คุณพ่อ - คุณแม่หลายคนคงเคยชินกับการนอนกัดฟันของลูกน้อย และคิดว่าปล่อยไว้ไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวก็หายไปเอง แต่เมื่อถึงวัยอันควรแล้วลูกยังนอนกัดฟันอยู่เหมือนเดิม อาจมีผลเสียต่อตัวเด็กเองในอนาคตด้วย
“การนอนกัดฟัน” คือ การทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวซ้ำ ๆ ขณะหลับเป็นผลทำให้มีการบดหรือขบเน้นฟันขณะหลับ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตนเองมีการนอนกัดฟัน พบได้บ่อยในเด็ก ร้อยละ 15-40 และในผู้ใหญ่ ร้อยละ 8-10
ทำไมเด็กส่วนใหญ่ถึงนอนกัดฟัน
เป็นภาวะที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการนอนกัดฟันเมื่อมีฟันงอกขึ้นมา โดยเริ่มมีอาการเมื่อเด็กมีอายุ 1 ปีขึ้นไป, สภาพปัญหาฟันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจมีฟันเรียงกันผิดปกติ, ฟันซ้อนเก, เป็นโรคปริทันต์หรือเหงือกอักเสบ, โรคลมชัก, โรคสมาธิสั้น, ยาบางชนิดที่เด็กทาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความเครียดสะสมของเด็กก่อนเข้านอนเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
สังเกตอาการลูกนอนกัดฟันได้ด้วยตัวคุณพ่อ-คุณแม่เอง
- ฟันลูกดูสึก มีรอยบิ่น
- เสียวฟันเมื่อลูกดื่มน้ำร้อนและน้ำเย็น
- ได้ยินเสียงดังติดขัดขณะที่ลูกอ้าและหุบปาก
- ได้ยินเสียงลูกหายใจทางปากชัดเจน
- ลูกปวดหัวและรู้สึกเสียวฟันง่ายกว่าปกติ
- ลูกปวดบริเวณหน้าหูหรือกกหู
- หงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
ข้อเสียของการปล่อยให้เด็กนอนกัดฟัน
- เด็กจะรู้สึกเสียวฟันง่าย ไม่มีความสุขในการทานอาหาร
- เด็กจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณข้อต่อขากรรไกร อาจลามไปถึงปวดหูด้วย
- อาจเกิดแผลในช่องปากง่ายขึ้น เนื่องจากเด็กจะตอบสนองความเจ็บปวดด้วยการกัดปากตัวเอง
- เด็กหายใจลำบาก ทำให้ต้องหายใจผ่านทางปากแทน
- หากฟันสึกไปจนถึงโพรงประสาทฟันอาจเกิดการติดเชื้อและมีหนองที่ปลายรากฟัน สังเกตได้จากฟันลูกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองชัดเจน ฟันบวมมีหนอง หรือคางบวม เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด
มีวิธีแก้ปัญหาเด็กนอนกัดฟันบ้าง ?
- ใส่เฝือกสบฟัน
- หากิจกรรมทำร่วมกับลูกเพื่อไม่ให้ลูกเครียด
- เปลี่ยนยาที่ทาน
- พาลูกเข้านอนตรงเวลา
- ฝึกบริหารกราม
- งดทานอาหารก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
- ศัลยกรรมช่องปาก
ขั้นตอนวินิจฉัย และวิธีการรักษา
- พบแพทย์ หรือทันตแพทย์ เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย
- แพทย์พิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ (polysomnography) หรือ sleep test หากสงสัยว่ามีโรคความผิดปกติจากการหลับอื่น ๆร่วมด้วย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ภาวะนอนละเมอ เป็นต้น
- การรักษา: การมีสุขอนามัยที่ดีในการนอน การใส่เฝือกสบฟัน การรักษาด้วยยา เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, Homey Dental Clinic