัวเอง เพราะถ้าเขาหยุดเล่น ทั้ง ๆ ที่ยังค้างคาใจ เขาอาจจะสงสัยในความสามารถตัวเองไปตลอด

 

 

คำที่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น หรือให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ที่ออกมาจนไปตีตราลูกว่า “ลูกไม่ดีพอ” “ลูกไม่เก่งพอ” หรือ หนักที่สุดคือ “ลูกแพ้ตลอด” พ่อแม่พึงระลึกไว้เสมอ ไม่มีใครเก่งทุกด้าน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกจะรู้ว่า ตัวเองเก่งด้านไหน ก็จนกว่าจะได้ลอง และพยายามทำจนสุดความสามารถ อย่าตัดสินลูกเพียงเพราะเขาไม่ชนะในการแข่งขันเพียงสนามเดียว เพราะสนามชีวิตยังมีการแข่งขันอีกมากที่รอลูกเราอยู่

 

 

▶︎ 4. ในวันที่ลูก “ชนะ” อย่าลืมสอนการมีน้ำใจนักกีฬาให้กับลูก แม้ว่า ลูกจะเป็นฝ่ายชนะ บทเรียนของผู้ชนะก็มีให้สอนได้เช่นกัน นั่นคือ เมื่อเราอยู่ในจุดสูงสุด เป็นที่หนึ่งของการแข่งขัน เราก็ไม่ควรไปโอ้อวดใคร สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อดีใจกับผลสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว เราควรมีนำ้ใจนักกีฬา โดยการ "ให้กำลังใจผู้แพ้ด้วย”

 

  • คำพูดที่สามารถสอนให้ลูกพูดกับอีกฝ่ายได้ เช่น “ไม่เป็นไรนะ วันนี้เล่นเต็มที่แล้ว ครั้งหน้าเอาใหม่นะ” “วันนี้ดีใจที่ได้เล่นเกมด้วย สนุกมาก ๆ เลย ครั้งหน้าเอาใหม่นะ” “ขอบคุณสำหรับการแข่งวันนี้ ครั้งหน้าสู้ใหม่นะ” เป็นต้น

 

  • ภาษากายที่สามารถแสดงออกถึงน้ำใจนักกีฬาได้ เช่น การจับมือกัน (shake hand) ตบไหล่อีกฝ่ายเบา ๆ เป็นกำลังใจให้อีกฝ่าย ขอบคุณอีกฝ่ายที่เล่นอย่างเต็มที่ ทำให้เราได้เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองมากมาย

 

 

..."ผู้ชนะที่แท้จริง คือ ผู้ที่รู้จักคุณค่าของความพยายาม และไม่ดูถูกความพยายามของอีกฝ่าย"...

 

 

 

▶︎ 5. ในวันที่ลูก “แพ้” พ่อแม่จะคอยเคียงข้างเขา แม้วันนั้น เขาจะยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ แต่ถ้ามีพ่อแม่เคียงข้างเขา พลังใจที่มีจะกลับมาใหม่แน่นอน ถ้าเขาไม่ได้ขอความช่วยเหลือ เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปช่วย เป็นผู้ดูที่ไม่เคยละสายตาจากลูกก็เพียงพอ

 

เหมือนวันที่ลูกฝึกเดิน ลูกเราเดินไม่เเข็ง เขาล้มลงบ่อยครั้ง แต่ถ้าพ่อแม่มั่นใจว่า ไม่เป็นอันตรายใด ๆ ก็ให้เขาเดินต่อ วันนี้หมดเเรง กลับไปกินข้าว อาบน้ำ นอน วันต่อมาฝึกกันใหม่ได้เสมอ

 

“หน้าที่พ่อแม่ คือ เชื่อมั่นใจตัวลูก ในวันที่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาทำได้ แม้แต่ตัวเขาเอง”

 

 

▶︎ 6. รู้จักให้อภัย และเรียนรู้การเดินหน้าต่อ (ปล่อยวาง) ระหว่างการแข่งขันย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา แต่เมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลง เราไม่ควรนำเรื่องบาดหมางที่เกิดขึ้นมาทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง “ควรในครอบครัว” “เพื่อน” และ “คนอื่น ๆ”

 

เมื่อจบการเเข่งขัน หรือ จบเกม เด็ก ๆ ควรเรียนรู้ที่จะกล่าว “ขอบคุณ” และ "ขอโทษ” เสมอ เพราะบางครั้ง เราไม่มีทางรู้ว่า เราอาจจะเผลอไปทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีระหว่างการแข่งขัน การพูดจบท้ายด้วย “ขอโทษนะถ้าวันนี้เผลอทำอะไรให้รู้สึกไม่สบายใจ และขอบคุณสำหรับวันนี้มาก ๆ เลยนะ"

 

 

▶︎ 7. ประสบการณ์ที่มากพอ จะทำให้เด็กเรียนรู้และยอมรับการแพ้-ชนะได้ เด็ก ๆ ที่ไม่เคยได้ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่เคยฝึกฝน ไม่เคยแข่งขัน ไม่เคยต้องพยายามทำอะไรอย่างเต็มที่ และไม่เคยผิดหวัง พวกเขาจะไม่สามารถเรียนรู้ และยอมรับ “การแพ้ - ชนะ” ได้อย่างเข้าใจ ดังนั้นพ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่ “ปกป้อง” เขาจากการแพ้ และความผิดหวัง แต่พ่อแม่สามารถเคียงข้างไม่ว่าวันนั้นเขาจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ก็ตาม และเชื่อมั่นในตัวลูกต่อไป

 

สุดท้ายผลลัพธ์ที่ออกมาว่าแพ้หรือชนะ ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันคุณค่าในตัวลูก และไม่ได้ทำให้คุณค่าในตัวเขาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะ “คุณค่า” ที่แท้จริงเกิดจาก “การรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง” “ความพยายาม” และ “การไม่ยอมแพ้”