289
ไข้เลือดออก ภัยร้ายฤดูฝนจากยุงลาย !!

ไข้เลือดออก ภัยร้ายฤดูฝนจากยุงลาย !!

โพสต์เมื่อวันที่ : August 14, 2024

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติด เชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) การติดเชื้อเกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัด ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด แล้วเกิดอาการป่วยขึ้น ไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เมื่อติดเชื้อด้วยสายพันธุ์หนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้ 

ระบาดวิทยา

ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้ ในสมัยก่อนโรคไข้เลือดออกมักเกิดในเด็กเล็ก ไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันพบในเด็กโต ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมากขึ้น อาจเกิดจากโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุมีมากขึ้น ร่วมกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กมีโอกาสถูกยุงลายกัดน้อยลง ในช่วงปี 2565 พบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้นเมื่อเทียบกันกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การระบาดของโรคไข้เลือดออกลดลงอย่างชัดเจน มีการสำรวจพบว่าลูกน้ำยุงลายลดลงในช่วงนี้ คาดว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรอยู่บ้านกันมากขึ้น ทำให้มีเวลาในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น อย่างไรก็ตามตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2566 นี้พบว่ามีคนติดเชื้อแล้วประมาณ 6,000 ราย

 

ความรุนแรงของ โรคไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่ติด เชื้อไวรัสเดงกี และเป็นโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง บางคนไม่ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล มีเพียงส่วนน้อยที่ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลส่วนน้อยมาก ๆ จะมีอาการรุนแรง ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกที่ทำให้มีอาการหนักเกิดจากสาเหตุ ดังนี้

 

  1. ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกมาก เนื่องจากมีเกล็ดเลือดต่ำและภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะเลือดออกที่เป็นอันตรายที่พบบ่อยในโรคนี้ คือ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือถ่ายดำ
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีการรั่วของพลาสมาในหลอดเลือดออกมาอยู่ในเนื้อเยื่อ รวมถึงช่องเยื่อหุ้มปอดหรือในช่องท้อง ในเลือดคนปกติจะมี 2 ส่วนประกอบใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นเซลล์เม็ดเลือด และส่วนที่เป็นน้ำเหลืองเรียกว่าพลาสมา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกที่มีการรั่วของพลาสมา พลาสมาจะรั่วออกนอกหลอดเลือด ทำให้ร่างกายเหมือนสูญเสียของเหลวออกไปจึงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำหรือภาวะช็อกตามมา ถ้ามีการรั่วของพลาสมาออกมามากหรือมีภาวะช็อกอาจทำให้เสียชีวิตได้
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีการทำงานของอวัยวะสำคัญเสียไป เช่น ภาวะตับวาย ไตวาย สมองบวม เม็ดเลือดต่ำ หรือภาวะติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

อาการและอาการแสดง

ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีไม่จำเป็นต้องมีอาการเป็นไข้เลือดออกทุกคน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีเพียงร้อยละ 25-30 ที่จะมีอาการป่วยขึ้น ที่เหลือจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อได้ ผู้ป่วยจะมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง สามารถแบ่งอาการของการติดเชื้อเดงกีได้ ดังนี้

 

  1. อาการไข้ไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีบางรายอาจมีไข้เพียงอย่างเดียวหรืออาการอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ผื่น แล้วอาการหายไปเอง
  2. ไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยไม่มีการรั่วของพลาสมาจะมีไข้สูง รับประทานอาหารได้ลดลง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดข้อ คลื่นไส้อาเจียน ผื่น อาจมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ผู้ป่วยอาจมีไข้อยู่ 4-5 วันแล้วหายเองโดยไม่ช็อก
  3. ไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมา ผู้ป่วยที่เป็นไข้เดงกีโดยมีการรั่วของพลาสมาจะมีอาการเหมือนอาการในข้อ 2. แต่เมื่อถึงเวลาไข้เริ่มลงจะมีอาการแย่ลง คือ มีการรั่วของพลาสมาหากมีการรั่วมากจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลงและมีภาวะช็อกได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย ในบางครั้งอาจมีภาวะเลือดออกมากจนต้องให้เลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว กระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อยลง โดยปกติการรั่วของพลาสมาจะกินเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะฟื้น กล่าวคือ การรั่วของพลาสมาจะลดลงจนหยุด พลาสมาที่เคยรั่วออกไปจะกลับเข้าสู่เส้นเลือดตามเดิม ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น มีปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันขึ้นตามตัว และแขนขา
  4. การติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มีอาการอื่น ๆ ผู้ป่วยจะอาการสมองอักเสบ มีภาวะชัก หรือมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ

 

ดังนั้น หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีจุดเลือดออกตามตัว ไม่มีอาการไอ หรือน้ำมูก ร่วมกับมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ต้องระวังว่าจะเป็นไข้เลือดออก หากไม่แน่ใจควรไปพบแพทย์เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง

การรักษา โรคไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่มีอาการในช่วงแรกจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร ช่วงที่ไข้สูง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย สามารถดูแลเบื้องต้นได้ด้วยการให้รับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถให้ดื่มน้ำเกลือแร่ รับประทานอาหารอ่อน ๆ

 

แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดงหรือน้ำตาล เพราะหากผู้ป่วยอาเจียนออกมาจะแยกยากว่าเป็นสีจากอาหารหรือสีจากเลือดออก ให้พักผ่อนมาก ๆ หากใน 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการอาเจียนมาก ปวดท้องมาก ซึมลง ปัสสาวะออกน้อยลง มีเลือดออกมาก ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล

ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียนมาก มีเลือดออกมาก หรือแพทย์สงสัยว่าอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะช็อก แพทย์จะรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล แพทย์จะรักษาด้วยการให้น้ำเกลือและเฝ้าติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด

 

อาจต้องมีการจับชีพจรและวัดความดันทุก 15-30 นาที มีการวัดปริมาณปัสสาวะ หากมีเลือดออกมากจำเป็นต้องให้ส่วนประกอบของเลือด และให้การรักษาอื่น ๆ ตามภาวะแทรกซ้อนที่พบ

 

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะต่อไวรัสไข้เลือดออก สำหรับวัคซีนเริ่มมีใช้แล้ว แต่ประสิทธิภาพยังไม่ได้ 100% กล่าวคือสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ไม่ได้ครบ 100% และราคายังค่อนข้างสูง

 

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้แพร่โดยยุงลาย ควรมีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ควรมีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ในบ้าน หรือใส่ทรายอะเบท ภาชนะใส่น้ำควรมีฝาปิดให้มิดชิด หากอยู่ในที่ที่อาจมียุงชุม ควรสวมเสื้อ กางเกงขายาว ทายาป้องกันการกัดของยุง และนอนในมุ้งเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด

 

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ผู้มีอาการส่วนใหญ่จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดเลือดออก และหายเองได้ มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่อาจมีภาวะช็อก การดูแลที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด หากมีไข้และสงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก สามารถให้การรักษาแบบประคับประคอง แต่ต้องไปรับการตรวจติดตามไม่ควรรับประทานยากลุ่ม แอสไพริน หรือ ไอบูโพรเฟน หากมีไข้แล้ว 3-4 วันอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซึมลง ตัวเย็น กระสับกระส่าย ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาล

 

ข้อมูลโดย : รศ. ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล